xs
xsm
sm
md
lg

“ถาวร” สั่งการบินไทยลดรายจ่ายส่วนเกิน-ลุยฟ้อง “โรลส์-รอยซ์” เรียกค่าเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
“ถาวร” สั่งการบินไทยเร่งลดจ่าย เข้มงวดป้องกัน “ไวรัสโคโรนา” พร้อมดูแลสิทธิผู้โดยสาร ด้าน “สุเมธ” ลุยฟ้อง “โรลส์-รอยซ์” เรียกค่าเสียหาย เผย ก.พ.ชงบอร์ดเคาะแผนจัดหาเครื่องบิน 38 ลำส่ง “คมนาคม” ใน 31 มี.ค. “สุเมธ” เผยต้นปีเจอปัจจัยลบเพียบ ยังหวังสถานการณ์จะคลี่คลาย

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะฯ ได้ประชุมติดตามผลการดำเนินงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ชี้แจงข้อมูล

นายถาวรกล่าวว่า ได้กำชับให้เข้มงวดมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา ซึ่งการบินไทยสามารถควบคุมได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามระเบียบทางการบิน ทั้งนี้ ให้เตรียมพร้อมรับมาตรการข้อบังคับทางการบินในการควบคุมสายการบินที่ถูกร้องเรียนหรือเอาเปรียบผู้บริโภค เพื่อรักษาสิทธิของผู้โดยสาร กรอบความรับผิดชอบของสายการบินกรณีล่าช้าหรือยกเลิกเที่ยวบิน ที่จะต้องคืนค่าโดยสารโดยขึ้นอยู่กับอัตราช่วงเวลาความล่าช้าและความเสียหายที่เกิดขึ้น การตรวจสอบระมัดระวังปัญหาจากการซ่อมเครื่องยนต์ที่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้บริการและการวางแผนการซ่อมให้เกิดประสิทธิภาพส่งผลกระทบน้อยที่สุด

สำหรับการเจรจาค่าเสียหายกับ RollsRoyce ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจา หากในเดือน ก.พ.ยังไม่ได้ข้อยุติจะดำเนินการทางกฎหมาย โดยยื่นฟ้องศาลอังกฤษ จากกรณีที่เครื่องบินบินไม่ได้เพราะเครื่องยนต์มีปัญหาและรออะไหล่เป็นเวลานาน บริษัทต้องขาดรายได้จากเครื่องบิน 15 ลำ ซึ่งนายสุเมธจะเดินทางไปอังกฤษเพื่อหารือกับที่ปรึกษากฎหมายถึงการเรียกร้องค่าเสียหาย

นอกจากนี้ ยังให้ดำเนินมาตรการการลดค่าใช้จ่ายการจ้างงาน Outsource จำนวน 10,000 คน ลง10% และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายตั๋ว มุ่งความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะทางระบบออนไลน์ที่มีผู้นิยมใช้จำนวนมาก

ด้าน นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า ความคืบหน้า โครงการจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำ ซึ่งบอร์ดได้เห็นชอบการจัดหาเครื่องบินเพื่อทดแทนเครื่องบินปลดระวางจำนวน 17 ลำ โดยให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับฐานะการเงินและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะนำผลศึกษาที่ปรับปรุงล่าสุดเสนอที่ประชุมบอร์ดพิจารณาในเดือน ก.พ. ส่วนของรายละเอียด เช่น จำนวน รวมถึงแหล่งเงินทุน วิธีจัดหา ที่ไม่เป็นภาระทางการเงินในระยะยาว จะนำเสนอที่ประชุมบอร์ดในเดือน มี.ค. จากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563

ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) การบินไทยได้จัดส่งเอกสารการคัดเลือกให้แก่เอกชนผู้ประสงค์ร่วมทุนเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดการยื่นข้อเสนอของเอกชนผู้ประสงค์ร่วมทุนภายในวันที่ 6 มี.ค.นี้ และจะเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรองและหาข้อสรุปเพื่อนำผลการเจรจาผลการคัดเลือก และร่างสัญญาร่วมทุน เสนอขอความเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในเดือน ส.ค. 2563 ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนผู้ประสงค์ร่วมทุนภายในเดือน ส.ค. 2563 และ เปิดดำเนินกิจการได้ประมาณเดือน เม.ย. 2566

นายสุเมธกล่าวยอมรับว่า สถานการณ์ปีนี้อยู่ในภาวะยากลำบาก ตั้งแต่ต้นปี 63 พบกับสถานการณ์ 3 เรื่อง ได้แก่ ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ซึ่งยุติเร็ว ต่อมาเป็นเรื่องเครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิ้ง 777-300 ER ของบริษัทเกิดระเบิดก่อนบินขึ้นครั้งหลังสุดเกิดกับเที่ยวบินที่จะบินไปภูเก็ต ซึ่งภายหลังจากนั้นสำนักงานการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) สั่งให้เปลี่ยนเครื่องยนต์ GE 90115B ทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ดังกล่าวที่ใช้กับเครื่องบินทั้ง 10 ลำ

และขณะนี้ กรณีการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา จากประเทศจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบิน แต่บริษัทมีเส้นทางบินไปจีนไม่มากอาจจะมีผลกระทบไม่มาก ซึ่งการบินไทยมีมาตรการในการป้องกัน และดูแลผู้โดยสารจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยในวันที่ 28 ม.ค. การบินไทยจะมีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบนเครื่องบินและอบเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสาร

สำหรับเดือน ม.ค. 63 มีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor)เฉลี่ยที่ 80% ซึ่งคาดหวังว่า สถานการณ์ในไตรมาส 1/2563 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน โดยในเดือน ก.พ.-มี.ค.ประเมินว่าจะดีขึ้น และคาดว่าทั้งปี 63 อัตรา Cabin Factor จะอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 80% ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อน






กำลังโหลดความคิดเห็น