xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม” สั่งลุยแผนพัฒนาการเกษตรใน “อีอีซี” หนุน 5 คลัสเตอร์ยกระดับรายได้เกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อุตตม” นั่งหัวโต๊ะ กบอ.เร่งเครื่องแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี ชู 5 คลัสเตอร์ ผลไม้ พืชชีวภาพ ประมง สมุนไพร พืชมูลค่าสูง ยกระดับรายได้เกษตรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ ดึงเทคโนโลยียกระดับทุกขั้นตอน พร้อมเร่งรัดบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอป้องภัยแล้งปีต่อๆ ไป พร้อมไฟเขียวพีอีเอ เอ็นคอมฯ ผลิตไฟโซลาร์ฯ รูปแบบ IPS ป้อนเมืองใหม่อัจฉริยะ สกพอ.จ่อผ่อนปรนเปิดทางนักธุรกิจต่างชาติเดินทางเข้าไทย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 3/2563 ที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานว่า กบอ.ได้รับทราบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ จ.ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี โดยได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สกพอ.เป็นเลขานุการร่วมเพื่อขับเคลื่อนแผนที่จะมุ่งเน้น 5 คลัสเตอร์พื้นฐานที่สามารถทำได้ทันที ได้แก่ 1. ผลไม้ 2. พืชชีวภาพ หรือ Bio-Based 3. ประมง 4. สมุนไพร และ 5. พืชมูลค่าสูง (เช่น ไม้ประดับ/ผักปลอดสารพิษ) โดยมีเป้าหมายยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ

“การพัฒนาพืชเกษตรจะมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แนวทางพัฒนาที่สำคัญคือมองความต้องการนำการผลิต เช่น รองรับมหานครการบินภาคตะวันออก เมืองใหม่ และการท่องเที่ยว และความต้องการในต่างประเทศ ควบคู่ไปกับยกระดับการตลาด-การแปรรูป-การเกษตร ด้วยเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน” นายคณิศกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามและเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน เพื่อทำให้พื้นที่อีอีซีเกิดความมั่นคงด้านน้ำ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคอย่างยั่งยืนในปี 2563/64 ตามแนวนโยบายของ พล.อ.ปริวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งในปีถัดๆ ไป หลังจากที่ สทนช. กรมชลประทาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และเอกชนได้ร่วมกันดำเนิน 8 โครงการ 4 มาตรการในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปีนี้ที่สามารถผ่านพ้นวิกฤตแล้งไปได้

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบการพัฒนาโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่ อีอีซี โดยมอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่ รูปแบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Power Supply : SPS) ในลักษณะการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ Independent Power Supply (IPS) ซึ่งมอบหมายให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งให้ กฟภ. รับซื้อ และส่งจำหน่ายสำหรับใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ โดยกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าต้องไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปที่ กฟภ.ขายให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ


นายคณิศกล่าวว่า กบอ.ยังได้รับทราบแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ตามที่กลุ่มธุรกิจในพื้นที่อีอีซีได้ยื่นหนังสือขอจากภาครัฐทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลี และอื่นๆ ซึ่งหลังจากโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้น เพื่อรองรับบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซีในช่วงระยะการฟื้นตัวของประเทศ สกพอ.จึงมีแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการต่างประเทศสร้างภาคีเครือข่ายระหว่างองค์กร บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทางกับสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ จัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly) และกำหนดประเทศต้นทางและจำนวนบุคลากรที่จะอนุญาตเดินทางมาแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น