xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าแผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับ “ศักดิ์สยาม” ล้มซื้อรถ-จ้างเอกชนเบ็ดเสร็จ-คลังปลดหนี้กว่า 1 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ฉบับปรับปรุงล่าสุด ที่กระทรวงการคลังรับภาระปลดหนี้ก้อนใหญ่ 127,786.1 ล้านบาท โดยหวังว่าจะสามารถฟื้นฟู ขสมก.ที่ประสบผลขาดทุนยาวนานมาตั้งแต่ปี 2519 โดยหลังปี 2572 จะต้องไม่ขาดทุนอีก
ย้อนไปสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2556 อนุมัติจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท

ปี 2557 รัฐบาล คสช.ขณะนั้น ขสมก.มียอดหนี้สะสมอยู่ประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท ได้ทำแผนฟื้นฟู กรอบเวลาดำเนินการ 10 ปี (2558-2567) เสนอให้กระทรวงการคลัง รับภาระหนี้ราว 65% หรือประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท พร้อมแผนจัดหารถโดยสาร ใช้ก๊าซธรรมชาติ NGV จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท

โดยได้นำร่องจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คันวงเงิน1,738 ล้านบาทก่อน แต่! การประมูลมีปัญหาร้องเรียน ฟ้องร้อง ใช้เวลาเกือบ 5 ปี กว่าจะได้เซ็นสัญญา กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN - CHO นำโดยบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 4,261 ล้านบาท อายุสัญญา 10 ปี


แผนจัดหารถใหม่ต้องปรับเปลี่ยนอีกในปี 2561 จากรถ 3,183 คัน เป็น 3,000 คัน ประกอบด้วย 1. รถ NGV จำนวน 489 คัน (ประมูลแล้ว ) 2. ปรับปรุงสภาพรถโดยสาร NGV (เดิม) จำนวน 323 คัน 3. จัดซื้อรถไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) จำนวน 35 คัน 4. จัดซื้อรถโดยสารไฮบริด จำนวน 1,453 คัน วงเงิน 13,982.392 ล้านบาท 5. เช่ารถโดยสารใหม่ จำนวน 700 คัน (เช่ารถไฮบริด 400 คัน, เช่ารถ NGV 300 คัน)

โดยระหว่างเตรียมเสนอ ครม.ทบทวนมติจัดหารถเดิม ... ขสมก.ได้ประชาพิจารณ์ จัดทำทีโออาร์ เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประมูลเช่ารถโดยสารไฮบริดและรถNGV ไปด้วย

แต่! มีรัฐบาลใหม่ ...รมว.คมนาคมเปลี่ยน จาก “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เป็น “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” นโยบายซื้อรถเปลี่ยน ขสมก.ยกเลิกประมูลรถโดยสารไฮบริดและรถ NGV

“ว่ากันว่า...มีเอกชนบางรายถึงขั้นเจ็บหนัก เพราะได้มีการลงทุนจัดหารถไว้ รอเซ็นสัญญากับ ขสมก.แล้ว”

ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตและประกอบรถยนต์โดยสารระบุว่า แม้ ขสมก.จะเป็นผู้ให้บริการเดินรถรถเมล์มาเป็นเวลานานแต่ ขสมก.มีความรู้ในเรื่องรถโดยสารน้อยมาก โครงการจัดซื้อรถของ ขสมก.ที่ผ่านมาล้วนเกิดจากเอกชนที่ตั้งโครงการนำเสนอทั้งสิ้น

ทุกโครงการจึงมีการจัดสรรเงินทอนไว้แล้ว การเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยน รมต.ใหม่ จึงแทบจะไม่มีผลต่อโครงการ...ยกเว้น แบ่งเค้กไม่ลงตัว!

เปิดรายละเอียด แผนฟื้นฟู “เสี่ยโอ๋...ศักดิ์สยาม”


“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขสมก.มีผลขาดทุนสะสมต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2519 และถึงวันที่ 31 มี.ค. 2562 มีหนี้สินรวม 123,824.9 ล้านบาท หรือขาดทุนประมาณ 360 ล้านบาทต่อเดือน โดยเป็นดอกเบี้ยจ่ายถึง 233 ล้านบาท ขณะที่ประเมินภาระหนี้สินถึง 30 ก.ย. 2564 พบว่าจะเพิ่มเป็น 127,786.109 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้จากการออกพันธบัตร จำนวน 64,339.1 ล้านบาท และหนี้เงินกู้ อีก 63,446.9 ล้านบาท

นอกจากนี้ ปัจจุบันรถ ขสมก.มีสภาพเก่าและชำรุดทรุดโทรมอย่างมากเนื่องจากใช้งานมากว่า 20 ปี และรถบางรุ่นอีก 3 ปี อะไหล่จะเลิกผลิตแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาค่าเหมาซ่อมสูง ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานสูงไปด้วย

แผนฟื้นฟูจึงมีเป้าหมายเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยเก็บค่าโดยสารที่ 30 บาท/คน/วัน (ขึ้นได้ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) มีการปรับเส้นทางเดินรถจาก 269 เส้นทางเป็น 162 เส้นทาง (ขสมก.108 เส้นทาง รถร่วมเอกชน 54 เส้นทาง) ไม่มีทับซ้อน ช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัด, ใช้รถ NGV และรถ EV ประกอบในประเทศ ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 50% โดยในปี 2572 ขสมก.จะไม่ขาดทุน

และยังจะมีรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจ 2 แห่งที่อู่บางเขน เนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา และอู่มีนบุรี เนื้อที่ 10 ไร่ 28 ตารางวา อีกด้วย


คลังรับ “ใช้หนี้-หนุน PSO-เออร์รีรีไทร์” รวม 1.42 แสนล้าน

แผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับนี้ มีเงื่อนไขที่ กระทรวงการคลัง จะรับภาระหนี้สิน 127,786.1 ล้านบาท จัดงบอุดหนุนค่าบริการเชิงสังคม (PSO) ให้เป็นเวลา 7 ปี วงเงิน 9,674 ล้านบาท และจัดงบประมาณสำหรับโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์รีรีไทร์) พนักงาน 5,301 คน วงเงิน 4,560 ล้านบาท

ปัจจุบัน ขสมก.มีพนักงาน 13,963 คน เท่ากับ พนักงาน 4.65 คน : รถ 1 คัน ซึ่งเป้าหมายของแผนฟื้นฟูคือการปรับโครงสร้างองค์กร และลดจำนวนพนักงานลงเหลือ 8,267 คน เพื่อลดสัดส่วนพนักงาน เป็น 2.75 คน : รถ 1 คัน

หากแผนฟื้นฟูขับเคลื่อน ขสมก.จะไม่มีการรับพนักงานใหม่ โดยจะจ้าง Outsource พนักงานสำนักงาน และพนักงานขับรถ ทดแทนพนักงานที่เกษียณอายุในแต่ละปี โดยเฉพาะพนักงานขับรถขสมก. นั้น จะครบเกษียณอายุคนสุดท้ายในปี 2603 หลังจากนั้น คนขับรถเมล์จะเป็นพนักงานของบริษัทที่ขสมก.จ้างวิ่งบริการทั้งหมด

ล้มแผนซื้อรถ-จ้างเอกชนเหมาเบ็ดเสร็จวิ่งบริการ

ตามข้อมูลในแผนฟื้นฟูใหม่ ระบุว่า ขสมก.ต้องจัดหารถอีก 2,511 คัน เป็นรถไฟฟ้า (EV) ทั้งหมด เพื่อนำมาวิ่งบริการ 108 เส้นทาง โดยจะใช้วิธีจ้างเอกชนวิ่งบริการ จ่ายค่าจ้างวิ่งตามกิโลเมตรบริการ ซึ่งเอกชนต้องรับผิดชอบจัดหารถ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงทั้งหมด โดย ขสมก.จะนำรายได้จากค่าโดยสารจ่ายค่าเช่า

