xs
xsm
sm
md
lg

ทางออกรอยต่อฝนทิ้งช่วงนาน งัดระบบสูบกลับเก็บน้ำจากท้ายอ่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้ฤดูแล้ง คือเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนมีฝนตกอยู่ช่วงสั้นๆ แล้วหายไป ที่เรียกภาวะ “ฝนทิ้งช่วง”

แหล่งน้ำต้นทุนฤดูแล้งที่ผ่านมาอยู่ในอาการหนัก ต้องประคับประคองการบริหารจัดการน้ำมาได้จนถึงสิ้นฤดูแล้งถือว่าเก่งมากแล้ว เพราะปลายฤดูฝน-ต้นฤดูแล้ง 2562/2563 มีน้ำต้นทุนน้อยกว่าทุกปี เพราะปริมาณฝนน้อยมาก มีไม่กี่แห่งที่ได้รับผลดีจากพายุโพดุลเมื่อปลายปี 2562

ภาวะฝนทิ้งช่วงมีการเปลี่ยนแปลง ในอดีตทิ้งช่วงระยะสั้น แต่หลังๆ มาทิ้งช่วงนานขึ้น เสมือนแล้งกลางฤดูฝนอย่างปี 2562 ที่ผ่านมา


ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ทำให้ประเทศไทยต้องตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะมีผลต่อปริมาณฝน ปริมาณน้ำท่า และแหล่งน้ำต้นทุนที่มีอยู่ โดยเฉพาะฝนทิ้งช่วง
“รอยต่อระหว่างฤดูแล้งกับฤดูฝนระยะ 2-3 เดือนแรก (พฤษภาคม-กรกฎาคม) เป็นช่วงที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ ถ้าฝนทิ้งช่วงนานจะเกิดปัญหาได้ โดยเฉพาะน้ำต้นทุนมีข้อจำกัดในการใช้มากอยู่แล้วในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา”

ทางออกของปัญหานี้ เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า เพื่อให้แหล่งน้ำต้นทุนมีปริมาณน้ำสะสมมากเท่าที่จะมากได้ เมื่อมีฝนตกท้ายอ่าง หรือฝนไม่ตกเหนืออ่าง ให้ใช้ระบบสูบน้ำกลับเข้าไปกักเก็บในอ่างฯ ทันที ซึ่งจะช่วยให้มีน้ำต้นทุนพอที่จะสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในระยะฝนทิ้งช่วงเพื่อบรรเทาปัญหาได้บ้าง เป็นการเดินตามแนวทางเก็บน้ำทุกหยดไม่ให้ไหลทิ้งลงข้างล่างโดยง่ายดาย ซึ่ง สทนช.ดำเนินการตั้งแต่โครงการเก็บน้ำจากลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงไว้ในแผ่นดินไทย และพยายามเก็บน้ำในฤดูฝนที่ตกเหนือเขื่อนให้ได้มากที่สุด โดยไม่พยายามระบายทิ้งง่ายๆ เหมือนเก่า โดยปรับปรุงระบบคาดการณ์สภาพฝนและบริหารจัดการน้ำเขื่อนใหม่

“แต่กรณีนี้เป็นการเก็บน้ำจากท้ายเขื่อน สูบกลับขึ้นมาเก็บไว้ในเขื่อน ระยะหลังๆ เราใช้ระบบสูบกลับในฤดูแล้งชัดเจนขึ้น แต่ที่ต้องคิดใหม่ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น คือการใช้ระบบสูบกลับในช่วงต้นฤดูฝนด้วย เพื่อเก็บน้ำไว้ รองรับปัญหาน้ำขาดแคลนในกรณีฝนทิ้งช่วง”


ประเด็นระบบสูบกลับ สทนช.มีความเห็นว่า การก่อสร้างติดตั้งระบบสูบน้ำและระบบท่อ หากมีความจำเป็นและมีความคุ้มค่าก็สมควรลงทุน เพื่อช่วยให้การจัดการน้ำมีความมั่นคงมากขึ้น

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ในบางพื้นที่ที่เปราะบางเรื่องน้ำ และมีความจำเป็นต้องผันน้ำในลุ่มน้ำเดียวกันหรือระหว่างลุ่มน้ำ ยังจำเป็นต้องขยายขอบเขตการผันน้ำ มากกว่าเพียงฤดูฝนอย่างเดียว

“มาตรการเดิม มักมีข้อกำหนดให้ผันน้ำได้เฉพาะน้ำส่วนเกินช่วงฤดูฝนอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริง ฤดูฝนส่วนใหญ่มีฝนตกอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าจำเป็นต้องผันก็ผันไป แต่ในช่วงฤดูแล้งบางพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรงและต้องการน้ำมากต่างหาก ที่อาจต้องพิจารณาทบทวนและให้ขยายการผันน้ำเพิ่มเติมในฤดูแล้งทั้งที่ต้องคำนึงพื้นที่ที่เคยได้น้ำอยู่เดิมด้วย” เลขาธิการ สทนช.กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น