xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” แย้มข่าวดีต่างชาติจ่อย้ายฐานผลิตจากจีนซบไทย เด้งรับข้อเสนอเอกชนตั้งกองทุนฯ 5 พันล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” ยิ้มรับนักลงทุนต่างชาติเล็งผละจีนจ่อย้ายฐานซบไทยเพิ่มขึ้น พร้อมเด้งรับข้อเสนอเอกชนจ่อตั้งกองทุนร่วมลงทุนฯ 5,000 ล้านบาท ช่วยหนุนเอสเอ็มอีโต จ่อดึงเงินฟื้นฟู ศก.ฐานราก 4 แสนล้าน ประเดิมจัดตั้งเล็งถกความเป็นไปได้กับ สศช.ก่อนชง ครม.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า เอกชนได้แจ้งว่าผลกระทบโควิด-19 และสงครามการค้าได้ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเตรียมย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนสนใจที่จะย้ายเข้ามา ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการได้ขอให้กระทรวงฯ ช่วยจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ให้สามารถพัฒนาตนเองสู่ธุรกิจขนาดใหญ่และมีศักยภาพโดยเรื่องนี้เห็นว่าอาจใช้เงินตั้งตั้งจาก พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 400,000 ล้านบาท ซึ่งจะได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจัดตั้งซึ่งคาดว่าวงเงินน่าจะอยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาท

“เอกชนได้ชื่นชมการรับมือรัฐบาลไทยสามารถรับมือกับโควิดได้ดี ก็จะทำให้เอื้อต่อการย้ายฐานมาไทยมากขึ้น ส่วนข้อเสนอให้จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน รูปแบบคล้ายกองทุนในประเทศจีนอาจใช้เงินตั้งต้นจากงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 400,000 ล้านบาท ของ พ.ร.ก.เงินกู้ โดยจะหารือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงแนวทางความเป็นไปได้ว่าสามารถใช้งบประมาณดังกล่าวได้หรือไม่ ก่อนเสนอ ครม.พิจารณา” นายสุริยะกล่าว

นอกจากนี้ เอกชนยังเสนอให้รัฐบาลกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ อาทิ โครงการชิมช้อปใช้ เพื่อกระตุ้นยอดขายของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยกระทรวงฯ จะหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่ทำธุรกิจภายในประเทศอยู่แล้วมีแผนจะขยายการลงทุนภายในปีนี้เพิ่มขึ้นโดยเน้นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ซัมซุง มิตซูบิชิ โตชิบา ซีเกต ไซโจเด็นกิ เป็นต้น

ปัจจุบันอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมียอดการส่งออกมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท มีการจ้างแรงงานกว่า 1 ล้านคน รวมถึงยอดขอตั้งประกอบโรงงานใหม่และขยายกิจการโรงงานประเภทไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบ 5 เดือนแรกของปี 62 กับปี 63 พบว่าเพิ่มขึ้นจาก 43 โรงงาน เป็น 53 โรงงาน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จาก 9,372 คน เป็น 29,064 คน ขณะที่มียอดการส่งออกช่วงที่ผ่านมาก็ปรับเพิ่มมากขึ้น 5-10%

นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม กล่าวว่า การย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนญี่ปุ่น เช่น พานาโซนิค ไปยังเวียดนามนั้น เป็นการย้ายฐานสินค้าเทคโนโลยีเก่า นักลงทุนญี่ปุ่นรักเมืองไทยยังคงเลือกสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าไว้ที่ฐานการผลิตในไทย

ายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) ภาพรวมการยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ดีกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา โดยมียอดโครงการยื่นขอรวม 62 โครงการ วงเงินลงทุน 27,400 ล้านบาท ช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมามียอดโครงการยื่นขอรวม 50 โครงการ วงเงินลงทุน 26,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ เช่น สินค้ากลุ่ม IoT แอร์ ตู้เย็น ไมโครเวฟ เป็นต้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19 กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับนักลงทุนต่างชาติ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป จีน ได้รับข่าวดีว่าไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจ โดยเฉพาะการลงทุนที่มีฐานการผลิตอยู่ในจีน และจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้นักลงทุนมีความสนใจย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยมากขึ้น จึงขึ้นกับความพร้อมของไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนในการดึงการลงทุนครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น