รมว.คมนาคม แถลง คนร.เห็นชอบหลักการการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. วางเป้าหมายลดค่าครองชีพ ปชช. บรรเทาการจราจรติดขัด ลดมลพิษ ไม่รับเงินสนับสนุน เล็งให้ผลประกอบการเป็นบวกปี 2572 ปรับโครงสร้างลดพนักงาน
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตามกรอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 โดยการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูในปัจจุบันจึงถือเป็นการเริ่มต้นนับ 1 ในการยกระดับการให้บริการรถเมล์โดยสารให้มีคุณภาพ โดยหลังจากนี้ ขสมก. กระทรวงการคลัง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะต้องไปพิจารณาว่าจะมีการบริหารหนี้สินอย่างไร พร้อมทั้งกำหนดกรอบในการเริ่มทยอยชำระหนี้ ขสมก.ที่มีอยู่ 2 ส่วน รวมจำนวน 127,786 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้พันธบัตร วงเงิน 64,339 ล้านบาท และหนี้เงินกู้ 63,446 ล้านบาท ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบภายใน มิ.ย.นี้
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เป้าหมายในการฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ประกอบไปด้วย 1. เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยจะมีการจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาท/คน/วัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) รถใหม่ปัจจุบันจัดเก็บ 15-20-25 บาท/คน/เที่ยว การออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเติมเงินปกติ 30 บาท/คน/วัน บัตรผู้สูงอายุ 15 บาท/คน/วัน (ลด 50%) บัตรรายเที่ยว 15 บาท/เที่ยว บัตรรายเดือน (นักเรียน นักศึกษา 630 บาท/เดือน 21 บาท/วัน) บุคคลทั่วไป 720 บาท/เดือน 24 บาท/วัน
2. เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด จะจัดให้มีเส้นทางเดินรถที่ไม่ทับซ้อน จำนวน 108 เส้นทางของ ขสมก.จำนวน 54 เส้นทางของเอกชน จัดช่องทางการเดินรถเฉพาะรถโดยสารประจำทาง หรือบัสเลน กำหนดเส้นทางที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพตั้งแต่ 6 ช่องจราจรขึ้นไป ส่วนความถี่ในการปล่อยรถ โดยเฉลี่ย 5-10 นาที/เที่ยว
3. เพื่อลดมลพิษ และส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยใช้รถ NGV และรถ EV ที่ประกอบในประเทศไทย มีสัดส่วนของมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ในประเทศไทยทั้งหมด และเป็นรถชานต่ำที่เป็น UNIVERSAL DESIGN และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนของ ขสมก.อย่างยั่งยืน EBITDA เป็นบวกในปี 2572 (จากการดำเนินงาน) ปัจจุบัน รถ : พนักงาน = 1 : 4.65 ลดลงเป็น 1 : 2.75 ซึ่งตามกรอบที่ปรับปรุงดังกล่าวในการจัดหารถโดยสารจะมีการเช่ารถ EV จำนวน 2,511 คัน โดยจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตร โดยนำมาวิ่งให้บริการ 108 เส้นทางของ ขสมก.ที่จะทยอยการรับรถตั้งแต่เดือน มี.ค.-ก.ย. 2564 และจะจ้างเอกชนเดินรถ 1,500 คัน โดยจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตรบริการใน 54 เส้นทางของเอกชน ที่จะทยอยการรับรถตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย. 2564 โดยเป็นรถที่วิ่งเช่าตามระยะทาง เอกชนเสนอราคาต่ำสุดได้สัญญามีอายุสัญญาระยะเวลา 7 ปี
และ 5. เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อภาครัฐ โดย ขสมก.จะขอรับเงินสนับสนุน (PSO) ระยะเวลา 7 ปื ตั้งแต่ปี 2565-2571 รวมเป็นเงินประมาณ 9,674 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2572 จะมีผลการดำเนินงานเพียงพอกับรายจ่าย (EBITDA ไม่ติดลบ) ซึ่ง ขสมก.สามารถเลี้ยงตัวเองได้ไม่เป็นภาระต่อภาครัฐในอนาคต สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจ จะดำเนินการพัฒนาพื้นที่อู่บางเขน เนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา และมีนบุรี เนื้อที่ 10ไร่ 28 ตารางวา
“ในส่วนของกระบวนการตามแผนฟื้นฟูฯ หลังจากนี้นั้น หาก ครม.มีมติอนุมัติภายใน มิ.ย. 2563 จะเดินหน้าจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) ประกาศเชิญชวนเอกชนที่ต้องการรับเช่าในการวิ่งรถให้บริการในจำนวน 108 เส้นทางโดยคาดว่าจะดำเนินการลงนามให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2563 ส่วนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถจะไม่ทับซ้อนที่มีเส้นทางหลัก 40 เส้นทาง ต้องใช้เป็นเส้นทางวิ่ง/เส้นทางฟีดเดอร์ 15 เส้นทางรองรับประชาชนเชื่อมกับระบบอื่น เช่นรถไฟฟ้า เรือ รถที่วิ่งทางด่วน 24 เส้นทาง และวิ่งเป็นวงกลม 29 เส้นทาง เชื่อมต่อกับเส้นทางอื่นๆ” นายศักดิ์สยามกล่าว
รมว.คมนาคมกล่าวด้วยว่า สำหรับการพลิกฟื้น ขสมก.ให้กลับมาประกอบการได้อย่างเข้มแข็งไม่เป็นภาระกับงบประมาณรัฐนั้น ตามแผน ขสมก.ในระหว่างปี 2563-2571 จะขอรับเงินชดเชยจากรัฐอีกไม่เกิน 9,674 ล้านบาท ก่อนที่ผลประกอบการ ขสมก.จะกลับมาเป็นบวกในปี 2572 ขณะที่การจัดการเรื่องทรัพยากรบุคคล ที่ปัจจุบัน ขสมก.มีพนักงาน 13,961 คนในจำนวนนี้ มีจำนวนพนักงานขับรถกว่า 5,000 คน ขณะที่การจัดเช่ารถเมล์ใหม่จะมีลักษณะเช่ารวมคนขับ แต่ ขสมก ก็มีแผนที่จะให้เอกชนที่ได้งานโครงการจัดหารถเมล์ EV นำพนักงานใหม่มาขับรถตามสัญญาร่วมกับพนักงานขับรถของ ขสมก. ไปจนกว่าพนักงานจะทยอยเกษียณอายุ เพื่อไม่ให้กระทบสภาพการจ้าง รวมทั้งการจัดทำโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดจำนวน 5,301 คนใช้วงเงิน 4,560 ล้านบาท โดยในอนาคตหลังการปรับโครงสร้างองค์กรจะทำให้ ขสมก.มีพนักงานคงเหลือเพียง 8,267 คน