xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป้อม” สั่งเร่ง 8 มาตรการป้องกันน้ำท่วม-เก็บน้ำฝน ลั่น ปชช.-เกษตรกรมีน้ำใช้ถึงแล้งหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
“ประวิตร” ถก กอนช. สั่งเร่งขับเคลื่อน 8 มาตรการป้องกันน้ำท่วม ขันนอตบูรณาการงานเป็นรูปธรรม ตั้งเป้าเก็บน้ำฝน-ป้องน้ำท่วม หวัง ปชช.-เกษตรกรฐานรากทุกพื้นที่ มีน้ำพอใช้ ยาวถึงแล้งหน้า รองรับฟื้นฟู ศก.หลังโควิด-19

วันนี้ (11 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้เป็นประธานการประชุม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 3/2563 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงาน กอนช. อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงบประมาณ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น ณ ห้องประชุม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช.

“ขณะนี้มีฝนตกในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังจากนี้ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรัดกุมและรอบด้าน รวมทั้งเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำสำหรับแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วย” พล.อ.ประวิตร ระบุ

ด้าน พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับทราบการลงพื้นที่ตรวจราชการของ พล.อ.ประวิตร ในฐานะ ผอ.กอนช.ที่ผ่านมา ทั้งการแก้ปัญหาความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง, การป้องกันภัยแล้งพื้นที่ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง, การกำจัดผักตบชวา อ.สามพราน จ.นครปฐม, การตรวจทางอากาศสถานการณ์กำจัดผักตบชวาลุ่มน้ำภาคกลาง และการติดตามการขุดเจาะบ่อบาดาล รวมถึงการกระจายน้ำเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ที่ จ.เลย รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าโครงการปฏิบัติการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำปี 62/63 ที่มีโครงการดำเนินการแล้วจำนวน 210 แห่ง, โครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำในฤดูฝนปี 63 ดำเนินการแล้วจำนวน 250 แห่ง ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้เร่งดำเนินการ 8 มาตรการ บริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับฤดูฝนปี 63 พร้อมทั้งรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงฤดูฝน และการพัฒนาน้ำบาดาล และธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเตรียมดัก เก็บน้ำฝนไว้ใช้ฤดูแล้ง และเพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝนนี้

“พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ กอนช. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งขับเคลื่อนแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ บูรณาการทำงานตาม 8 มาตรการอย่างจริงจัง ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อลดผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนและเกษตรกร เตรียมน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรให้เพียงพอ เน้นย้ำให้กำจัดผักตบชวา และขุดลอกคูคลองให้ได้ตามแผนงาน พร้อมเร่งบริหารจัดการบ่อน้ำบาดาล และธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า และป้องกันน้ำท่วม รองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ต่อไป” พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ กล่าว

โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการจัดทำแผนและมาตรการรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ และพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อรองรับน้ำหลาก ให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 63 สำหรับทุ่งรับน้ำใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ ลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี ให้จัดเตรียมพื้นที่ให้แล้วเสร็จในปีต่อไป 2. ให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เร่งจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำและเกณฑ์ระบายน้ำในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 63 3. ให้กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และจังหวัดในเขตปริมณฑล จัดทำเกณฑ์การระบายน้ำ การควบคุมระดับน้ำ การสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อ กทม.และปริมณฑล จำนวน 13 แห่ง ให้ชัดเจน และกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังและแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชั้นใน กทม.

4. ให้กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ปรับแผนงานปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ปี 2563 ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก พร้อมจัดทำแผนงานส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จในปี 2565 และ 5. ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เร่งรัดการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 63 เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ได้ทันเวลาและลดผลกระทบที่อาจเกิดต่อทรัพย์สิน ชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนให้ได้มากที่สุด

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประวิตร ยังได้มีความห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มักประสบปัญหาการระบายน้ำไม่ทัน โดยเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้ กอนช. ด้านบูรณาการและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขต กทม.และปริมณฑลขึ้น จากผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาได้ดำเนินการขุดลอกคูคลอง สองฝั่ง ถ.วิภาวดีรังสิต และคลองเชื่อม ถ.วิภาวดีรังสิต ลงคลองเปรมประชากร ตั้งแต่เขตดอนเมืองถึงเขตดินแดง แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 63 เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปี 2562/63 พร้อมทั้งได้ร่วมติดตามความก้าวหน้าของโครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น