กพอ.รับทราบแนวทางผ่อนปรนการเดินทางของนักธุรกิจเข้าไทยโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี สกพอ.จ่อชง ศบค.รูปแบบ Business Bubble หนุนลงทุนอีอีซี พร้อมกางตัวเลขลงทุน 5 เดือนแรกลดเพียง 10% แม้เผชิญโควิด-19
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า การประชุม กพอ.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่ประชุมรับทราบแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามที่กลุ่มธุรกิจได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อยู่ระหว่างหารือร่วมกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข ถึงแนวทางผ่อนปรน รวมทั้งสนับสนุนการอนุญาตให้เดินทางระหว่างประเทศแบบ Business Bubble เป็นลำดับแรกในพื้นที่เฉพาะเจาะจง อาทิ พื้นที่อีอีซี โดย สกพอ.จะได้เสนอศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 1019 หรือ ศบค. เพื่อทราบต่อไป
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ภาคธุรกิจ เช่น หอการค้าประเทศญี่ปุ่น ( JJC) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ภาคธุรกิจจากสาธารณรัฐเกาหลี และประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมได้ยื่นข้อเสนอให้ผ่อนคลายการเดินทางมายังพื้นที่อีอีซี ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยและต่างประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อรองรับบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สกพอ.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข ถึงแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศไทย ได้แก่ การสร้างภาคีเครือข่ายองค์กร บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทาง กับสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ โดยจัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly) การขึ้นทะเบียนสถานที่และการบริการ Alternative State Quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี และทบทวนข้อกำหนด หรือมาตรการให้บุคลากรต่างชาติสามารถทำภารกิจในพื้นที่ได้คล่องตัวยิ่งขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ กพอ.ยังได้รับทราบภาวะการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระยะ 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 63) มีมูลค่าคำขออยู่ที่ 74,151 ล้านบาท หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 82,467 ล้านบาทลดลงประมาณ 10% ขณะที่การลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่า 32,308 ล้านบาท โดยจีนมีการลงทุนในอีอีซีมากเป็นอันดับ 1 มูลค่า 8,441 ล้านบาท รองมาเป็นญี่ปุ่นมูลค่า 8,114 ล้านบาท และสิงคโปร์อันดับ 3 มีมูลค่า 6,632 ล้านบาท
“สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานภาวะการลงทุนในอีอีซี โดย 5 เดือนแรกมีมูลค่า 74,151 ล้านบาท แบ่งเป็น จ.ฉะเชิงเทรา 11,875 ล้านบาท จ.ชลบุรี 30,698 ล้านบาท และ จ.ระยอง 31,578 ล้านบาท ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกและไทยได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้การลงทุนได้รับผลกระทบ แต่หากเทียบสัดส่วนแล้วก็ถือว่ามูลค่าคำขอลงทุนในอีอีซีลดลงเพียง 10% ขณะที่หากเทียบกับมูลค่าคำขอลงทุนทั้งประเทศนั้นลดลง 27%” นายคณิศกล่าว
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรับทราบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซีซึ่งมีเป้าหมายยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ โดยให้ความสำคัญต่อเกษตร 5 คลัสเตอร์ที่มีพื้นฐาน ทำได้ทันที ได้แก่ ผลไม้ พืช Bio-Based 3 ประมง สมุนไพร พืชมูลค่าสูง (เช่น ไม้ประดับ/ผักปลอดสารพิษ) รวมทั้งรับทราบความก้าวหน้าโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่อีอีซี ที่ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่ รูปแบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Power Supply : SPS) ในลักษณะการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ Independent Power Supply (IPS) ซึ่งมอบหมายให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งให้ กฟภ.รับซื้อ และส่งจำหน่ายสำหรับใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ และอัตราค่าไฟฟ้าที่จะใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะจะไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปที่ กฟภ.ขายให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