xs
xsm
sm
md
lg

แผนฟื้นฟูฯ"ขสมก."สู่ 5เป้าหมายยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับว่าเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของ “กระทรวงคมนาคม” ภายใต้การบริหารงานของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ที่นั่งแท่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จวบจนจะครบอายุ 1 ปี ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 นี้ ในการแก้ปัญหาหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดฯ ที่มีปัญหาการขาดทุน และหนี้สะสมมหาศาลหลักแสนล้าน อย่าง “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)”

ที่ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. และถือเป็นการนับ 1 ของ ขสมก. อีกครั้ง เพื่อสะสางปัญหาจนกระทบต่อการให้บริการประชาชนมาเป็นระยะเวลานาน

เมื่อกางดูประวัติอดีตที่สะสมมาอย่างยาวนาน สภาพปัญหาของ ขสมก. นั้น พบว่า ขสมก. ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2519 สะสมเรื่อยมาจนพอกหางหมูแยกเป็นหนี้ 2 ส่วน รวมจำนวน 127,786 ล้านบาท ได้แก่ หนี้พันธบัตร วงเงิน 64,339 ล้านบาท และหนี้เงินกู้ 63,446 ล้านบาท

โดยทยอยที่จะถึงกำหนดชำระแล้วด้วย ไม่เพียงเท่านั้น สภาพและจำนวนรถโดยสารก็มีสภาพเก่า ชำรุด ทรุดโทรม มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี พ่วงรวมไปถึงโครงสร้างองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีพนักงานจำนวนมาก แต่ยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญด้าน IT และอุปกรณ์ที่ไม่ทันสมัย ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต้นทุนในการดำเนินงานสูง นำมาสู่การฟื้นฟูในครั้งนี้

ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลมาสู่การให้บริการประชาชนในปัจจุบัน “รมต.ศักดิ์สยาม ” จึงได้เร่งเดินหน้าฟื้นฟู ขสมก. โดยมี 5 เป้าหมายการดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน พร้อมพลิกให้กลับมาสู่ความแข็งแกร่งในระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะอีกครั้ง

ประกอบด้วย 1.ลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ด้วยการจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาท/คน/วัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) รถใหม่ปัจจุบันจัดเก็บ 15-20-25 บาท/คน/เที่ยว นอกจากนี้ จะมีการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเติมเงินปกติ 30 บาท/คน/วัน บัตรผู้สูงอายุ 15 บาท/คน/วัน (ลด 50%) บัตรรายเที่ยว 15 บาท/เที่ยว บัตรรายเดือน (นักเรียน นักศึกษา 630 บาท/เดือน 21 บาท/วัน) บุคคลทั่วไป 720 บาท/เดือน 24 บาท/วัน

2.เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งนับเป็นหาหลักในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยแผนฟื้นฟู ขสมก. ในครั้งนี้ จะมีเส้นทางเดินรถที่ไม่ทับซ้อนกัน รวม 162 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางของ ขสมก. จำนวน 108 เส้นทาง และเส้นทางของเอกชน จำนวน 54 เส้นทาง ในการนี้จะมีการจัดหารถโดยสารจะมีการเช่ารถ EV ปรับอากาศ บอกลารถร้อนที่ไม่สะท้อนกับสภาพอากาศของไทย จำนวน 2,511 คันโดยจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตร โดยนำมาวิ่งให้บริการ 108 เส้นทางของ ขสมก. ที่จะทยอยการรับรถตั้งแต่เดือน มี.ค.-ก.ย. 2564 และจะจ้างเอกชนเดินรถ 1,500 คัน โดยจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตรบริการใน 54 เส้นทางของเอกชน ที่จะทยอยการรับรถตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย. 2564 โดยเป็นรถที่วิ่งเช่าตามระยะทาง เอกชนเสนอราคาต่ำสุดได้สัญญามีอายุสัญญาระยะเวลา 7 ปี

3.ลดมลภาวะและส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย โดยการใช้รถ NGV และรถ EV ที่ประกอบในประเทศไทย มีสัดส่วนของมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ในประเทศไทยทั้งหมด และเป็นรถชานต่ำที่เป็น UNIVERSAL DESIGN และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4.แก้ปัญหาการขาดทุนของ ขสมก. อย่างยั่งยืน โดยแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับดังกล่าวนั้น มีเป้าหมายจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาฯ (EBITDA) เป็นบวกในปี 2572 (จากการดำเนินงาน) ปัจจุบัน ขณะที่สัดส่วนของรถ : พนักงานนั้น จากเดิมรถ 1 คัน ใช้พนักงาน 4.65 คน ลดลงเป็นรถ 1 คัน ใช้พนักงาน 2.75 คน

5.ไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ โดย ขสมก. จะขอรับเงินสนับสนุน (PSO) ระยะเวลา 7 ปี กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2565-2571 รวมเป็นเงินประมาณ 9,674 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2572 จะมีผลการดำเนินงานเพียงพอกับรายจ่าย (EBITDA ไม่ติดลบ) ซึ่ง ขสมก. สามารถเลี้ยงตัวเองได้ไม่เป็นภาระต่อภาครัฐในอนาคต และรัฐจะรับภาระหนี้สินทั้งหมด ประกอบด้วย หนี้สะสม 127,786 ล้านบาท, โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์รี่รีไทล์) จำนวน 5,301 คน วงเงิน 4,560 ล้านบาท และขอเงิน PSO จำนวน 7 ปี วงเงิน 9,674 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น ขสมก. ยังมีแผนหารายได้เพิ่มจากการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจ โดยให้เอกชนร่วมลงทุน แบ่งเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่ อู่บางเขน เนื้อที่ 11 ไร่เศษ และอู่มีนบุรี กว่า 10 ไร่ โดยจากเดิมคาดการณ์ว่า จะทำให้ ขสมก. มีรายได้ประมาณ 40 ล้านบาท แต่งานนี้ “ศักดิ์สยาม” เชื่อว่า แผนฟื้นฟูฉบับนี้จะทำให้มีรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน รวมไปถึงการพิจารณาก่อสร้างช่องทางการเดินรถเฉพาะรถโดยสารประจำทาง (บัสเลน) ในเส้นทางที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพตั้งแต่ 6 ช่องจราจรขึ้นไป และความถี่ในการปล่อยรถโดยเฉลี่ย 5-10 นาที/เที่ยว

โดยสรุปแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุงนี้ รัฐบาลในอนาคตจะไม่ต้องรับภาระปัญหาหนี้ของ ขสมก. รวมถึงยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ ทั้งยังลดปัญหาการจราจร ลดการทับซ้อนของเส้นทาง และสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของ ขสมก. เองนั้น จะเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ลดการทับซ้อนเส้นทาง ก้าวสู่การเป็นองค์ที่ยั่งยืน

ขณะที่ ในส่วนของประชาชน ทั้งผู้ใช้รถโดยสารประจำทาง ผู้ใช้รถโดยสารกลุ่มคนพิเศษ ผู้ใช้รถใช้ถนนนั้น ผลที่จะได้รับจากแผนฟื้นฟู ขสมก.ในครั้งนี้ คือ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยมีการเดินทางได้สะดวก รวดเร็วขึ้น ด้วยการจราจรไม่ติดขัด มีการเดินรถในช่องทางบัสเลน ลดการทับซ้อนของเส้นทาง นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีด้วยการใช้รถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งหมดทั้งมวลรอลุ้นการพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนนี้










กำลังโหลดความคิดเห็น