xs
xsm
sm
md
lg

5 วันได้ยินเสียงแข่งกันด่า ส่ง “ลุงตู่” โดดเด่นไปอีก !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมืองไทย 360 องศา

ผ่านไปแล้วตามความคาดหมายสำหรับการพิจารณาร่างพระราชกำหนด 3 ฉบับ ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อนำมาเยียวยาฟื้นฟูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่ต้องรายงานผลการโหวตว่าแต่ละฉบับมีคะแนนเท่าไหร่กันบ้าง เนื่องจากเกรงว่าเสียเวลา และไม่จำเป็น แต่เอาเป็นว่าทุกฉบับที่มีการลงมติถือว่าผ่านอย่างสะดวกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นก็แล้วกัน

อย่างไรก็ดี เพื่อให้รับรู้กันอีกทีก็จำเป็นต้องรายงานให้ทราบว่ามีฉบับใดบ้าง นั่นคือ ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ ร่างพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ซึ่งการอภิปรายเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 27-31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ที่บอกว่าผ่านไปได้ตามความคาดหมายในแบบสะดวกโยธิน ไม่ต้องลุ้นให้ใจหายใจคว่ำเหมือนกับในช่วงต้นๆ ของรัฐบาลชุดนี้ เพราะเวลานี้จากที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยมีเสียงปริ่มน้ำมาถึงเวลานี้กลายเป็นรัฐบาลเสียงพ้นน้ำไปไกลโข เรียกว่ามีคะแนนเหนือกว่าฝ่ายค้านเกินกว่า 40-50 เสียงเป็นอย่างต่ำแล้ว แบบนี้ถือว่า “เสียงขาด” ไปแล้ว

หากพิจารณาอีกมุมหนึ่ง อาจไม่ใช่เป็นเพราะความ “กลมเกลียว” กันภายในพรรคร่วมรัฐบาลอะไรนัก เพราะแม้แต่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังมีข่าวความแตกแยกแย่งตำแหน่งกันอุตลุต ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่มักเล่นบท “ตีสองหน้า” หรือมาในบทฝ่ายค้านในรัฐบาล รอจังหวะถล่มดิสเครดิตรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งในพรรคนี้ก็ยังมีความแตกแยกกันภายใน ยังมีสารพัดกลุ่มก๊วนรอคอยจังหวะเอาคืนตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

แต่ขณะเดียวกัน เมื่อหันไปมองทางพรรคร่วมฝ่ายค้าน กลับ “ยิ่งแย่กว่า” เพราะมีความแตกแยกไม่แพ้กัน ที่สำคัญ ต่างไม่มี “แกนนำ” ที่แท้จริง แต่ละพรรคต่างเล่นบทบาทของตัวเอง กลายเป็นว่าเวลานี้พรรคแกนนำอย่างพรรคเพื่อไทย ที่นับวันจะยิ่งเสื่อมถอยหมดสภาพการเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านในสภาแทบจะสิ้นเชิงแล้ว

ส่วนสำคัญมาจากความแตกแยกภายในกันเอง แต่ละกลุ่มก๊วนต่างไม่ยอมรับการนำของอีกฝ่าย เหมือนกับเวลานี้ แม้ว่านายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จะเป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็ยังมี คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรค ที่แสดงบทบาทในฐานะผู้นำพรรคอยู่ตลอดเวลา

นอกเหนือจากนี้ สิ่งสำคัญก็คือ ในสภาพความเป็นจริงก็คือคนเหล่านี้ต่างก็ไม่ใช่เป็นผู้มีบารมีที่แท้จริง เพราะไม่ต่างจากการเป็น “ลูกน้อง” ของเจ้าของพรรคที่แท้จริง ซึ่งก็รับรู้กันว่าเป็นนายทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวของเขาที่ชี้นำสั่งการมาตลอด แต่มาวันนี้ในเมื่อไม่อาจเอาชนะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนสามารถนำพาพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลเหมือนเช่นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ตรงกันข้ามกลับมีแนวโน้มถอยห่างจากอำนาจรัฐออกไปไกลทุกที

