xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ-อีสท์ วอเตอร์เตรียมแผนรับมือภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมชลฯ -อีสท์ วอเตอร์ เตรียมแผนรับมือภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก ทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และป้องกันการขาดแคลนน้ำในอนาคต

นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เผยว่า ขณะนี้หลายฝ่ายมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมชลประมาณ ได้เตรียมแผนรับมือได้แล้ว ปัจจุบัน ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ จำนวน 853 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 35% เป็นน้ำใช้การได้ จำนวน 769 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนขนาดกลาง จำนวน 624 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 66% รวมมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้ จำนวน 1,344 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 59% ถือว่ามีปริมาณที่น้อยในปีนี้

โดยทางกรมชลประทานเองได้มีการวางแผนการใช้น้ำ คือ ภาคอุตสาหกรรม จำนวน 257 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนภาคการเกษตรให้ใช้น้ำประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าทุกภาคส่วน ดังนั้น ประชาชนจึงไม่ต้องวิตกกังวลนอกจากนั้น ชลประทานได้มีมาตรการประหยัดน้ำต่างๆ ประกอบด้วย 1.ลดปริมาณการใช้น้ำในทุกภาคส่วน จำนวน 10% ซึ่งจะลดการใช้น้ำได้ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร 2.ภาคเอกชนหาแหล่งสำรองน้ำไว้แล้ว 20 ล้านลูกบาศก์เมตร คือ พื้นที่ จ.ชลบุรี 12 ล้านลูกบาศก์เมตร และ จ.ฉะเชิงเทรา 8 ล้านลูกบาศก์เมตร 3.ลดความสูญเสียในเส้นท่อได้ประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมแล้วสามารถประหยัดน้ำได้เกือบ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนั้น ยังคาดการณ์ว่าหลังจากนี้จนถึงช่วงเดือนมิถุนายน ปี 63 จะมีน้ำไหลลงเขื่อนอีกประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามพยากรณ์อากาศที่คาดการณ์ไว้ ในช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกลงมาตามปกติ ซึ่งจากสถิติที่ฝนตกลงมาน้อยที่สุดแล้วจะอยู่ที่ปริมาณ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร และไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ ดังนั้นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะทำให้ปริมาณน้ำสามารถใช้ได้ถึงเดือนมิถุนายน หากไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ยังสามารถนำน้ำก้นอ่างมาใช้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ชลประทานยังไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าว แต่หากเกิดขึ้นก็ต้องนำมาใช้ โดยจะไม่ยอมให้พื้นที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ชลประทานยังมีแผนป้องกันความเสี่ยง คือ 1.เร่งรัดก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองชลประทานพานทองเชื่อมต่อระหว่างระบบท่อผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต โดยจะให้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะมาเติมเต็มในพื้นที่ จ.ชลบุรี 2.เร่งรัดสถานีสูบน้ำคลองสะพาน จ.ระยอง สูบกลับ เพราะมีน้ำไหลทิ้งเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดงบประมาณอีก 400 ล้านบาท โดยต้องมีการผลักดันงบประมาณต่อไป 3.เตรียมความพร้อมพูดคุยกับชาว จ.จันทบุรี ในการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่สามารถทดน้ำและสูบน้ำมากักเก็บไว้ในพื้นที่ จ.ระยอง คาดอยู่ในระยะปานกลางและระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด หรือนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อเป็นการช่วยกันประหยัดน้ำ

ขณะที่ นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เผยว่า ที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์ ให้บริการน้ำแบบครบวงจร โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในระบบผลิต งานบำรุงรักษา ตลอดจนการให้บริการด้านวิศวกรรมอย่างครบวงจร การให้บริการติดตั้งที่เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ เน้นการบริการจัดหาแหล่งน้ำดิบให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้น้ำ บริการติดตั้งระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรม ให้บริการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ให้บริการติดตั้งระบบน้ำรีไซเคิลโดยนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ในระบบอุตสาหกรรม ทั้งในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี

“ในฐานะที่อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก มีโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบครอบคลุมพื้นที่ในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก มีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำและรักษาความสมดุลของอ่างเก็บน้ำผ่านโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบความยาว 491.8 กิโลเมตร”

นอกจากนี้ ยังมีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเข้ามาเสริมในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา มีการประสานงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เน้นการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บเติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำหลักต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยจะดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น