การลาออกของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จำนวน 18 คน ซึ่งส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคที่เหลือทั้งหมดสิ้นสภาพลง และต้องเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ รวมทั้งหัวหน้าพรรคภายใน 45 วัน เป็นการทิ้งไพ่ตายของกลุ่มการเมืองที่ต้องการจะชิงอำนาจภายใน พปชร.และมีเป้าหมายยึดเก้าอี้รัฐมนตรี โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง
ทำไมกลุ่มการเมืองใน พปชร.จึงเปิดศึกชิงอำนาจในพรรค ทำไมต้องเร่งร้อนเข้าไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คำตอบอาจอยู่ที่งบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 400,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากำลังไปได้ดีมาก คะแนนนิยมเริ่มกลับมา จากผลงานการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ความแตกแยก แก่งแย่งชิงอำนาจภายในพรรค พปชร.จะนำพาความเสื่อมมาสู่พรรค
ผลประโยชน์ก้อนโตจากงบ 400,000 ล้านบาท ทำให้นักการเมืองกลุ่มเสือหิว ต้องรีบทำลายคนที่ขวางทางการวิ่งเข้าถึงงบก้อนนี้
เบื้องหลังการเปิดหน้าชกของกลุ่มการเมืองที่ออกมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภายใน พปชร.ถูกทำให้เข้าใจว่า เป้าหมายคือ การผลักดันให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทนนายอุตตม สาวนายน
แต่แทบไม่มีใครพูดถึงประเด็นงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 400,000 ล้านบาทกันสักเท่าไหร่ ทั้งที่เบื้องหลังการลุกฮือโค่นนายอุตตมพ้นจากหัวหน้าพรรค และเขี่ยพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาจมีเป้าหมายเพื่อกรุยทางสู่การกุมอำนาจในการอนุมัติเบิกจ่ายเงินก้อนนี้
การผลักดันพล.อ.ประวิตรขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.คนใหม่ คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะเชิดให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แทบเป็นไปไม่ได้ หรือสามารถถูลู่ถูกังเข็นพล.อ.ประวิตรขึ้นมาเป็นนายกฯ คนต่อไปแทนพล.อ.ประยุทธ์ได้
แต่รัฐบาลพล.อ.ประวิตรคงจะอายุสั้น ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาด้านสังขาร อีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาด้านภาพลักษณ์ทางสังคม และคะแนนนิยมไม่ได้เป็นบวกสักเท่าไหร่
ส.ส.ผู้สนับสนุนคงไม่ได้เล็งผลถึงการผลักดันให้พล.อ.ประวิตรบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดทางการเมือง ได้เป็นนายกรัฐมนตรีกับเขาสักที แต่อาจหวังผลเพียงได้เป็นผู้กุมงบฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ เท่านั้นมากกว่า เพราะเห็นโอกาสในการตักตวงความมั่งคั่ง
ถ้าอำนาจในการอนุมัติเบิกจ่ายงบก้อนนี้อยู่ในมือนายอุตตม นักการเมืองประเภทเสือหิว อาจพลาดโอกาสงามๆ ในการหากินกับงบก้อนมหึมาครั้งนี้
ดังนั้น จึงต้องหาทางเขี่ยนายอุตตมให้พ้นทาง และอาจต่อรองโควตาเก้าอี้ตัวนี้ ประเคนให้นักการเมืองที่มีภาพเป็น ส.ส.ตัวร้ายหรือเป็นจอมเขมือบเข้ามานั่งแทน
ในบรรดางบแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากวิกฤต “โควิด” ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทนั้น งบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ถูกพูดถึงมากที่สุด เพราะเชื่อกันว่า จะเป็นงบที่จะมีการทุจริตมากที่สุด และตรวจสอบยากที่สุด
มีเสียงเรียกร้องจากหลายภาคส่วน ขอให้รัฐบาลกำกับดูแล ตรวจสอบ และวางมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างรอบคอบเป็นกรณีพิเศษ เพราะนักการเมืองกำลังจ้องที่จะนำเงินงบ 400,000 ล้านบาทไปถลุง โดยมีข่าวสะพัดว่า จะมีการจัดสรรงบก้อนนี้ให้ ส.ส.แต่ละจังหวัดนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ ในพื้นที่ตัวเองคนละ 80 ล้านบาท
งบ 400,000 ล้านบาทก้อนนี้ มีเป้าหมายเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด” เป็นเงินมีต้นทุน เพราะต้องกู้โดยมีดอกเบี้ยขั้นต่ำ 2.4% ต่อปี จากการออกพันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” งวดแรกวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยประชาชนจะต้องแบกภาระในการร่วมชดใช้เงินก้อนนี้
ดังนั้นเงินทุกบาททุกสตางค์ ควรนำไปใช้เพื่อช่วยเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด” และไม่ควรมีนักการเมืองคนใดชั่วร้าย ทุจริตงบบรรเทาความเดือดร้อนของเพื่อนร่วมชาติ
แต่ไม่มีใครคาดหวังว่า นักการเมืองจะมีความตระหนักในทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติ และไม่มีใครเชื่อว่า นักการเมืองจะเว้นวรรคความชั่วร้าย ไม่ทุจริตเงินก้อนนี้ จึงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สังคมร่วมกันติดตามและร่วมกันตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน
ถ้าปล่อยให้นักการเมืองโกงไปมากเท่าไหร่ ประชาชนและลูกหลาน จะต้องร่วมกันชดใช้หนี้ที่นักการเมืองชั่วร้ายก่อไว้
ปัญหาการช่วงชิงอำนาจ การแบ่งฝ่าย จน พปชร.ตกอยู่ในสภาพแตกยับชนิดหมอไม่รับเย็บ เป็นปัญหาภายในของพรรครัฐบาล และแทบไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน
เพราะการอยู่รอดหรือการแตกดับของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่าจะทำให้ประชาชนดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าที่เป็นอยู่
แต่การกู้เงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตโควิด ประชาชนทุกคนคือตัวประกันเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท
ทุกคนจึงต้องร่วมกันเฝ้าจับตา อย่าปล่อยให้นักการเมืองชั่วร้ายที่ไร้สำนึก โกงเพื่อนร่วมชาติที่กำลังเผชิญชะตากรรม อย่าปล่อยให้นักการเมืองคนใดถลุงงบ 400,000 ล้านบาท
เพราะรัฐมนตรีคลังคนใหม่ อาจเป็นตัวแทนของกลุ่มนักการเมืองเสือหิว ที่เตรียมตัวเข้ามาปล้นเงินเยียวยาประชาชนจากผลกระทบ “โควิด” ก็ได้