นครปฐม - รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืช บริเวณวัดทรงคนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พร้อมสั่งทุกหน่วยรัฐ ร่วมภาคประชาชน เร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำท่าจีน เตรียมพร้อมรับน้ำหลากฤดูฝน
วันนี้ (20 พ.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืช บริเวณวัดทรงคนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืช รวมทั้งตรวจเยี่ยมการทำงาน เพื่อเตรียมการรับน้ำหลากในฤดูฝน ปี 2563 โดยมี นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวต้อนรับ นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าววัตถุประสงค์ของการประชุม และ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมประชุม พร้อมรับฟังผลการดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากนั้นได้เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา และการนำผักตบชวามาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ของสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติและสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครปฐม พร้อมทั้งได้ติดตามการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายเร่งรัดให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติและแก้ไขปัญหาดังกล่าวจังหวัดนครปฐมมีการบูรณาการเรื่องการแก้ไขปัญหาผักตบชวา เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลได้สะดวก ไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้น ซึ่งในปีนี้มีการเก็บผักตบชวาตลอดแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง และจะดำเนินการทุกแห่งทั่วประเทศ โดยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ซึ่งเฉพาะที่ตำบลทรงคนอง มีปริมาณผักตบชวาประมาณ 10,800 ตัน ขอให้ทางจังหวัด ท้องถิ่น และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำช่วยกันดูแล
ปัญหานี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และในการประชุมกำหนดแผนการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช เพื่อเตรียมรับน้ำหลากในฤดูฝนปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงาน รับผิดชอบพื้นที่ที่มีการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำเชื่อมโยง ตามรายงานการสำรวจของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จำนวน 25 จุด พร้อมทั้งให้ GISTDA สำรวจพื้นที่ที่มีการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำเชื่อมโยงเพิ่มเติม ในลุ่มน้ำภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 19 จังหวัด พบการสะสมของผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 128 จุด ซึ่งได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดแบ่งพื้นที่ให้ 4 หน่วยงานหลักรับผิดชอบ และเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากนี้ ในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บผักตบชวาด้วยเรือท้องแบนแบบติดเครื่องยนต์ ที่ให้การสนับสนุนกับหน่วยงานท้องถิ่น ขอให้จังหวัด นายอำเภอ รวมถึงหน่วยงานปกครองกวดขันกำชับให้มีการดำเนินการจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง และรวบรวมรายงานผลการดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อประเมินผลและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณสนับสนุนดังกล่าว