xs
xsm
sm
md
lg

เผยสถานการณ์น้ำต้นทุนเมืองจันท์ พอเลี้ยงเกษตรแปลงใหญ่-ครัวเรือนถึงสิ้นแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งจันทบุรี พบเกษตรกรหลายพื้นที่ห่างไกลเริ่มเดือดร้อนจนบางส่วนต้องเจาะน้ำบาดาลช่วย ขณะที่แหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่เพียงพอเลี้ยงเกษตรแปลงใหญ่-ครัวเรือนถึงสิ้นแล้ง  
 
เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (17 ม.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่บริเวณที่ทำการอ่างเก็บน้ำศาลทราย ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ เพื่อรับทราบแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและเยี่ยมชมการดำเนินงานเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนศาลทราย ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ใช้น้ำจากเขื่อนศาลทราย โดยมี น.ส.ธิดารัตน์ สัตถี ประธานกลุ่มนำเครือข่ายเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนกว่า 50 ราย ซึ่งทุกรายได้มาตรฐาน GAP ให้การต้อนรับ

และในปี 2562 ที่ผ่านมา ผลผลิตทุเรียนที่ใช้น้ำจากเขื่อนศาลทรายบำรุง ได้ผลผลิตรวม 1,095 ไร่ และมีผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.ประมาณ 1,892 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 180 ล้านบาท จากราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะนำผลผลิตไปขายให้ล้งรับซื้อใน อ.เขาคิชฌกูฏ และใกล้เคียง รวมทั้งสหกรณ์การเกษตรอำเภอเขาคิชฌกูฏ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การเก็บน้ำต้นทุนของเขื่อนศาลทราย ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2540 มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันอุทกภัย และกำหนดให้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในฤดูแล้ง

โดยเป็นเขื่อนดินมีความจุเขื่อนสูงสุดที่ 12 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากอ่างศาลทรายเป็นพื้นที่ประมาณ 16,530 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เกิดประโยชน์ด้านชลประทาน จำนวน 13,900 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 ฝั่งแม่น้ำจันทบุรี จาก ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ ถึง ต.ท่าหลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำศาลทราย มีปริมาณน้ำ 8,400 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 ของความจุอ่าง ถือว่าเพียงพอแก่ภาคการเกษตร และอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.จันทบุรี เริ่มส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่มีพื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำแล้ว และบางแห่งต้องอาศัยน้ำบาดาลเพื่ออุปโภคบริโภค ส่วนบางแห่งต้องปล่อยให้ต้นไม้ยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ

แต่ในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างพะวาใหญ่ อ่างประแกต อ่างหางแมว และอ่างเก็บน้ำวังโตนด ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน

ส่วนด้านการเกษตร รัฐบาลมีนโยบายใช้รูปแบบการตลาดนำการผลิต ซึ่งในปีนี้มั่นใจว่าผลไม้ของไทยที่ติดอันดับ 6 ของการส่งออกผลไม้โลกจะขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกร แต่เกษตรกรจะต้องรักษามาตรฐาน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเกษตรแปลงใหญ่ และส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก












กำลังโหลดความคิดเห็น