xs
xsm
sm
md
lg

บริหารน้ำแบบประณีต เก็บทุกหยดใช้ทุกหยาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ฤดูฝนปีนี้ น้ำดีกว่าปีที่แล้วแน่นอน” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โต้โผใหญ่ด้านน้ำของประเทศยืนยันตามคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา

“ภาคกลาง ภาคตะวันออก และอีสานตอนในที่เคยแล้งในฤดูฝนปีกลาย เริ่มได้น้ำเติมเต็มปิดช่องโหว่” ภาพแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่เคยเป็นสีแดงในแผนที่ สะท้อนว่ามีน้ำน้อย มีโอกาสตีตื้นขึ้นมา ทำให้ภาพรวมของน้ำทั้งประเทศจะดีขึ้นตลอดฤดูฝน 2563 ซึ่งจะดีกว่าปี 2562

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน 2563 นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 และปริมาณฝนปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติ 5% เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งถือได้ว่าปริมาณฝนปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว

การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ สทนช.ได้ดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์ใหม่ เพื่อเป็นคู่มือให้หน่วยงานดังกล่าวทยอยใช้บริหารจัดการน้ำตั้งแต่ปี 2562

เดิมทีเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางอาศัยสถิติปริมาณน้ำย้อนหลังหลายสิบปีมาเป็นค่าเฉลี่ย เพื่อกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ทั้งในกรณีน้ำมากและน้ำน้อย ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ค่อนข้างตายตัว อาจเหมาะสมกับในช่วงระยะเวลาก่อนๆ ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่มากนัก การใช้ประโยชน์ที่ดินและการขยายตัวของชุมชนก็ไม่มากเท่าปัจจุบัน

แต่เกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มเติม คืออาศัยข้อมูลสถิติ เงื่อนไขการใช้น้ำ ขีดความสามารถในการรองรับของลำน้ำด้านท้ายน้ำที่เป็นปัจจุบัน บวกด้วยเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำแบบระยะสั้น (Dynamic Rule Curve) ของปีนั้นๆ ตามการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทุกปี

ทั้งนี้ เกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงในทุกมิติมากขึ้น ทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เก็บกักน้ำต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับมีส่วนช่วยให้ประหยัดการใช้น้ำ

ภายใต้การบริหารจัดการน้ำเกณฑ์ใหม่ ยังมีวัตถุประสงค์เพิ่มเติมอีกประการ คือ การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน เพื่อให้มีน้ำใช้ถึงฤดูแล้งไปจนถึงฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนยาวถึง 2-3 เดือน

“แต่ก่อนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเราอาจเพื่อช่วงฝนทิ้งช่วงในฤดูฝน 1 เดือน แต่สภาพการณ์ที่เป็นอยู่อาจต้องยาว 3-4 เดือน เป็นการลดผลกระทบการเพาะปลูกในฤดูฝนที่อาจมีฝนทิ้งช่วงยาว แต่เรายังมีน้ำต้นทุนคอยประคับประคองไม่ให้เสียหายมากนักได้” ดร.สมเกียรติกล่าว

การปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำจึงเป็นการบริหารจัดการน้ำแบบประณีต ยืดหยุ่นสูง และได้ประโยชน์มากขึ้นต่อทุกฝ่าย เป็นการทำงานในเชิงรุกของ สทนช. ท่ามกลางปัญหาน้ำที่มีความเปราะบางกว่าในอดีตมากมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น