สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดตั้งขึ้น โดยมี พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับนโยบาย (Regulator) น้ำของประเทศ และมีหน่วยงานด้านน้ำกว่า 40 หน่วย ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการ (Operator) สทนช. ร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นองค์กรในพื้นที่ ขับเคลื่อนการจัดการน้ำ 22 ลุ่มน้ำในประเทศ เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการพัฒนาทรัพยากรน้ำและบริหารจัดการน้ำที่มีนัยสำคัญในประวัติศาสตร์ ไม่ต่างจากเมื่อครั้งสถาปนากรมชลประทานเมื่อ 118 ปีที่แล้วทีเดียว
ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรร่วม 150 ล้านไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานไปแล้วกว่า 30 ล้านไร่ แต่ก็ยังมีพื้นที่มีศักยภาพพัฒนาอีกราว 20 ล้านไร่ และพื้นที่เกษตรน้ำฝนอีก 100 ล้านไร่
พื้นที่เหล่านี้ โดยเฉพาะสองพื้นที่หลังยังคงมีปัญหาแล้งซ้ำซาก ท่วมซ้ำซาก ยังต้องวางแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยแผนแม่บทน้ำ 20 ปี แปลงให้เป็นแผนแม่บทลุ่มน้ำ และแผนปฏิบัติการลุ่มน้ำ ตามลำดับ
“พื้นที่เหล่านี้ยังไม่ได้กำหนดหน่วยงานใดเข้าไปทำ ใครๆ ก็ทำได้ แต่ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำจะกำหนดหน่วยงานเหมาะสมเป็นเจ้าภาพในการพัฒนา โดยแผนปฏิบัติการลุ่มน้ำจะมาจากส่วนกลางโดยกฎหมายและจากส่วนท้องถิ่นหรือจังหวัด นับเป็นครั้งแรกที่เรานำเอา 2 ส่วนนี้มาจับคู่ (Match) กัน ทำให้มีโอกาสขับเคลื่อนได้อย่างเป็นระบบและสำเร็จ” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าว
ในส่วนของ สทนช.เองมีการจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นกลไกในระดับพื้นที่ ได้แก่ สทนช.ภาค และ สทนช.จังหวัด โดยทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการทั้งในคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำจังหวัด เพื่อให้สอดประสานและขับเคลื่อนแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการได้อย่างเป็นจริง ไม่ได้กำหนดลอยๆ จากส่วนกลางอย่างเดียว แต่จะกำหนดขึ้นมาจากพื้นที่ โดยผ่านความเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำจังหวัด
“หลักๆ คือกำหนดพื้นที่เป้าหมาย ที่มีปัญหาแล้งซ้ำซาก ท่วมซ้ำซากก่อน จากนั้นหาเจ้าภาพ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพเชิงกฎหมายกับเจ้าภาพเชิงพื้นที่ ทำงานผสมผสานกัน ไม่ใช่ใครก็เข้าไปทำได้เหมือนแต่ก่อน แล้วจัดทำแผนงานโครงการและงบประมาณ ซึ่งต้องทำล่วงหน้า 1 ปี โดยมีความพร้อมด้านแบบ สังคม สิ่งแวดล้อม” เลขาธิการ สทนช.กล่าว
ที่ผ่านมา สทนช.จัดทำแอปพลิเคชันบรรจุแผนงานโครงการในแต่ละจังหวัด เพื่อให้รู้ว่ามีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ พื้นที่โครงการอยู่ที่ไหน จะได้ไม่มีการทำโครงการซ้ำซ้อนในพื้นที่เดียวกัน
“หน่วยงานเจ้าภาพในท้องถิ่นอาจไม่สันทัดทางเทคนิค ตรงนี้อาจมอบหมายให้กรมชลประทาน ซึ่งมีความพร้อมสูงมาเป็นพี่เลี้ยงเรื่องการออกแบบ การคำนวณงบประมาณ อีกหน่อยเขาก็ทำได้”
นอกเหนือจากการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปเขื่อน ฝาย สระเก็บน้ำ ยังมีแหล่งน้ำอื่น เช่น น้ำบาดาล ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดหาน้ำบาดาล โดยกำหนดพื้นที่ ขอบเขต วิธีการที่เหมาะสม ชัดเจน เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำเอื้อต่อเศรษฐกิจ
ดร.สมเกียรติกล่าวด้วยว่า การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมายังมีช่องโหว่เรื่องเจ้าภาพ อาทิ กรมชลประทาน หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดูแลเรื่องเขื่อนและทางน้ำท้ายเขื่อนช่วงหนึ่ง พ้นจากนั้นเป็นของกรมเจ้าท่าบ้าง หน่วยงานอื่นบ้าง ซึ่งไม่ต่อเนื่องครบถ้วน ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการน้ำตลอดลำน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำบางสาย เช่น แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ไหลผ่านพื้นที่หลายจังหวัด การบริหารในลักษณะต่างคนต่างทำ นอกจากไม่เกิดประสิทธิภาพแล้ว ยังสร้างความขัดแย้งระหว่างกัน
“ถึงต้องบูรณาการน้ำตลอดทั้งสาย หารือร่วมกัน ทั้งความต้องการและการแบ่งปันน้ำให้เป็นธรรม ช่วยให้เกษตรกรวางแผนเพาะปลูกในช่วงเวลาที่กำหนดได้ ซึ่งเราไม่เคยมีหลักเกณฑ์นี้มาก่อนเลย”
แม้จะเพิ่งเกิดใหม่ในช่วงไม่ครบ 3 ปีเต็ม แต่การขับเคลื่อนของ สทนช. ในฐานะหน่วยงานกำกับนโยบายน้ำของประเทศถือว่าไม่ธรรมดา สามารถเห็นพัฒนาการความก้าวหน้าเกิดขึ้นตามลำดับ ท่ามกลางปัญหาน้ำที่โถมทับเข้ามาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก