xs
xsm
sm
md
lg

จันทบุรีวางแผนจัดการน้ำเป็นระบบรับมือภัยแล้งปี 63 คาดรุนแรง-ยาวนาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - จันทบุรี วางแผนจัดการน้ำเป็นระบบรับมือภัยแล้งที่อาจรุนแรงและยาวนานจนกระทบต่อชาวสวนในพื้นที่ หลังปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนหลักและอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างน่าตกใจ

วันนี้ (2 ม.ค.) นายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล และนายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ร่วมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าในปีนี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และประชาชนผู้ใช้น้ำในพื้นที่ยาวนาน และรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี ให้ข้อมูลว่า ในปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักและอ่างกักเก็บน้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี มีจำนวนลดลงอย่างน่าเป็นห่วง และจากข้อมูล ณ วันที่ 2 ม.ค.2563 พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนคิรีธารลดลงเหลือเพียง 63.850 ล้าน ลบ.ม. จากความจุสูงสุด 76 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 84.01 ของความจุเขื่อน

ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนพลวง มีจำนวน 67.668 ล้าน ลบ.ม. จากความจุสูงสุด 80.18 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 84.39 ของความจุ ขณะที่ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย จำนวน 10 ล้าน ลบ.ม. จากความจุสูงสุด 12 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83.33 ของความจุ

และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ มีจำนวน 48.541 ล้าน ลบ.ม. จากความจุสูงสุด 78 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62.23 ของความจุทั้งหมด ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำคลองประแกต 54.599 ล้าน ลบ.ม.จากความจุสูงสุด 60.26 ล้าน ลบ.ม.

เช่นเดียวกับปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองวังโตนด ที่มีจำนวน 4.380 ล้าน ลบ.ม. จากความจุสูงสุด 8.85 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 49.49 ของความจุ น้ำที่ฝายยางจันทบุรี ปริมาณน้ำ 3.000 ล้าน ลบ.ม. จากความจุสูงสุด 4.20 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71.43 ของความจุ และปริมาณน้ำที่ฝายยางท่าระม้า ปริมาณ 0.855 ล้าน ลบ.ม. จากความจุสูงสุด 0.83 ล้าน ลบ.ม.

โดยในที่ประชุมได้วางแนวทางบริหารจัดการน้ำช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.2563 ที่คาดว่าอาจจะเกิดวิกฤตภัยแล้ง ซึ่งจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีอาชีพเกษตรกรรมและต้องใช้น้ำในช่วงหน้าแล้งเพื่อบำรุงผลผลิต ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด และผลไม้อื่นๆ ที่เป็นผลไม้เศรษฐกิจสร้างรายได้แก่พื้นที่ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำให้ดีป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

นอกจากนั้น ยังจะประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ให้เตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้งและให้ใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า แบ่งปันน้ำเพื่อการเกษตรอย่างทั่วถึงและเพียงพอ












กำลังโหลดความคิดเห็น