xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สทนช.ฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็กนับแสนแห่ง และพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กใหม่เพิ่มอีกทั่วประเทศ เพื่อให้ท้องถิ่นเข้าถึงน้ำได้ดียิ่งขึ้น โดยหาหน่วยงานเจ้าภาพหลักในแต่ละพื้นที่ที่ประสบปัญหาแล้งซ้ำซาก-ท่วมซ้ำซากก่อน แล้วเอาหน่วยเทคนิคเข้าไปเสริม ทำให้ขับเคลื่อนได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น

แหล่งน้ำขนาดเล็ก ตามนิยามของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คือ แหล่งน้ำที่มีความจุน้อยกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตรลงมา ส่วนใหญ่กระจายอยู่ตามท้องถิ่นภายใต้การดูแลของท้องถิ่นนับแสนแห่ง เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย ภายหลังจากที่กรมชลประทานโอนภารกิจแหล่งน้ำขนาดเล็กให้ท้องถิ่นไปดำเนินการร่วม 20 ปีแล้ว ยกเว้นโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ข้อดี เป็นการกระจายอำนาจการบริหารจัดการน้ำลงส่วนท้องถิ่น แต่การผ่องถ่ายภารกิจนี้ยังมีปัญหาด้านความพร้อม ทั้งความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ การซ่อมบำรุง ตลอดจนงบประมาณ ทำให้เป็นช่องว่างในการใช้แหล่งน้ำขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“เราจะเข้าไปเสริมตรงจุดนี้เพื่อให้แหล่งน้ำขนาดเล็กตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นได้มากขึ้น ตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน เช่น การอุปโภคบริโภค หรือการผลิต เป็นต้น เริ่มตั้งแต่หาพื้นที่เป้าหมายและเจ้าภาพแท้จริงให้ได้ก่อน” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าว

ต่างจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ล้วนมีเจ้าภาพชัดเจน การแก้ไขปัญหาจะเป็นเรื่องอื่น แต่แหล่งน้ำขนาดเล็กไม่ใช่ ทั้งเรื่องเจ้าภาพหลักและเรื่องเทคนิค รวมถึงการนำเสนอแผนงานงบประมาณ ทำให้แหล่งน้ำขนาดเล็กไม่อาจเปล่งศักยภาพได้เต็มที่ ท่ามกลางความต้องการน้ำของราษฎรในพื้นที่ การหาเจ้าภาพจึงสำคัญเป็นอันดับแรก


“จากนั้นดำเนินการหาพื้นที่เป้าหมายที่จะฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก หนีไม่พ้นพื้นที่แล้งซ้ำซาก ท่วมซ้ำซากตาม Area Based แล้วจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง โดยพิจารณาแหล่งน้ำเดิมและแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นลำดับแรกๆ จากนั้นหาวิธีแก้ไขปัญหาซึ่งแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน บางแห่งขุดลอก บางแห่งปรับปรุงอาคาร โดยมีหน่วยงานเทคนิคเข้าไปช่วยเสริม รวมทั้งการเขียนแผนงานโครงการ กำหนดงบประมาณ”

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า จากการลงพื้นที่มักมีเกษตรกรมาขอให้พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตร แต่ติดปัญหาไม่ทราบว่าต้องเริ่มต้นที่ไหน อย่างไร ติดต่อช่องทางใด เขียนแผนงานโครงการอย่างไร หน่วยงานไหนเข้าไปก็จะร้องขอ เป็นช่องว่างของปัญหาน้ำในท้องถิ่นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ต้องอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว พอเข้าสู่ฤดูแล้งจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง และไม่รู้จะพึ่งพาหน่วยงานใด

“สทนช.จะเข้าไปช่วยจัดระบบและแก้ไขปัญหานี้ ชาวบ้านเดือดร้อนก็จะรู้ว่าต้องเข้าหาใครที่เป็นเจ้าภาพหลัก เมื่อจัดระบบได้ ชุมชนจะสามารถเข้าถึงน้ำได้ดียิ่งขึ้น” ดร.สมเกียรติกล่าว

สรุป อ่างฯ ขนาดเล็กเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสังคมท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าน้ำอุปโภคไปจนถึงน้ำเพื่อการเกษตร หากสามารถฟื้นฟูแหล่งน้ำเก่าซี่งมีนับแสนแห่ง และพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ขึ้นมาได้นับแสนแห่งเช่นกัน แหล่งน้ำขนาดเล็กเหล่านี้จะช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงน้ำได้มากขึ้นและสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ชุมชนได้มากมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น