“ประวิตร” ขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจเส้นทางผักตบชวา-วัชพืชสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ติดตามแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เร่งกำจัดให้หมดภายใน มิ.ย.นี้ ก่อนน้ำหลากปีนี้
วันนี้ (8 มิ.ย.) เมื่อเวลา 08.55 น. ที่ห้องเตรียมบิน กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก (บางเขน) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นประธานการติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืชในลุ่มน้ำภาคกลาง บริเวณคลองรังสิตประยูรศักดิ์, คลองหกวา, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำน้อย และแม่น้ำท่าจีน ก่อนเดินทางขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสำรวจเส้นทางการไหลของผักตบชวา หลังจากที่เคยสั่งการและมอบนโยบาย เมื่อวันที่ 20 พ.ค.63 ในการลงพื้นที่ดูการกำจัดผักตบชวา ณ ร.ร.วัดทรงคนอง ต.ทรงคนอง อ.สามพราน จ.นครปฐม และได้แบ่งมอบพื้นที่ให้กับหน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมชลประทาน, กรมเจ้าท่า, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ดำเนินการกำจัดผักตบชวา และส่งเสริมการแปรรูป ศึกษาวิจัย นำกลับมาใช้ประโยชน์ในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และยั่งยืน
โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำของประเทศเป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง และได้ติดตามผลการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ใช้เส้นทางน้ำในการคมนาคมขนส่งเป็นประจำ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน
จากการประชุมเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ที่มีการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำเชื่อมโยง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยใช้รายงานการสำรวจผักตบชวาของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาเห็นภาพปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และได้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ วันเดียวกันนี้จึงได้ใช้เฮลิคอปเตอร์บินสํารวจสถานการณ์ผักตบชวาในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ คลองหกวา คลองสอง คลองสาม คลองรังสิตประยูรศักดิ์ และได้บินไปสํารวจในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย บริเวณประตูระบายน้ำผักไห่และแม่น้ำท่าจีน บริเวณประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี มาจนถึงบริเวณหน้าวัดบางช้างเหนือ จังหวัดนครปฐม จากการบินสำรวจพบว่ายังมีหลายจุดที่มีผักตบชวาสะสมอยู่ปริมาณมาก จึงได้กําชับให้ทุกหน่วยเร่งดําเนินการกําจัดผักตบชวาให้ทัน ก่อนที่น้ำเหนือจะไหลหลากลงมาในช่วงเดือน ก.ค. และการกำจัดผักตบชวาให้สิ้นซากแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานร่วมมือกันอย่างจริงจัง ประชาชนที่อยู่ริมน้ำทุกหลังคาเรือนช่วยกันดูแลความสะอาดหน้าบ้านของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าปัญหาผักตบชวาก็จะหมดไปจากแม่น้ำ ลำคลองและเกิดความยั่งยืนต่อไป
“รัฐบาลห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ และวันนี้ได้เห็นแล้วว่าผักตบชวาในพื้นที่เป้าหมายมีปริมาณลดลงไปมากถึง 275,000 ตัน จากปริมาณการสำรวจครั้งแรก 285,920 ตัน คิดเป็นร้อยละ 96 ซึ่งได้กำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ที่ยังมีผักตบชวาและวัชพืชหลงเหลืออยู่ และที่มีการขยายพันธุ์เพิ่มเติม โดยเฉพาะในคูคลองขนาดเล็ก โดยเฉพาะในคูคลองขนาดเล็กจะต้องเร่งรัดดำเนินการเก็บให้หมดภายในเดือน มิ.ย. 63” พล.อ.ประวิตรกล่าว
ขณะที่ พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ พล.อ.ประวิตร พร้อมด้วยคณะฯได้เดินทางไปปฏิบัติราชการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเฮลิคอปเตอร์ ของกองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์ผักตบชวา และวัชพืชในลุ่มน้ำภาคกลางครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.ปทุมธานี, จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.อ่างทอง, จ.สิงห์บุรี, จ.ชัยนาท, จ.สุพรรณบุรี และ จ.นครปฐม
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่า ภายหลัง การตรวจสภาพจากทางอากาศ บริเวณพื้นที่ที่เคยมีผักตบชวาและวัชพืช ตามแม่น้ำคูคลอง พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวแสดงความพอใจ ผลการตรวจ/ติดตามการแก้ปัญหาผักตบชวา และวัชพืชที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง และน้ำท่วมฉับพลันได้ เนื่องจากผักตบชวาและวัชพืชในภาพรวมมีปริมาณมาก และกีดขวางทางน้ำไหลตามแม่น้ำคูคลอง อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง รัฐบาล ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ และวันนี้ ได้เห็นแล้วว่า ผักตบชวาในพื้นที่เป้าหมายมีปริมาณลดลงไปมากถึง 275,000 ตัน จากปริมาณการสำรวจครั้งแรก 285,920 ตัน คิดเป็นร้อยละ 96 ซึ่งได้กำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ที่ยังมีผักตบชวาและวัชพืชหลงเหลืออยู่ และที่มีการขยายพันธุ์เพิ่มเติม โดยเฉพาะในคูคลองขนาดเล็ก จะต้องเร่งรัดดำเนินการ เก็บให้หมด ภายในเดือน มิ.ย.63
“พล.อ.ประวิตร ยังได้กล่าวขอบคุณ คณะกรรมการ กนช.และชื่นชมเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงาน ที่ได้ทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งขอบคุณอาสาสมัคร จิตอาสา และชาวชมรมคนริมน้ำ ที่ได้แสดงออกถึงความเสียสละ ร่วมมือร่วมใจในการเก็บกำจัดผักตบชวา และนำไปแปรรูปวิจัย ควบคู่กับแผนงานการขุดลอกคูคลอง เพื่อรองรับมาตรการป้องกันน้ำท่วมให้ได้ผล และยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล” พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ระบุ
ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การตรวจติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืช เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีการสะสมของผักตบชวา จํานวน 128 จุด 19 จังหวัด สะสมเป็นจำนวนมากในแม่น้ำสายหลัก จํานวน 47 จุด ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา 2 จุด แม่น้ำน้อย 15 จุด แม่น้ำท่าจีน 23 จุด แม่น้ำปาสัก 1 จุด แม่น้ำลพบุรี 6 จุด รวมปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักทั้งสิ้น 165,360 ตัน.