อีกทั้งเมื่อสภาพเป็นอย่างที่เห็น เมื่อ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกมองว่าไม่ต่างจาก “นักธุรกิจการเมือง” เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่ามีแนวโน้มไม่ได้กำไร เขาก็จะไม่ลงทุน ดังนั้น ก็อย่าได้แปลกใจที่ได้รับรู้ถึงเรื่อง “ท่อน้ำเลี้ยง” ที่ไม่ไหลมานานหลายปีแล้ว และจะด้วยสาเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้มี ส.ส.หลายคนของพรรค ผละออกมาอยู่กับฝ่ายรัฐบาลทั้งในแบบลับๆ และเปิดเผยไม่แคร์สายตาใครในแบบ “งูเห่า”

ขณะที่อีกพรรคหนึ่งที่จากเดิมเป็นพรรคอนาคตใหม่ กลายสภาพมาเป็นพรรคก้าวไกลก็ล้วนมาจากการสะดุดขาตัวเองทั้งสิ้น ทำให้พลาดการฉวยจังหวะในสภาฯ จากการหมดสภาพของพรรคเพื่อไทย แต่ขณะเดียวกันเมื่ออดีตแกนนำพรรคต่างก็ “เล่นใหญ่” เกินตัวโดยไม่มองศักยภาพของตัวเองมันก็เป็นได้แค่ “ตัวป่วนนอกสภา” ไม่ได้มีความแหลมคมอะไรนัก

ส่วนพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ก็ถือว่าแทบจะไม่มีความหมาย ไม่มีพลัง เช่น พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ล่าสุดย้ายข้ามฟากมาอยู่กับฝ่ายรัฐบาล 5 คนแล้ว ยังเหลือ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นฝ่ายค้านหัวเดียวโด่เด่ ที่เคยแสดงท่าทีมัดคอตัวเองจนดิ้นไม่หลุด ยืดหยุ่นไม่ได้

เมื่อวกกลับมาที่การอภิปรายในสภาเกี่ยวกับร่างพระราชกำหนดดังกล่าวของฝ่ายค้านรวมเวลา 5 วันเต็ม มันก็ถึงได้เห็นการอภิปรายออกมาในแบบ สร้างปมเด่นในการอภิปรายออกทีวี เพื่อหวังให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เห็นว่ามีผลงาน หรือมาในแบบ “แย่งกันด่า” เป้าหมายก็ยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก จนบางครั้งแทบไม่รู้เลยว่า ข้อเสนอแนะ ความเห็นในร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนั้นเป็นแบบไหนกันแน่ เอาเป็นว่านั่งฟังคำด่าในแบบที่ประดิษฐ์ประดอยคำพูดในแบบที่ว่าใครด่าได้เจ็บกว่ากัน

ถึงได้บอกว่าตลอดเวลาการอภิปรายของฝ่ายค้าน รวมไปถึงพวกฝ่ายค้านในรัฐบาล แม้บางคนบอกว่ามีความเข้มข้นในบางช่วงบางตอน แต่ในความหมายที่จดจำใครไม่ได้เลยว่ามี ส.ส.คนไหนที่อภิปรายได้โดดเด่นขึ้นเหนือคนอื่น ตรงกันข้ามที่น่าจดจำก็คือเนื้อหาการอภิปรายที่จืดชืด ธรรมดามากๆ ยังดีที่ตกลงเวลาอภิปรายกันได้ 5 วัน นี่หากฝ่ายรัฐบาลย้อนศรเปิดทางให้อภิปรายสัก 10-20 วัน คงดูไม่จืดแน่นอน และตรงกันข้ามกลับกลายเป็นว่าเป็นการเสริมบทบาทให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้โดดเด่นขึ้นไปอีก

จากการปรับอารมณ์เย็นลง และยังเข้าฟังการอภิปรายตลอด 5 วัน สลัดภาพของ “ผู้นำเผด็จการ” ที่ถูกกล่าวหา มาในแบบนิ่งสงบไม่มีอารมณ์ฉุนเฉียว นิวนอร์มัล ไปอีก !!


กำลังโหลดความคิดเห็น