โฆษก ศบค.เผยไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย อยู่ในสถานกักตัวทั้งหมด ย้ำใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินบูรณาการกฎหมายช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ดีกว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยันพื้นที่ชายแดนใต้ใช้ ร.ร.สถานที่กักตัวของรัฐ ไม่กระทบหากเปิดเรียน
วันนี้ (26 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิงไทยอายุ 51 ปี เป็นพนักงานนวด เดินทางกลับจากรัสเซียเมื่อวันที่ 12 พ.ค. พักอยู่สถานกักตัวของรัฐที่ จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 พ.ค ตอนตรวจเชื้อไม่มีอาการ อีก 2 รายเป็นชายไทย อายุ 45 ปี ทั้งสองคนอาชีพแรงงานรับจ้าง เดินทางกลับมาจากคูเวตเมื่อวันที่ 24 พ.ค. พักอยู่สถานกักตัวของรัฐที่ จ.สมุทรปราการ ทั้งสองรายมีอาการไอ ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 3 รายเป็นวัยแรงงาน มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,045 ราย หายป่วยสะสม 2,929 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังคงที่ 57 ราย และอยู่ระหว่างรักษาตัว 59 ราย อย่างไรก็ตาม เรากำลังเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 จะมีกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงระดับปานถึงสูงที่จะได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิด แต่อย่าลืมมาตรการหลัก 5 ข้อ เพราะไม่ว่ากิจการและกิจกรรมจะความเสี่ยงสูงแค่ไหน ถ้าเราป้องกันอย่างดีก็สามารถป้องกันโรคได้
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโลก มีผู้ติดเชื้อ 5,588,356 ราย เสียชีวิต 347,873 ราย ส่วนข่าวที่น่าสนใจในต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาพบการระบาดของโควิด-19 จากร้านตัดผมในรัฐมิสซูรี จากการสอบสวนโรคพบว่ามีช่างทำผม 1 ราย มีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. แต่ยังทำงานต่อเนื่องมากกว่า 1 สัปดาห์ และรับลูกค้า 91 ราย รวมถึงมีช่างทำผมรายที่ 2 มีอาการป่วย แต่ยังทำงานต่อเนื่องไปอีก 5 วัน รับลูกค้า 56 ราย และมีพนักงานคนอื่นๆ ในร้านอีก 7 คน รวมแล้วมีบุคคลที่มีความเสี่ยง 154 ราย ทั้งนี้ ภายในร้านทำผมทั้งผู้ให้บริการและลูกค้าใส่หน้ากากอนามัย จึงมีโอกาสลดการติดเชื้อ และขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจากกรณีดังกล่าวเพียง 2 ราย คือช่างทำผม นอกจากนี้ แพทย์โรคหัวใจสหรัฐอเมริการายหนึ่งได้ยกย่องประเทศไทยติดหนึ่งในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกจำนวน 5 แห่ง มีแผนปรับตัวเข้ากับชีวิตวิถีใหม่โดยให้พนักงานทำงานที่บ้านภายใน 5-10 ปีข้างหน้า อาทิ เฟซบุ๊ก ที่ผู้บริหารจะให้พนักงาน 50% ทำงานที่บ้านในช่วงเวลา 5-10 ปีข้างหน้า รวมถึงทวิตเตอร์ก็มีแนวคิดทำงานที่บ้านเหมือนกัน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศในวันที่ 26 พ.ค. จำนวน 4 เที่ยวบิน จำนวน 386 ราย และวันที่ 27 พ.ค. 4 เที่ยวบิน จำนวน 401 ราย สำหรับคนไทยที่เดินทางกลับมาประเทศและอยู่ในสถานกักตัวของรัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีจำนวน 26,095 ราย ในจำนวนพบติดเชื้อ 108 ราย หากเขาไม่เข้าอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยอาจมีมากกว่า 3,045 ราย จึงต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ร่วมทำงานในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถานกักตัวของรัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีบางส่วนใช้โรงเรียนเป็นสถานที่กักตัวเนื่องจากโรงแรมไม่เพียงพอ แต่ในวันที่ 1 ก.ค.จะมีการเปิดเรียน จึงจำเป็นต้องคืนพื้นที่ให้โรงเรียนและต้องคืนก่อนวันที่ 1 ก.ค. เพราะต้องมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อและพักไว้ก่อนครึ่งเดือนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน แต่ยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบกับสถานกักตัวของรัฐ เพราะผู้ที่เดินทางกลับจากมาเลเซียลดลง ทำให้บริหารจัดการในส่วนนี้ได้ ขณะที่ผลการลงทะเบียน http://www.xn--b3czh8ayeuf.com/ มีร้านค้าลงทะเบียน 111,691 ร้าน มีจำนวนผู้ใช้งาน 12,845,612 คน
เมื่อถามว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่มากแล้ว เหตุใดจึงยังไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเรามี พ.ร.บ.โรคติดต่ออยู่แล้ว นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตอนเราใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่ออย่างเดียวต้องมีการทำงานข้ามกระทรวง การสั่งการทำได้แต่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานข้ามกระทรวง แตกต่างจากตอนมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เป็นการนำเอากฎหมายกว่า 40 ฉบับ รวมถึง พ.ร.บ.โรคติดต่อมาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้มีการบูรณาการทำงานกัน ยกตัวอย่างเรื่องปัญหาหน้ากากอนามัย ที่ตอนแรกบอกว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นผู้บริหารจัดการ แต่พอไปดูรายละเอียดเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่สามารถจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ พอเราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้บริหารจัดการได้ เหตุที่เราต้องรวบอำนาจก็เพื่อต้องการจัดการแบบเบ็ดเสร็จเพื่อควบคุมโรคให้ได้ ความสำเร็จในการควบคุมโรคส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารจัดกฎหมายตรงนี้
นพ.ทวีศิลป์กล่าวตอนท้ายว่า เรามาอยู่ในช่วงเวลานี้ได้ ไม่ได้ต้องการให้ใครเป็นคนที่จะได้เครดิตหรือความชอบอย่างเดียว เรื่องนี้ภาครัฐต้องเข้มข้น เอกชนต้องเข้มแข็ง ประชาชนต้องมาร่วมแรงกันประเทศไทยถึงจะได้ไปต่อ เพราะตอนนี้กิจการ/กิจกรรมต่างๆ เปิดแล้ว ประชาชนต้องช่วยเราร่วมแรงร่วมใจเราถึงจะชนะ