“บิ๊กฉัตร” แถลงผลประชุม คกก.ทรัพยากรน้ำ นัดแรก ตั้ง 4 อนุฯ ขับเคลื่อนงาน สทนช. ยันพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม-แล้งปีนี้ “ประยุทธ์” สั่งวางแผนจัดการน้ำยาว 20 ปี
วันนี้ (2 ก.พ.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลงานสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2561 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมว่า สทนช.ได้ตั้ง 4 อนุกรรมการ ทำงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำ 2. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 3. การจัดทำยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ จากเดิม 10 ปี เป็น 20 ปี และ 4. คณะกรรมการกลั่นกรอง วิเคราะห์ และประเมินผลการทำงาน ส่วนการบริหารจัดการงบประมาณนั้นจะมีงบประมาณประจำปี 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปี 2561 งบประมาณที่ได้รับจะนำไปสู่การจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก การเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ เรื่องการกระจายน้ำ และการระบายน้ำ
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้มีการเสนอแนวทางใหม่ คือ การปรับการใช้งบประมาณอย่างชัดเจน ไปสู่การทำงานด้านการซ่อมบำรุง ขยายแหล่งน้ำขนาดเล็ก ส่วนแผนงานโครงการขนาดใหญ่ นายกฯ ได้สั่งจัดทำแผนงานยาวไปถึง 20 ปี และจัดเป็นความเร่งด่วนในแต่ละปี ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2561 โดยแผนงานขนาดใหญ่ที่วงเงิน 1 พันล้านบาทขึ้นไป จะต้องมีการศึกษาออกแบบลดผลกระทบด้วย ซึ่งวันนี้ได้นำเสนอทั้งหมด 44 โครงการในทุกภูมิภาค
เมื่อถามว่า ปีนี้จะบริหารจัดการน้ำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วม เพราะมีแนวโน้มที่น้ำจะท่วมเหมือนปี 2554 พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ปีนี้อาจจะมีฝน และปลายปีมีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วง ซึ่งตนเสนอในที่ประชุมว่าต้องมีบริหารจัดการน้ำโดยไม่ประมาท วันนี้สถานการณ์ในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ทำให้ไม่มีปัญหาภัยแล้งในเขตชลประทาน ส่วนนอกเขตชลประทานจะมีการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ถ้ามีพายุและมีฝนตก การพร่องน้ำและระบายน้ำก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำตั้งแต่ตอนนี้ โดย สทนช.จะวางแผนข้อมูลเพื่อนำไปสู่การประเมินในทุกๆ เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป เพื่อที่จะควบคุมน้ำในเขื่อนทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำ ซึ่งการปล่อยน้ำในแต่ละพื้นที่จะต้องคำนึงถึงการเก็บน้ำไว้ใช้ตอนภัยแล้งด้วย สำหรับการบริหารจัดการในพื้นที่ต่างจังหวัด จะยังมีคณะกรรมการในระดับจังหวัด ลุ่มน้ำจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกำกับอยู่ โดยมี สทนช.ดูภาพใหญ่ทั้งประเทศ และให้คำเสนอแนะผู้ว่าฯ ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร ขณะเดียวกัน พื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ก็จะต้องพูดคุยกับผู้ว่าฯ เพราะพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต่ำ ทำให้แก้ปัญหาลำบาก ซึ่ง สทนช.จะต้องเชิญ กทม.มาพูดคุยเรื่องการระบายน้ำ เพราะจะต้องเชื่อมโยงการทำงานกัน
ด้านนายสมเกียรติกล่าวว่า ยุทธศาสตร์น้ำของชาติที่มีการขับเคลื่อน 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ได้ตามเป้าเท่าไหร่ มีจุดที่เป็นปัญหาและอุปสรรคพอสมควร โดยเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคที่ประกาศไว้เป็นยุทธศาสตร์แรก ยังไม่มีความครอบคลุม นายกฯ จึงสั่งการให้ทุกๆ หน่วยที่ได้รับมอบหมายทำให้เสร็จตามเป้าในปี 2562 ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 2 น้ำภาคการผลิตเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มีแหล่งน้ำเพิ่มช้า จึงต้องเร่งขับเคลื่อนด้วยคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมานี้ และยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันน้ำท่วม เรามีการจัดทำการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ทั้งระบบ โดยปรับแผนกรมเจ้าท่า ให้มีการขุดลอกแม่น้ำสายหลักให้ได้ภายในปี 62 อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณที่ตั้งไว้ในปี 62 ได้มีการปรับปรุงใหม่ งบใดที่เป็นความต้องการของพื้นที่ เมื่อมี ครม.สัญจรลงไปในพื้นที่ก็ให้สามารถเดินหน้าต่อได้ นอกจากนี้นายกฯ ได้กำชับเรื่องการบูรณาการแผนทุกหน่วยงาน ที่ต้องมีการติดตามประเมินผลให้เห็นผลสัมฤทธิ์โดยเร็วอีกด้วย