xs
xsm
sm
md
lg

จบที่ “ลุงตู่” ไม่ปรับ ครม.แผนบันไดสองขั้น เหลว !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิรัช รัตนเศรษฐ - ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ -  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
เมืองไทย 360 องศา




“ผมไม่อยากพูดอะไรตรงนี้มาก เพราะเป็นเรื่องการเมืองระดับพรรคการเมือง ซึ่งก็เป็นกันทุกพรรค ผมไม่ได้จะชี้แจง หรือแก้ตัวให้ใคร ผมจะยุ่งเกี่ยวเฉพาะในเรื่องของรัฐบาล และในเรื่องของการร่วมรัฐบาล นี่คือ หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ในเรื่องที่เกิดขึ้นวันนี้ เป็นเรื่องของพรรคการเมืองก็ไปว่ากันมา แต่ก็ขอร้องว่าอย่าไปดรามากันมาเยอะแยะไปหมด เพราะมันทำให้สมองมันไม่ว่าง ส่วนเรื่องปรับความเข้าใจกัน ผมคิดว่าไม่จำเป็น เพราะเป็นเรื่องภายในพรรค ก็ให้ภายในพรรคที่เขาจะคุยกันเอง ผมไม่จำเป็นต้องไปเรียกใครมาคุยทั้งสิ้น”

“เรื่องนี้ (ปรับคณะรัฐมนตรี) พูดมาหลายครั้งแล้วว่า การที่ผมจะปรับคณะรัฐมนตรีได้นั้น ก็ต้องว่ากันอีกขั้นตอนหนึ่ง เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล นายกฯจะต้องพิจารณาในภาพรวมตรงนั้น เรื่องของวันนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ซึ่งเขาต้องว่ากันไป เป็นเรื่องกลไกระดับพรรค ซึ่งการเมืองมีทั้งระดับพรรค ระดับของพรรคร่วมรัฐบาล และระดับของรัฐบาล ขอให้เข้าใจตรงนี้ ขออย่าให้มีปัญหาอย่างอื่นต่อไปอีกเลย แค่นี้ก็พอแล้ว วุ่นวายพอสมควร”

นั่นเป็นคำพูดล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นการแสดงท่าทีให้เห็นว่า ความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่มีกรรมการบริหารพรรคลาออกพร้อมกันจำนวน 18 คน เพื่อให้มีการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ เนื่องจากการลาออกดังกล่าว มีจำนวนสัดส่วนมากกว่า ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดต้องพ้นไปตามข้อบังคับพรรค และมองว่า นี่คือ เกมกดดัน จาก “บางกลุ่ม” เพื่อให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าพรรค และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เลขาธิการพรรค พ้นจากตำแหน่งบริหารในพรรคพลังประชารัฐ เป็นอันดับแรกก่อน

ก่อนรุกคืบไปสู่เป้าหมาย หรือความต้องการหลัก ก็คือ เก้าอี้รัฐมนตรีที่ทั้งสองคนนั่งอยู่ในเวลานี้

แน่นอนว่า หากพิจารณากันในทางการเมืองที่เป็นเกม “แซะเก้าอี้” ก็ย่อมมองออกได้ไม่ยาก นั่นคือ “แผนบันไดสองขั้น” ขั้นแรกก็ให้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารบริหารในพรรคใหม่ เปลี่ยนหัวหน้าพรรค และ เลขาธิการพรรคใหม่ก่อน

จากนั้นขั้นต่อไปก็คือ “หวังว่า” จะนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี เกลี่ยตำแหน่งรัฐมนตรีกันใหม่ โดยเป้าหมายก็คือ ทั้งสองตำแหน่งสำคัญดังกล่าว ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กระทรวงพลังงาน ที่ก่อนหน้านี้ มีแกนนำในพรรคพลังประชารัฐบางคนกำลังหมายตาเอาไว้ เนื่องจากกำลังมี “เค้กชิ้นใหญ่” หลังจาก ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อนำมาเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจจากปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท ที่เพิ่งผ่านสภา โดยเฉพาะงบเยียวยาจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท ที่กำลังมีการเสนอโครงการเข้ามาบริหารจัดการ

