บอร์ด กนอ. รับทราบความคืบหน้าแผนระยะสั้นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งในปี 63 และรับทราบการลงทุนระยะยาว มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในเขตอีอีซี ย้ำแม้กฎหมา ยงบฯ ปี 63 จะมีปัญหาล่าช้ากว่าที่รัฐบาลกำหนด จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนนี้ เหตุเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถรอได้ ขณะที่การลงทุนระยะสั้นนั้นสามารถใช้เงินลงทุนอีสต์วอเตอร์ได้เลย
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการเป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ว่า กบอ. ได้รับทราบถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาวสำหรับปี 63 โดยระยะสั้นสำหรับกรณีที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาลในเดือน มิ.ย.63 ได้กำหนดโครงการไว้รองรับไว้ 3 โครงการ คือ 1.โครงการสูบน้ำกลับคลองสะพานมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ โดย บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรืออีสต์วอเตอร์ จะประสานงานในการดำเนินการกับกรมชลประทาน ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนโครงการที่ 2 คือ โครงการสูบน้ำคลองหลวง ณ จุดพานทองเข้ากับคลองส่งน้ำพระองค์ไชยานุชิต-บางพระ โดยอีสต์วอเตอร์จะเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานงานเพื่อเร่งดำเนินการกับกรมชลประทาน ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร และโครงการที่ 3 คือ โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด ลุ่มน้ำวังสโตนด จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการเจรจาค่าน้ำร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำวังโตนด ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 3 โครงการจะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นรวมกัน 160 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ ยังได้ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ร่วมกันจัดทำแผนลดการใช้น้ำช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.63 ลง 10% รวมทั้งต้องมีแผนระยะยาวที่เพียงพอ โดยให้ประสานงานกับสำนักงานพัฒนาทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้โครงการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563-2580) วงเงิน 52,797 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นแผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน (Supply Side Management) 38 โครงการ วงเงิน 50,691.10 ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำคลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น รวมถึงแผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand Side Management) 9 โครงการ วงเงิน 1,927.15 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาคสาขาต่างๆ ปรับระบบการเพาะปลูก เป็นต้น และมาตรการอื่นๆ การศึกษาจัดทำฐานข้อมูลพัฒนาน้ำบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 178.99 ล้านบาท
ส่วนโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในเขตอีอีซีนั้น ที่ประชุม กบอ. เห็นชอบในหลักการตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำเสนอ โดยมีแนวทางในการศึกษา พัฒนา ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ และระบบกักเก็บพลังงานในพื้นที่อีอีซี และส่วนขยาย ให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าเป็น 70 : 30 รวมทั้งเร่งรัดการลงทุน ร่วมกับภาคเอกชน ให้มีการผสมผสานระหว่างการเกษตร และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ จำหน่ายในพื้นที่อีอีซี
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่การกระทรวงการคลัง ยังย้ำว่า แม้การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 จะมีความล่าช้าจากกำหนดเดิมที่รัฐบาลเคยตั้งไว้อยู่บ้างก็ตาม แต่ความล่าช้าดังกล่าวนี้จะไม่กระทบแผนการลงทุนและบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออก เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถรอได้ ขณะที่การลงทุนระยะสั้นนั้นสามารถใช้เงินลงทุนจากบริษัทอีสต์วอเตอร์ได้เลย เช่นเดียวกับแผนการลงทุนในเขตอีอีซีที่จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการลงทุนโดยส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี)