xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่มเกือบ 2 พันล้าน! กรมชลฯ ปรับปรุงครั้งใหญ่โครงการส่งน้ำและรักษากุมภวาปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - รองอธิบดีกรมชลประทานนำสื่อลงพื้นที่รับฟังบรรยายสรุป โครงการผลการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี จ.อุดรธานี เผยใช้งบลงทุนทั้งระบบเกือบ 2 พันล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 61 ที่ผ่านมา ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียร รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง และภูมิภาคได้เข้ารับฟังการบรรยายสรุปโครงการผลการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี และการขยายพื้นที่ชลประทานเหนือฝายบ้านกุดนาค้อ ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี

นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี นำคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ พนักงาน และบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้แก่ บ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บ.ดีไว พลัส จำกัด ให้การต้อนรับ

นายนพดลกล่าวว่า ฝายกุมภวาปีแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อควบคุมน้ำในหนองหานกุมภวาปี และเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ต่อมาปี 2545 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้ถ่ายโอนโครงการฯ ให้กรมชลประทาน และในปี 2553 กรมชลประทานได้จัดตั้งเป็นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปีจังหวัดอุดรธานี จากวันนั้นถึงวันนี้โครงการส่งน้ำนี้มีอายุการใช้งานมาแล้วมากกว่า 20 ปี ปัจจุบันประสบปัญหาเสื่อมโทรม ทำให้การบริหารจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อประชาชน


ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมชลประทานจึงให้ความสำคัญในการปรับปรุงโครงการและดำเนินการปรับปรุง จึงได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในครั้งนี้

ด้านตัวแทนบริษัทที่ปรึกษากล่าวว่า จากการศึกษาความเหมาะสม พบว่าปัญหาต่างๆ เช่น การรั่วซึมมีการสูญเสียน้ำมาก จึงทำให้เกิดปัญหาระหว่างการส่งน้ำ ส่วนปัญหาอุทกภัยเมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ชลประทานประมาณ 10,000 ไร่เป็นประจำทุกปี ปัญหาภัยแล้งนั้นเมื่อเกิดภาวะฝนตกน้อยหรือฝนทิ้งช่วงจะส่งผลกระทบต่อการเกษตรและปริมาณน้ำสำรองเพื่ออุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม

ผลการศึกษาด้านวิชาการพบว่า ปริมาณน้ำในฝายปัจจุบันสามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าต้องการกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นจะต้องดำเนินการติดตั้งประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำบริเวณปลายลำห้วย 8 สาย ได้แก่ ห้วยโพนไพล ห้วยสา ห้วยสามพาด ห้วยน้ำคล้อง ห้วยกองสี ห้วยนาโน ห้วยไผ่จานใหญ่ และห้วยจระเข้ ติดตั้งสถานีสูบน้ำใหม่จำนวน 9 แห่ง ซ่อมแซมอาคารระบายน้ำรอบหนองหารที่ชำรุด 33 แห่ง ขุดปรับคูระบายน้ำรอบคันกั้นน้ำหนองหารความยาวประมาณ 43 กิโลเมตร

เมื่อมีการปรับปรุงและก่อสร้างต่างๆ ดังกล่าวจะทำให้กรมชลประทานสามารถกักเก็บน้ำได้ 106 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถบริหารจัดการน้ำในหนองหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ในอนาคต ที่สำคัญ เมื่อมีการพัฒนาโครงการแล้วจะสามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมปริมาณ 20,000 ไร่ ลดพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 21,000 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคการประปาปีละ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประมงและการท่องเที่ยว

สำหรับแผนพัฒนาโครงการฯ ทางบริษัทฯ เสนอว่าไม่สามารถจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาได้ทั้งหมดในปีเดียว จึงเห็นควรจัดทำแผนพัฒนา 5 ปี โดยในปีแรกเป็นงานสำรวจออกแบบ ปีที่ 2-5 เป็นงานก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 17,56 ล้านบาท

ด้านนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียร รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัญหาหลักที่แห่งนี้คือ อาคารชลประทานที่นี่สร้างมานานและใช้งานเยอะ วิธีแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพเต็มที่เราไม่สามารถทำได้ทันทีทันใดเราต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มโครงการฯ ในปี 2562 จากการพูดคุยกับกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีกว่า 100 กลุ่ม ทุกกลุ่มเห็นด้วยกับโครงการฯ ดังกล่าว อันดับแรกที่เราจะดำเนินการ คือ อาคารสถานีสูบน้ำบริเวณปลายลำห้วยรอบฝายจะต้องซ่อม หากชำรุดมากอาจจะต้องสร้างใหม่ ส่วนคลองต่างๆ ต้องทำใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น