ที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐมาอย่างต่อเนื่อง มีการผนึกกำลังกันหลายกลุ่ม ที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรีเสียใหม่ ซึ่งบุคคลที่ตกเป็นข่าวว่าพยายามเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เช่น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เวลานี้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น ประธาน ส.ส.ของพรรค ที่ต้องการนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีบ้าง

รวมไปถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวิรัช รัตนเศรษฐ กรรมการบริหารพรรค ที่เป็นประธานวิปรัฐบาล เป็นต้น โดยรายหลังแม้ว่าน่าจะไม่มีสิทธิ์เป็นรัฐมนตรีกับเขาได้ เนื่องจากยังมีชนักปักหลัง จากกรณีมีคดีทุจริตสนามฟุตซอลในจังหวัดนครราชสีมา ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด พร้อมกับพวกที่เป็นเครือญาติ และอาจถูกฟ้องในศาลเร็วๆ นี้ แต่ก็ถือว่ามีความเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารมาตลอด รวมไปถึงข่าวที่มีความพยายามเข้ามาร่วมจัดสรรงบประมาณด้านการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากเงินกู้ 4 แสนล้านบาท

และล่าสุด นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ก็ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน มั่นใจว่า หลังจากมีการเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐใหม่แล้ว จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีตามมา

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการบริหารพรรคหนึ่งใน 18 คนที่ยื่นใบลาออก ออกมากล่าวในทำนองว่า “มีคนบางคนในพรรค พยายามสร้างเรื่องให้เกิดการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ได้ตำแหน่ง” พร้อมทั้งระบุว่า มีบางคนที่เคลื่อนไหวกดดัน นายอุตตม สาวนายน และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ให้พ้นจากตำแหน่งมาก่อนหน้านี้ กลับไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ขณะที่ตัวเขาเองที่ลาออกนั้น เนื่องจากมีผู้ใหญ่ที่ให้ความนับถือ ขอร้องให้ลาออกเพื่อลดความขัดแย้งภายในพรรค ก็ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า เป็นความพยายามของบางคน บางกลุ่ม ที่ต้องการตำแหน่งรัฐมนตรีเท่านั้น

แน่นอนว่า มาถึงขั้นนี้ความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐดังกล่าว ย่อมส่งผลในทางลบในสายตาประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องการรวมพลังแก้ปัญหาโรคระบาด และรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น แต่กลายเป็นว่ามีนักการเมืองบางจำพวกกำลัง “หน้ามืด” ต้องการตำแหน่งแห่งหน ทั้งที่บางคนที่ผ่านมาก็มีโอกาสแสดงฝีมือในการเป็นรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีผลงาน แทบไม่มีใครรู้จักจดจำ ส่วนจะเป็นใครกันบ้าง ก็ลองนึกดูก็แล้วกัน

ส่วนรัฐมนตรีที่ถูกกดดันให้พ้นจากตำแหน่งนั้น ก็สามารถพิสูจน์จากผลสำรวจได้ทุกครั้งว่า มีใครบ้างที่มีผลงาน เป็นที่จดจำของชาวบ้าน เพราะหากพูดถึงเรื่องการลดค่าใช้จ่าย ลดภาระให้ประชาชน เชื่อว่า หลายคนคงนึกชื่อออกว่าคือใครกันบ้าง

อย่างไรก็ดี นาทีนี้แม้ว่าบางอย่างอาจดำเนินการได้สำเร็จ นั่นคือ สามารถทำให้มีการผลักดันให้มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 45 วัน ตามข้อบังคับพรรค แต่สำหรับ “บันไดขั้นที่สอง” เป้าหมายในเก้าอี้รัฐมนตรีตามที่หวัง ได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า “ยังไม่ถึงเวลา” และระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในพรรค คนละส่วนกับรัฐบาล เป็นอันว่ารอไปอีกยาว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น