xs
xsm
sm
md
lg

“เลขาฯ อีอีซี” คาดโลกมีวัคซินกันโควิด-19 เมื่อใด การลงทุนตรงจากต่างชาติในไทยจะกลับมาเป็นปกติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เลขาฯ อีอีซี” ยอมรับ แนวโน้มการลงทุนตรงจากต่างประเทศปี 63 จะชะลอตัวลง เหตุ รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 แต่คาดจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งหลังจากที่โลกมีวัคซินป้องกันไวรัสฯ แล้ว ขณะที่ธุรกิจการบินจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติได้ในช่วงปลายปี 64 พร้อมเผยผลการประชุม กบอ. ที่ประชุมรับทราบแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีของกลุ่มบุคลากรภาคธุรกิจ และแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี โดยตั้งเป้าผลักดันจีดีพีในภาคการเกษตรให้ขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับภาคอุตสาหกรรม-บริการ รวมถึงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมการเกษตรโดยเน้น 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ ประมง พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ พืชสมุนไพร และพืชที่สร้างมูลค่าสูง ตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 3/2563 ซึ่งมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยเลขานุการอีอีซีได้ระบุถึงแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างประเทศปี 63 จะชะลอลง และคงไม่ลื่นไหล เนื่องจากผลกระทบค่อนข้างมากจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ทั้งยังคาดว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากที่โลกสามารถผลิตวัคซินป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้แล้ว ในขณะที่กลุ่มธุรกิจการบินนั้น มองว่า จะสามารถกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติได้ในช่วงปลายปี 64 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการลงทุนตรงจากต่างประเทศคงต้องรอประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีกครั้ง แต่ยังเชื่อว่าประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อีอีซี

ด้านความคืบหน้าในการลงทุนของอีอีซีทั้งหมด 5 โครงการนั้น นายคณิศ กล่าวว่า จะมี 2 โครงการที่ได้ลงนามกันไปแล้ว ได้แก่ 1. โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเชื่อม 3 สนามบิน และ 2. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบิน ซึ่งในวันที่ 29 มิ.ย. 63 กระทรวงคมนาคมจะร่วมลงนามกับกลุ่ม BBS ส่วนท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) เชื่อว่าจะล่าช้าไปกว่าแผนที่วางไว้ ทั้งยังย้ำด้วยว่า ปัจจุบันโครงการส่วนใหญ่จะเป็นไปตามแผน ยกเว้นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หากการบินไทย จำกัด ซึ่งมองว่าหากการบินไทยยังสามารถดำเนินการได้ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่หากไม่สามารถดำเนินการต่อได้ก็ยังมีนักลงทุนหรือสายการบินทั้งในและต่างชาติรายอื่นๆ ที่ให้ความสนใจอยู่เช่นกัน

นอกจากนี้ เลขาธิการอีอีซี ยังได้กล่าวถึงผลการประชุม กบอ. ว่า ที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตอีอีซี โดยการประชุมในครั้งนี้เพื่อพิจารณากลั่นกรองวาระก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ชุดที่มีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาต่อในวันที่ 22 มิ.ย. นี้

สำหรับรายละเอียดของการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ตามที่กลุ่มบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซี จากประเทศญี่ปุ่น ได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐ ขอให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิคเพื่อเข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ของไทยดีขึ้น โดยรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องการเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว

นายคณิศ ยังกล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ บุคลากรทางการแพทย์จากประเทศต้นทางกับสถานเอกอัครราชทูตไทย รวมทั้งหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เดินทางเข้ามในประเทศไทยก็ยังต้องปฎิบัติตามมาตรการการกักกันของรัฐด้วย

ทั้งนี้ คาดว่า หลังรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการผ่อนปรนดังกล่าวแล้ว นักลงทุนต่างชาติจะสามารถเดินทางเข้ามาเจรจาการทำธุรกิจในไทยได้สะดวกขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่มีมาตรการปิดเมืองและห้ามเดินทางเข้าออก ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลกระทบกับตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ติดลบถึง 5% ส่วนเม็ดเงินลงทุนหายไปกว่า 8 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เชื่อว่า การคลายมาตรการคลายล็อกดาวน์ จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้นมากกว่า 80% ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีปี 63 อยู่ในระดับที่ติดลบน้อยกว่าคาดการณ์

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กบอ. ยังได้รับทราบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะผลักดันให้จีดีพีภาคการเกษตรขยายตัวใกล้เคียงกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ จากปัจจุบันจีดีพีภาคเกษตรขยายตัวเพียง 2% ส่วนจีดีพีในภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวที่ 4-5%

สำหรับแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรนั้น จะเน้นการใช้ความต้องการนำการผลิต โดยเน้นความต้องการในประเทศ รองรับมหานครการบินภาคตะวันออกออก สำรวจตลาดหาความต้องการเอเชีย CLMV และยุโรป ที่มีความต้องการสูง สร้างความต้องการด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่ รวมถึงการยกระดับการตลาด การแปรรูป การเกษตรด้วยเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน เช่น การสร้างตลาดด้วยกลไก e-commerce E-Auction ขายไปทั่วโลก เชื่อมระบบโลจิสติกส์ ตั้งแต่ส่งออก-ขายในประเทศ เก็บรักษาผลไม้ อาหารทะเล ด้วยระบบห้องเย็น เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะผลักดันให้จีดีพีภาคการเกษตรขยายตัวใกล้เคียงกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ จากปัจจุบันจีดีพีภาคเกษตรขยายตัวเพียง 2% ส่วนจีดีพีในภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวที่ 4-5% โดยในอนาคตจะขยายการพัฒนาภาคการเกษตรที่เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อความเชื่อมโยงและต่อยอดเสริมรายได้มากขึ้น

รวมทั้ง ส่วนการยกระดับภาคอุตสาหกรรมการเกษตรนั้น จะเน้นที่ 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย 1.ผลไม้ 2.ประมง 3.พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-Based3) 4.พืชสมุนไพร และ 5.พืชที่สร้างมูลค่าสูง และในอนาคตจะขยายการพัฒนาภาคการเกษตรที่เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อความเชื่อมโยงและต่อยอดเสริมรายได้มากขึ้น ทั้งนี้ ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สกพอ. เป็นเลขานุการร่วม ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น