xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดแผนฟื้นฟูฯ-ล้างหนี้ ขสมก.แสนล้าน แฉสอดไส้จ้างเอกชนเดินรถจะยิ่งแย่หนัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อาการป่วยหนักต้องรักษาด่วนน้องๆ การบินไทย ก็คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. นี่แหละ โดยเมื่อวันก่อน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลางโหม นั่งเป็นประธานประชุม ได้เคาะแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อล้างหนี้ ล้างการขาดทุน ที่มีตัวเลขอยู่ 1.27 ล้านบาท พร้อมเป้าทำกำไรในอีกสิบปีข้างหน้า

แต่ดูเหมือนแผนที่วางไว้คงไม่ได้เดินหน้าง่ายๆ เมื่อ สหภาพแรงงาน ขสมก. ตั้งข้อสังเกตว่า แผนฟื้นฟูฯ ที่ว่าจ้างให้เอกชนเข้ามาเดินรถแทนจะยิ่งทำให้ ขสมก. ย่ำแย่ เพราะมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นแทนที่จะมีรายได้เข้ามาเผลอๆ จะขาดทุนป่นปี้หนักขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นเป้าหมายจะล้างขาดทุนทำกำไรก็จะเป็นได้แค่ฝันกลางวันลมๆ แล้งๆ และวนกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่เหมือนพี่ใหญ่การบินไทยอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอกเล่ารายละเอียดแผนฟื้นฟูใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 เช่น การจัดหารถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 2,511 คัน จากการซื้อและเช่า เป็นการจ้างวิ่งตามระยะทาง ปรับปรุงเส้นทางเดินรถไม่ให้ทับซ้อน เปลี่ยนค่าโดยสารจาก 15-20-25 บาท ตามระยะทาง เป็น 30 บาทต่อวันไม่จำกัดเที่ยว เป็นต้น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ และการบริหารจัดการหนี้อย่างละเอียด เพื่อเสนอ ครม. ภายในเดือนมิถุนายน 2563 นี้

สำหรับเรื่องที่จะนำเสนอ ครม. มี 4 ประเด็นหลัก คือ ทบทวนมติ ครม. เดิม เพื่อให้ ขสมก. เช่ารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และจ้างเอกชนเดินรถบริการ (NGV) จำนวน 1,500 คัน, ขอจัดสรรงบประมาณ ประจำปี 2565 สำหรับโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด จำนวน 5,301 คน วงเงิน 4,560 ล้านบาท, ขอให้กระทรวงการคลัง รับภาระหนี้สิน 127,786.1 ล้านบาท และขอเงินอุดหนุนค่าบริการเชิงสังคม (PSO) จำนวน 7 ปี วงเงิน 9,674 ล้านบาท
นายศักดิ์สยาม เล่าสภาพปัจจุบัน สภาพรถ ขสมก. เก่า และชำรุด ใช้งานมากว่า 20 ปี อีก 3 ปี อะไหล่จะเลิกผลิต มีปัญหาค่าเหมาซ่อมสูง และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ทำให้มีผลประกอบการขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2519 และถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 มีหนี้สินรวม 123,824.9 ล้านบาท หรือขาดทุนประมาณ 360 ล้านบาทต่อเดือน (ดอกเบี้ยจ่าย 233 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นหนี้จากการออกพันธบัตร จำนวน 64,339.1 ล้านบาท และหนี้เงินกู้ อีก 63,446.9 ล้านบาท ซึ่งจะมีกำหนดครบชำระทยอยแต่ละปี และตามแผนฟื้นฟู ขสมก.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง จะเข้ามาดูแลรับภาระหนี้

สำหรับแผนการปรับปรุงเส้นทางเดินรถจาก 269 เส้นทาง เป็น 162 เส้นทาง (ขสมก. 108 เส้นทาง, รถร่วมเอกชน 54 เส้นทาง) เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทับซ้อนเส้นทาง ขสมก. จะจัดหารถ EV จำนวน 2,511 คัน ในรูปแบบการจ้างวิ่งจ่ายค่าเช่าตามระยะทาง เอกชนต้องรับภาระค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงทั้งหมด โดยเลือกรายที่เสนอค่าจ้างวิ่งต่ำสุด ซึ่งจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจร.) การเดินรถเฉลี่ยจะอยู่ที่ 240 กม.ต่อคันต่อวัน ดังนั้น ต้นทุนหลังจากนี้ จะอยู่ที่ราคาประมูลของเอกชนเท่าไร นำมาคูณกับจำนวนรถที่เช่า ซึ่งคาดว่าจะมีต้นทุนค่าจ้างวิ่งประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ปัจจุบัน ขสมก. มีต้นทุนการบริการกว่า 50 บาทต่อกม. ดังนั้น เอกชนต้องเสนอราคาที่ต่ำกว่านี้

ส่วนรถร่วมเอกชนมี 54 เส้นทางนั้น จะเป็นรถ NGV จำนวน 1,500 คัน ซึ่ง ขสมก. จะจ้างให้เอกชนมาร่วมเดินรถ โดยจ่ายค่าเช่าวิ่งตามกิโลเมตร เพื่อให้โครงสร้างค่าโดยสารเหมือน ขสมก. อยู่ที่ 30 บาทต่อวัน ไม่จำกัดเที่ยว หากไม่จ้างเอกชนวิ่ง ประชาชนจะต้องจ่ายค่าโดยสารเส้นทางของรถร่วมเอกชน ที่ 15-20-25 บาท

ทั้งนี้ หลังครม.อนุมัติ ขสมก.จะเร่งออกทีโออาร์เปิดประมูลรถจ้างวิ่ง 2,511 คัน ในเดือนกรกฎาคม –กันยายน 2563 ลงนามสัญญาปลายกันยายน 2563 เริ่มรับมอบรถคันแรก ในมีนาคม 2564 ส่งมอบเดือนละ 400 คัน ครบใน 7 เดือน คือ กันยายน 2564 กำหนดระยะเวลาสัญญาเช่าวิ่ง 7 ปี แบ่งออกเป็น 3 สัญญา จากก่อนหน้านี้จะให้เป็นสัญญาเดียว แต่เกรงว่าจะเกิดการผูกขาด

ส่วนรถร่วมเอกชนที่จะเข้ามารับจ้างวิ่ง 54 เส้นทาง จำนวน 1,500 คัน เริ่มส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2564 เดือนละ 300 คัน ครบในกันยายน 2564

“แผนฟื้นฟูใหม่ จะลดค่าครองชีพประชาชน ใช้ 30 บาทต่อวัน นั่งไม่จำกัดเที่ยวและเส้นทาง ผู้สูงอายุจ่าย 15 บาท ลด 50% บัตรรายเที่ยว 15 บาท บัตรรายเดือน เช่น นักเรียน นักศึกษา 630 บาทต่อเดือน หรือ 21 บาทต่อวัน บุคคลทั่วไป 720 บาทต่อเดือน หรือ 24 บาทต่อวัน ซึ่งก่อนเกิดโควิด-19 มีผู้ใช้บริการรถเมล์ประมาณ 2 ล้านคนต่อวัน หากอนาคตมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่ม จะเพิ่มจำนวนรถที่เช่าจ้างวิ่งรถได้ง่าย” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เป้าหมายแผนฟื้นฟู จะทำให้ ขสมก. มีผลดำเนินงาน EBITDA เป็นบวก ในปี 2572 หรือไม่ขาดทุนอีกต่อไป โดยจะมีการปรับลดพนักงานต่อรถ 1 คน จาก 4.65 คน เหลือ 2.75 คน และจะมีการเกษียณอายุก่อนกำหนด จำนวน 5,301 คน ใช้เงิน 4,560 ล้านบาท จะไม่มีการรับพนักงานเพิ่มแทนผู้เกษียณ ซึ่งคนขับรถที่เป็นพนักงาน ขสมก. จะเกษียณหมดในปี 2603 หลังจากนั้น คนขับรถจะเป็นของเอกชนที่นำรถมารับจ้างวิ่งทั้งหมด

นอกจากนี้ จะขอรับเงินสนับสนุน (PSO) เป็นเวลา 7 ปี (65-71) จำนวน 9,674 ล้านบาท โดย PSO ปีแรกประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท และมีแผนหารายได้เพิ่มจากการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจ โดยให้เอกชนร่วมทุน ที่อู่บางเขน เนื้อที่ 11 ไร่เศษ อู่มีนบุรี กว่า 10 ไร่

แผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงใหม่นี้ มีตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก. เป็นเดิมพัน “ถ้าแผนฟื้นฟูไม่สำเร็จ ผมพร้อมพิจารณาตัวเองเปิดทางให้คนอื่นมาบริหาร ขสมก.” นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผอ.ขสมก. ลั่นวาจา
เขายังเชื่อมั่นว่าในแผนฟื้นฟูฯ ที่เอาประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ลดค่าโดยสาร ยกเลิกโครงการจัดซื้อรถโดยสาร ตัดขาดกระบวนการเพิ่มหนี้ลดต้นทุนทุกประเภทจะทำให้ ขสมก.มีโอกาสรอด และการที่ขสมก.ไม่ต้องลงทุนเอง แต่หันมาใช้โมเดลเดียวกับต่างประเทศ ที่จัดจ้างเอกชนลงทุนจัดหารถเมล์ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ NGV เท่านั้น จะช่วยลดมลภาวะโดยเฉพาะละอองฝุ่น pm 2.5 อีกด้วย

ขณะที่แผนฟื้นฟูดูจะทำให้ ขสมก. มีความหวังตามที่รัฐมนตรีศักดิ์สยาม กับ ผอ.ขสมก.ว่าไว้ แต่สำหรับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. กลับมองสวนทางไปแบบคนละเรื่องเดียวกันในส่วนของแผนฯ ที่เปิดทางให้รถร่วมเอกชนเข้ามารับจ้างวิ่ง 54 เส้นทาง จำนวน 1,500 คัน

ดูคล้ายๆ กับว่ามีรายการ “สอดไส้” เอื้อประโยชน์ให้เอกชนแบบเนียนๆ ในแผนฟื้นฟูฯ นี้ หรือไม่? เรื่องนี้ นายบุญมา ป๋งมา ประธาน สหภาพรัฐวิสาหกิจขสมก. ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านแล้วด้วย

ประธาน สร.ขสมก. บอกว่า ตามแผนปรับปรุงแผนการพื้นฟูกิจการองค์การ (TOR) การจ้างเอกชนมาเดินรถในลักษณะจ้างรถ/คน/น้ำมันเชื้อเพลิง/อู่จอดรถ จำนวน 1,500 คัน นั้น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการจ้างเอกชนมาเดินรถในส่วนนี้ในเส้นทาง 250 กม./วัน/คัน กม.ละ 3.27 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 13,976,250 บาท/วัน และในหนึ่งเดือน คิดเป็นจำนวนเงิน 419,287,500 บาท

อีกทั้งยังให้ข้อมูลว่า ในแต่ละวัน รถเมล์ทั้ง 2,800 คัน ของ ขสมก. มีรายได้ประมาณ 9 ล้านบาท เฉลี่ยรายได้ต่อคันอยู่ที่ 3,500 บาท แต่ถ้าจ้างเอกชนมาวิ่งรถอีก 1,500 คัน จะต้องเสียค่าจ้างวันละ 13 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคันละ 8,500 บาท ซึ่งถือว่าสูงกว่ารายได้ที่รับต่อวันอยู่ 5,000 บาท เมื่อขาดทุนจะต้องไปดึงเงินชดเชยกรณีที่รัฐวิสหกิจขาดทุน หรือ PSO มาจ่ายส่วนต่างตรงนี้ จะยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง

ประธาน สร.ขสมก. ข้อสังเกตด้วยว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 กระทรวงคมนาคม ได้จัดเวิร์กช็อป แผนปรับปรุงแผนการฟื้นฟูกิจการองค์การ ในวันดังกล่าวไม่มีวาระเรื่องจ้างเอกชนมาเดินรถจำนวน 1,500 คัน แต่อย่างใด ดังนั้น หากจะจ้างเอกชนมาเดินรถ กรมการขนส่งทางบก ควรจะเป็นผู้ว่าจ้างเอง ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 เพราะ ขสมก. เป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งเท่านั้น

แผนฟื้นฟูฯขสมก.ต้องทำอย่างเข้มข้นจริงจังไมใช่ลูบๆ คลำๆ อันไหนที่ทำไปแล้วจะมีปัญหาขาดทุนอีกอย่างที่สหภาพ สร.ขสมก.ท้วงติงก็ต้องทบทวนใหม่ก่อนนำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติ ไม่งั้นมีหวังล้มละลายตามรอยพี่ใหญ่การบินไทย ชัวร์!



กำลังโหลดความคิดเห็น