xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์” ยันจัดสรรน้ำภาคตะวันออกเป็นตามแผน แนะเร่งสร้างแหล่งน้ำต้นทุนเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - “อลงกรณ์” นำหน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก พบยังไม่น่าเป็นห่วง แนะจัดทำโครงการเมกะโปรเจกต์สร้างแหล่งน้ำต้นทุนของตนเอง ขณะที่หน่วยฝนหลวงพร้อมประจำการทุกพื้นที่


วันนี้ (17 ม.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ สำนักงานชลประทานที่ 9 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 7 แห่ง มีปริมาณรวมประมาณ 671 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่าง

ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีจำนวน 55 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 542 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่าง เช่นเดียวกับปริมาณน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ ที่อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 30-50 ของลำน้ำ

ส่วนมาตรการรองรับวิกฤตขาดแคลนน้ำใน จ.ชลบุรีและระยอง ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เช่น บริษัท EAST WATER ที่ทำการเชื่อมต่อน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อลดการสูญเสียน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเกษตรบริเวณท้ายอ่างประแสร์ เนื่องจากมีการจัดสรรน้ำไว้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง

นอกจากนั้น การประปาส่วนภูมิภาค ยังได้ทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในจังหวัดชลบุรีได้กว่า 10 ล้าน ลบ.ม.

ไม่เพียงเท่านั้น กรมชลประทานยังได้จัดหาแหล่งน้ำจากบ่อดินเอกชนเพิ่มเติมอีกกว่า 20 ล้าน ลบ.ม. พร้อมได้ขอความร่วมมือไปยังการนิคมอุตสาหกรรม ให้ลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10

รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังเผยถึงแนวทางในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วนว่า คือการผันน้ำจาก จ.จันทบุรี ไปยังแหล่งกักเก็บน้ำใน จ.ระยอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ด้วยการผันน้ำจากคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ผ่านท่อส่งน้ำระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 9 เครื่อง อัตราการสูบ 5 ลบ.ม.ต่อวินาที

โดยจะดำเนินการสูบผันน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝน โดยมีระยะเวลาการสูบน้ำ 5 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ไปจนถึงเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีปริมาณน้ำประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม.

“กรมชลประทานยังเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากทุกอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายและให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนในปีหน้า” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า การเดินทางลงพื้นที่ จ.ชลบุรี และพบปะเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง และ จ.จันทบุรีในครั้งนี้ เพื่อติดตามภาพรวมการการจัดสรรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่มีจำนวน 1,540 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ใช้ไปแล้วประมาณ 600 ล้าน ลบ.ม.

และน้ำส่วนที่เหลือจะต้องแบ่งใช้ในภาคเกษตรกรรม ประมาณ 40% ดูแลระบบนิเวศ 8% ภาคอุตสาหกรรม 11% อุปโภคบริโภค 9% และอื่นๆ อีก 15% ที่จะต้องบริหารจัดการให้เพียงพอระหว่างวันที่ 1 พ.ย.2562-30 เม.ย.2563

นายอลงกรณ์ เผยว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกอยู่ในระดับที่น่าพอใจและเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในภาคธุรกิจท่องเที่ยว อุตสาหกรรม รวมทั้งภาคครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญเรื่องการติดตามการบริหารจัดการน้ำ การให้ความสำคัญกับโครงการอีอีซีที่จะต้องมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ด้วยการเร่งรัดโครงการระบบเชื่อมโยงน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุน

รวมทั้งการจัดโครงการเชื่อมโยงการใช้แหล่งน้ำดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา ที่ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ ได้เริ่มเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อหาแนวทางในการแลกเปลี่ยนน้ำกับวัตถุดิบที่มีในประเทศไทย

และที่สำคัญคือการจัดทำโครงการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีความพร้อมและเหมาะสม ซึ่งรัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยฝนหลวงเข้าประจำการในพื้นที่เข้าเงื่อนไขความพร้อมในการจัดทำฝนหลวงแล้ว

“ภาคตะวันออกมีข้อด้อยที่การไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนเป็นของตัวเองจึงทำให้ต้องผันน้ำจากที่ต่างๆ มาช่วย จึงจำเป็นต้องผลักดันให้มีการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์เพื่อรองรับการผันน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนต่างๆ หรือแม้แต่การต่อเชื่อมน้ำจากแหล่งน้ำในลุ่มน้ำใหญ่ในพื้นที่เพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับใช้ใน 5 ส่วนหลักให้เพียงพอต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าว

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำใน จ.ชลบุรี แล้ว ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะยังได้เดินทางต่อไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่ จ.ระยอง และจันทบุรีอีกด้วย
















กำลังโหลดความคิดเห็น