การประชุม กบอ.ที่มี “อุตตม” เป็นประธานเห็นชอบเตรียมเสนอ “กพอ.” เคาะผลคัดเลือกการเจรจา และร่างสัญญาร่วมทุนหลังกองทัพเรือเลือกกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS เป็นผู้พัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คาดลงนามได้ภายใน พ.ค.นี้ ยอมรับโควิด-19 ทำให้แอร์บัสถอนตัวร่วมการบินไทยพัฒนาโครงการ MRO แต่ยังมี 3 ทางเลือกให้เดินต่อได้ไม่สะดุดแน่นอน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และมีมติเห็นชอบให้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกฯ เป็นประธานพิจารณาผลการคัดเลือก การเจรจา และร่างสัญญาร่วมทุน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อที่จะลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชนต่อไปซึ่งคาดว่าจะลงนามได้ภายในเดือน พ.ค.นี้
ทั้งนี้ เมืองการบินภาคตะวันออกพื้นที่ 6,500 ไร่บริเวณสนามบินอู่ตะเภาจะประกอบด้วย 6 กิจกรรมหลักเช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3, ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน, เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เป็นต้น มูลค่า 290,000 ล้านบาท รัฐจะได้ประโยชน์จากภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 60,000 ล้านบาท (ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก) เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,640 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก และที่สำคัญคืออีอีซีวางยุทธศาสตร์ให้เมืองการบินภาคตะวันออกทำภารกิจสำคัญ 3 ประการ คือ เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3” เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายของ EEC และเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมืองประมาณ 30 กม.โดยรอบสนามบิน (เมืองพัทยา ถึงตัวเมืองระยอง) ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดยังคงเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้
พลเรือตรี เกริกชัย วจนาภรณ์ เลขานุการและคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบและดำเนินการเจรจาสัญญาเสร็จสิ้น รวมเวลาทำงานประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกทั้งหมด 17 ครั้ง และการประชุมคณะทำงานเจรจาสัญญาทั้งหมด 19 ครั้ง ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) (กลุ่มบีบีเอส) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบินเป็นผู้ชนะการคัดเลือกให้ร่วมทุนเพราะเสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำตลอดสัญญาสูงสุด
“หลังจากนี้จะเสนอให้กองทัพเรือในฐานะเจ้าของโครงการเห็นชอบ และจะเสนอร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจรณาขั้นตอนต่อไปคือ กพอ. ครม.ต่อไป โดยโครงการนี้จะแล้วเสร็จในปี 2567 อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการพัฒนาเมืองคือเมืองที่อยู่รายรอบจะต้องเป็นกรีน และสิ่งที่เป็นอุปสรรค เช่น สายไฟฟ้าก็ควรจะต้องมุดท่อด้วย” พลเรือตรี เกริกชัยกล่าว
นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ซึ่งทาง บมจ.การบินไทยจะเข้ามาพัฒนาและได้รับข้อเสนอจากบริษัท Airbus S.A.S (แอร์บัส) ที่จะเข้ามาร่วมมือด้วยนั้น ล่าสุดยอมรับว่าทางแอร์บัสเองติดปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอากาศยานได้รับผลกระทบหนัก จึงขอที่จะยังไม่ร่วมลงทุนแต่พร้อมที่จะร่วมมือด้านเทคโนโลยีหรือโนฮาวให้กับการบินไทย ดังนั้นเรื่องดังกล่าวการบินไทยเองยังมีทางเลือก 2-3 ทาง ได้แก่ 1. การบินไทยยังสามารถเปิดรับเอกชนอื่นๆ ที่สนใจจะร่วมทุนกับการบินไทยได้อยู่ 2. ผู้บริหารการบินไทยเองแจ้งว่ากิจการนี้มีประโยชน์ต่อการบินไทยที่จะต้องเดินต่อไม่ว่าจะต้องลงเองก็ตามแต่เป้าหมายแรกจะเน้นร่วมมือกับเอกชนก่อน และ 3. การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาต่างๆ ยังมีเวลา 3-4 ปี ถึงตอนนั้นโควิด-19 คลี่คลายก็ยังมีโอกาสที่แอร์บัสหรือโบอิ้งจะเข้ามาร่วมมือก็ยังเป็นไปได้อีก