xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยแวดล้อมไม่เป็นใจ ฝ่ายค้านถดถอยทุกเรื่อง !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ - สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เมืองไทย 360 องศา

หากพิจารณากันตามบรรยากาศเท่าที่เห็นอยู่ในเวลานี้ ก่อนที่จะมีการอภิปรายร่างพระราชกำหนดที่เกี่ยวกับการกู้เงินของรัฐบาลจำนวน 3 ฉบับ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผลกระทบจากโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีวงเงินถึง 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งการอภิปรายจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าแล้ว นั่นคือ ผลจากการประชุมร่วมกันของบรรดาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตกลงกันว่า จะมีการอภิปราย 5 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคมไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม

อย่างไรก็ดี เมื่อสำรวจบรรยากาศแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีความคึกคัก หรือมีความเร้าใจให้ชวนติดตามเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเตรียมการสำหรับการอภิปรายในสภาฯ ก็แทบไม่ปรากฏออกมาให้เห็น หรือเท่าที่เห็นรายชื่อที่แพลมออกมาก็ล้วนไม่น่าสนใจติดตาม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการอภิปรายคราวนี้จะเน้นหนักไปในเรื่องการใช้เงินงบประมาณ เกี่ยวกับตัวเลขอาจจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ใช่ลักษณะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เน้นหนักไปในทางการเมืองที่ ส.ส.หลายคนมีความถนัด

ขณะเดียวกัน แน่นอนว่า การอภิปรายร่างพระราชกำหนดที่เกี่ยวกับ “กฎหมายการเงิน” คราวนี้ลักษณะจึงออกมาในแนวทาง “รับทราบ” ไม่ต้องลุ้นในเรื่องของเสียงสนับสนุนรัฐบาลในสภาฯ เพราะเท่าที่สำรวจคร่าวๆ ฝ่ายรัฐบาลก็มีเสียงท่วมท้น ซึ่งล่าสุด ก็มีเสียงเพิ่มมาอีก 5 เสียง จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งยังไม่นับรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยอีก 3-4 คน จากพรรคเพื่อไทยเอง ที่เคยโหวตหนุนฝ่ายรัฐบาลมาตลอด

แน่นอนว่า สำหรับ “ขุนพลหลัก” ของพรรคฝ่ายค้าน ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ก็น่าจะยังเป็น นายสุทิน คลังแสง, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหลัก ขณะที่พรรคก้าวไกล ที่เป็นพรรคน้องใหม่ ที่กลายสภาพมาจากพรรคอนาคตใหม่ซึ่งถูกยุบไป กลายเป็นว่าล่าสุด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก็ต้องถอนตัวไปอย่างกะทันหัน โดยอ้างว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ ต้องเข้าผ่าตัดอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับลำคอ ก็ถือว่าฝ่ายค้านขาดคนสำคัญไปอีกคนหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ เขาเป็นคนหนึ่งที่มักอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจมาตลอด และคราวนี้ก็ถูกจับตาในฐานะบทบาทใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า มีความโดดเด่นได้มากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อมีการถอนตัวออกไปแบบกะทันหันแบบนี้ ก็ถือว่า “งานกร่อย” ลงไปอีก


ขณะเดียวกัน สำหรับพรรคเสรีรวมไทย ก็ยังมีรายงานข่าวอีกว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรค ก็ยังมีท่าทีที่จะยกเอากรณี “ถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน” ขึ้นมาอภิปรายอีกรอบ ซึ่งก็น่าเชื่อว่าหากเกิดขึ้นจริง ก็คงเกิดความวุ่นวายในสภาฯ ตามมาอีก

นอกเหนือจากนี้ การอภิปรายในร่างพระราชกำหนดสำคัญในครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นท่ามกลางข่าวความแตกแยกของบางพรรคการเมือง โดยเฉพาะในพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน มีกระแสข่าวการไม่ยอมรับการนำของทีมผู้บริหารพรรคในปัจจุบัน ที่นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค กับกลุ่มที่นำโดย คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ของพรรค ทั้งสองฝ่ายต่างแย่งชิงบทบาทกันอย่างเข้มข้น

จนกระทั่งล่าสุดก็มีความเคลื่อนไหวของสมาชิกระดับแกนนำพรรคที่เคยมีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย ต่อเนื่องมาจนถึงพรรคเพื่อไทยหลายคนมีความพยายามจะตั้งพรรคใหม่ แม้ว่าทุกอย่างยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็มีการยอมรับออกมาแล้วว่า มีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวกันจริง ซึ่งสะท้อนภาพความแตกแยก การไม่ยอมรับบทบาทซึ่งกันและกัน และย่อมส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยไม่น้อย

ขณะเดียวกัน ที่น่าจับตาก็คือ ในการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดลำปาง เขต 4 แทน นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ที่เสียชีวิต และก่อนหน้านี้ คาดกันว่า นายพินิจ จันทรสุรินทร์ บิดาของ นายอิทธิรัตน์ และเคยเป็นอดีต ส.ส.ลำปาง หลายสมัย รวมไปถึงเป็นอดีตรัฐมนตรีจะลงสมัคร เพื่อรักษาพื้นที่เอาไว้ แต่ล่าสุด กลายเป็นว่า นายพินิจ แจ้งขอถอนตัวในนาทีสุดท้าย นั่นคือ วันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นวันรับสมัครเลือกตั้งซ่อมวันสุดท้าย ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่มีผู้สมัคร และต้องเสียที่นั่งไปอีกหนึ่งที่นั่ง ตั้งแต่ยังไม่ได้แข่งขัน

ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้คะแนนมาเป็นที่สอง คราวนี้ก็ส่งคนเดิมลงสมัคร ส่วนพรรคฝ่ายค้านอื่น ก็มีพรรคเสรีรวมไทย ส่วนพรรคก้าวไกลนั้น มีรายงานว่าไม่มีความพร้อมทางด้านธุรการ ทำให้ในการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐมีลุ้นได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาอีก

นั่นคือ ภาพรวมความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งในสภาฯและนอกสภาฯ ที่ถือว่ามีความไม่พร้อมและถดถอยลงไปเกือบทุกเรื่อง และแม้ว่าเมื่อหันไปมองในฝ่ายรัฐบาลก็มีความแตกแยกเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคการเมืองหลักอย่าง พรรคเพื่อไทย และความด้อยประสบการณ์ของพรรคการเมืองใหม่ อย่างพรรคก้าวไกล ก็ยิ่งทำให้ขาดพลังในการตรวจสอบลงไปอย่างน่าเสียดาย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น