“ขสมก.ไม่ซื้อรถ/ไม่เช่ารถ... ไม่มีรถเป็นของตัวเอง ไม่ต้องซ่อมรถเอง...เท่ากับตัดวงจรทุจริตเหมาซ่อมภายในองค์กรได้เสียที”

รูปแบบเช่ารถ...จ้างวิ่ง ประเมินแล้วคุ้มกว่า ขสมก.ซื้อรถมาวิ่งบริการเองแน่นอน เพราะปัจจุบันรถ 1 คัน ขสมก.แบกต้นทุนถึง 54 บาท/กม. ขณะที่ประเมินเบื้องต้น วิธีเช่ารถและจ้างเอกชนวิ่งบริการนั้นจะมีราคากลางประมาณ 34 บาท/กม. ซึ่งเส้นทางเดินรถที่ปรับปรุงใหม่ ระยะทางวิ่งเฉลี่ยประมาณ 240 กม./วัน

โดยการประมูล รายไหนเสนอค่าเช่าต่ำที่สุด/กม.จะเป็นผู้ชนะ ซึ่งต้นทุนค่าจ้างจะอยู่ที่ประมาณ 8,000 กว่าบาท/ คัน/วัน

ขณะที่ ปัจจุบัน ขสมก.มีต้นทุนต่ำสุด คือ รถร้อนครีม-แดง 7,082 บาท/ คัน/วัน ส่วนสูงสุดเป็นรถปรับอากาศไฮบริด รุ่นเก่า 12,745 บาท/คัน/วัน ขณะที่รถปรับอากาศ NGV ล็อต 489 คันนั้น มีต้นทุนที่ 9,921 บาท/คัน/วัน

“ศักดิ์สยาม” กล่าวว่า เดิมรถ 2,511 คันนั้นจะประมูลสัญญาเดียว แต่...เกรงว่าจะมีปัญหาผูกขาด ..ดังนั้น อาจจะแบ่งย่อยเป็น 3 สัญญา ระยะเวลาประมาณ 7 ปี ครบสัญญาจะต้องทำการเปิดประมูลใหม่

สำหรับการจ้างเอกชนเดินรถนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ ขสมก.ได้ให้เอกชนเข้าร่วมเดินรถแบบสัญญาบริการเชิงคุณภาพ (Performance Based Contract : PBC) โดยเอกชนจัดหารถมาร่วมวิ่ง ขสมก.จะจ่ายค่าจ้างตามระยะทางเป็นกิโลเมตร “คันไหนวิ่งได้ระยะทางมาก จะได้เงินตอบแทนมาก" โดย ขสมก.จะรับภาระจ่ายค่าเชื้อเพลิง และจัดหาพนักงานขับรถกับพนักงานเก็บค่าโดยสารเอง

นอกจากนี้ เส้นทางเดินรถที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อนุญาตให้รถร่วมเอกชนอีก 54 เส้นทางนั้น ในแผนฟื้นฟูระบุว่า ขสมก.จะจ้างรถร่วมเอกชน เข้ามาร่วมเดินรถ เพื่อให้ใช้ระบบตั๋วและเก็บราคา30 บาท/คน/วัน เหมือนกัน โดยจะใช้รถอีก 1,500 คัน

ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้ประกอบการรถร่วมฯ ได้เคยนำเสนอแผนที่ขอให้ภาครัฐ ใช้วิธีจ้างเอกชนวิ่ง และเก็บค่าโดยสารเหมาราคาเดียว ขึ้นได้ทั้งวัน ไม่จำกัดเที่ยวและเส้นทาง...แต่!!! ไม่ได้รับการตอบสนอง ใดๆ จาก ขสมก.และกระทรวงคมนาคม

“ประชาชนได้ประโยชน์ มีรถเมล์ใหม่ติดแอร์ ค่าตั๋วถูก ..ส่วนเอกชนรับจ้างวิ่ง มีรายได้ชัดเจน ...ต่อไปนี้ จะไม่มีภาพรถเมล์ ขับแข่ง แซง ปาดหน้าเพื่อแย่งผู้โดยสารให้เห็นกันอีกแล้ว”

ชง ครม. มิ.ย.อนุมัติแผนใหม่ เปิดประมูลใน ก.ค.นี้...


ขสมก.วาง ไทม์ไลน์ว่าจะเสนอ ครม.ขออนุมัติภายในเดือน มิ.ย. 63 จากนั้น จะจัดทำ TOR เปิดประมูลรถ 2,511 คัน ในเดือน ก.ค.-ก.ย. 63 สรุปผลประชุมและเซ็นสัญญา ปลายเดือน ก.ย. 63 ผู้ชนะประมูลมีเวลาในการผลิตรถ 6 เดือน โดยกำหนดส่งมอบรถล็อตแรก 400 คันในเดือน มี.ค. 2564

จากนั้นจะต้องทยอยส่งมอบรถทุกเดือนๆ ละ 400 คัน โดยรถ 2,511 คันจะส่งมอบครบภายใน 7 เดือน (หรือในเดือนก.ย. 64)

ส่วนกรอบเวลา ของการจ้างรถร่วมเอกชน เดินรถ 54 เส้นทางจำนวน 1,500 คัน นั้น จะให้เริ่มเดินรถตั้งแต่เดือนพ.ค. 2564 โดยทยอยจัดหารถเดือนละ 300 คัน ซึ่งจะครบภายใน 5 เดือน

เดือน ก.ย. 64 จะมีรถเมล์ใหม่ วิ่งให้บริการประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 4,500 คัน ประกอบด้วย รถ EV 2,511 คัน, NGV489 คัน และรถร่วมเอกชน 1,500 คัน


ต้องยอมรับว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นรถของอนาคต เป็นเทรนด์ของโลก ส่วนรถใช้น้ำมันดีเซล และรถที่ใช้ก๊าซ NGV กำลังจะลดลงไปตามกระแสโลก ซึ่งนอกจากเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ายังมีระบบการจ่ายพลังงานที่ทำให้เครื่องยนต์สึกหรอน้อย ทำให้ค่าบำรุงรักษาต่ำอีกด้วย

แต่ทว่า! รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย แม้จะมีการพูดถึงมาหลายปีแล้วในวงการรถยนต์ส่วนบุคคล แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ไปถึงไหน ... ด้วยเพราะติดปัญหาหลายเรื่อง เช่น ราคาตัวรถที่สูง สถานีบรรจุไฟฟ้าที่ยังไม่สะดวก

ซึ่ง ขสมก.ต้องการรถเมล์ไฟฟ้าถึง 2,511 คัน ล็อตแรกจำนวน 400 คัน จะต้องส่งมอบในเดือน มี.ค. 64 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำนวนรถฟลีตใหญ่ เรื่องสำคัญเห็นจะเป็นระบบการจ่ายไฟฟ้า...สถานีชาร์จไฟฟ้า ขสมก.ได้มีการหารือ พูดคุย กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการไฟฟ้าแล้ว...ใช่หรือไม่

เพราะตามแผนงานที่ คนร.เห็นชอบนั้น หลังจากเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ นับไปอีก 9 เดือน รถเมล์ไฟฟ้าคันแรกจะต้องเริ่มวิ่งให้บริการแล้ว

นี่!เป็นเรื่องท้าทายสำหรับ ขสมก. เพราะที่ผ่านมามีปมปัญหาทุจริตประมูลซื้อรถมาตลอด การเปิดประมูลรอบนี้ จะเป็นตัวชี้วัดแรกว่า ขสมก.จะฟื้นฟูได้ตามเป้าหมาย หรือไม่

งานนี้คงต้องรอดูว่า รมว.คมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ในฐานะผู้มีอำนาจ จะคุมเกมดึง ขสมก.ขึ้นจากหลุมดำ พ้นจากวังวนเดิมๆ ให้คนกรุง..ได้ใช้บริการรถเมล์ดี... มีคุณภาพกันเสียที!


กำลังโหลดความคิดเห็น