ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นร้อนๆ ต้อนรับ ปลดล็อก เฟส 4 อนุญาตให้ร้านอาหารขายเครื่องดื่มแอลอฮอล์ ตั้งแต่ 14 มิ.ย. 2563 กรณีการโพสต์ภาพเหล้าเบียร์ในโซเชียลฯ หลายร้อยรายโดนหมายเรียกถูกจับปรับ 50,000 - 500,000 บาท เนื่องจากเข้าข่ายเป็นความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551
ในจำนวนหลายร้อยรายโดนหมายเรียกนั้นประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร นักวิจารณ์เครื่องดื่ม ผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประชาชนทั่วไป โดยทั้งหมดถูกร้องเรียนแจ้งจับและโดนหมายเรียกในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน
เบื้องลึกเบื้องหลังมีความไม่ชอบมาพากลหรือไม่ เพราะประเด็นโพสต์ภาพเหล่าเบียร์ถูกจับปรับนั้น เคยตกเป็นข่าวครึกโครมสร้างความแตกตื่นมาแล้วในช่วงปี 2560 จากกรณีไล่เช็คบิลดาราคนดังที่ทำกการโพสต์รูปภาพเหล้าเบียร์ลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งเข้าข่ายการโฆษณาและสื่อสารการตลาด กระทั่ง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รีบตั้งโต๊ะแถลงข่าวสยบความตื่นตระหนก ระบุว่า “ในกรณีที่ประชาชนทั่วไปโพสต์ภาพร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียล หากมิได้มีเจตนาเพื่อประโยชน์ในการค้าหรือส่งเสริมการตลาดก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 32”
ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้หลายคดีมีความย้อนแย้งกับข้อมูลกล่าว ไม่มีความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงออกมาให้ข้อมูลกับประชาชนถึงกระแสข่าวที่เกิดขึ้น กระทั่ง NGO เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) ออกมาตอบโต้ว่าแค่กระแสปั่นดรามา หวังล้มมาตรา 32 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจแอลกฮอล์ล จากนั้นกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแถลงสยบดรามาย้ำอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนปรนมาตรการอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉพาะซื้อกลับบ้านเท่านั้น เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม และผู้นำเข้า กลับมาเปิดกิจการตามปกติ พร้อมกับเผยแพร่ข่าวสารการกลับมาดำเนินธุรกิจผ่านทางสื่อออนไลน์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบ
ตลอดจนมีการดำเนินคดีกับเพจวิจารณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แอลฮอล์ ทำคอนเทนต์ให้ข้อมูลความรู้ ที่ไม่ได้โพสต์โฆษณาเชิงธุรกิจ หรือรับเงินสนับสนุนจากบริษัทน้ำเมา และที่สร้างความแตกตื่นอีกครั้ง คือ กรณีประชาชนคนธรรมดาทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือการโฆษณาใดๆ กลับถูกแจ้งจับออกหมายส่งตรงถึงหน้าบ้าน
ทั้งหมดโดนแจ้งจับเนื่องจากเข้าข่ายเป็นความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มีค่าปรับสูงตั้งแต่ 50,000 - 500,000 บาท สูงเสียยิ่งกว่าคดีอุกฉกรรจ์ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ฟังหนึ่งเสียงจากคนในแวดวงแอลกอฮอล์ นายอาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ นักชิมเบียร์เจ้าของเพจดัง อธิบายถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นสืบเนื่องการสั่งปิดกิจการชั่วคราวของภาครัฐ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารที่มีสต็อกสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอายุสั้น เช่น คราฟท์เบียร์ และไวน์องุ่น ได้รับผลกระทบเพราะสินค้าหมดอายุในช่วงวันห้ามจำหน่าย ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นมิอาจทวงคืนหรือขอรับการเยียวยาจากใครได้
ดังนั้น เมื่อมีการอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบกลับบ้านได้ จึงมีผู้ประกอบการหลายร้านที่พยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ใช้สื่อออนไลน์สื่อสารกับผู้บริโภคให้ทราบว่าร้านเปิดดำเนินการและมีสินค้าจำหน่าย เช่น การเขียนข้อความและแสดงรูปภาพผลิตภัณฑ์ ในเฟซบุ๊กแฟนเพจร้าน กลุ่มเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ในโปรไฟล์ส่วนตัวของเจ้าของกิจการเอง สิ่งนี้กลายเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกผู้แสดงภาพและข้อความประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วกว่า 400 ราย ให้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา ฐานฝ่าฝืนมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความผิดปรับตั้งแต่ 50,000 บาท จนถึง 500,000 บาท
ทำไมจู่ๆ ถึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง เหตุใดผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปหลายราย โดนหมายเรียกถูกจับปรับ จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงขั้นที่ว่า มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นกฎหมายเผด็จการกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งสังเกตุถึงการไล่เช็กบิลครั้งนี้ ประเด็นแรก เกิดข้อครหาเรื่องการตบทรัพย์ กินเงินส่วนแบ่งค่าปรับ อาจรู้เห็นทำกันเป็นขบวนการ สำหรับเงินส่วนแบ่งแบ่งเป็น 4 ส่วน เช่น ค่าปรับ 50,000 บาท แบ่งเป็น 1. สินบน (ผู้แจ้ง) 7,500 บาท 2. รางวัลเจ้าหน้าที่ 15,000 บาท 3. ค่าดำเนินงาน 7,500 บาท และส่งคลัง 20,000 บาท กรณีไม่มีผู้แจ้งหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการเองก็จะไปรับส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นมูลเหตุจูงใจทางอ้อมของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น หากจะให้เกิดความโปร่งใส เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกเลิกรางวัลนำจับ ส่งเงินส่วนแบ่งค่าปรับทั้งหมดเข้ารัฐ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากช่องโหว่ของกฎหมาย นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงช่องโหว่ของกฎหมายควบคุมฉบับนี้ มีความกำกวมภายคำว่า “ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่” ซึ่งสามารถตีความได้กว้างมากว่าลักษณะไหนเข้าข่ายกระทำผิด
ทั้งนี้ การที่มีอัตราค่าปรับสูงเนื่องจากกฎหมายมีความล้าหลัง เจตนาของกฎหมายมีไว้ควบคุมผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่โฆษณาสินค้าของตัวเอง ค่าปรับจึงมีราคาสูง 50,000 – 500,000 บาท กรณีเข้าข่ายโฆษณาทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ เป็นต้น แต่พอเข้าสู่ยุคดิจิตอลใครก็สามารถโพสต์ได้กลายเป็นการโฆษณาและสื่อสารการตลาดโดยไม่รู้ตัว มีความผิดตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
โดยตัวแทนชมรมผู้ประกอบการเกี่ยวกับคราฟท์เบียร์และนักวิจารณ์เบียร์ทางเลือก ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 4 มิ.ย. 2563 โดยชี้แจงถึงปัญหาของ มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมแอลกอฮอล์ อาทิ มีข้อความไม่ชัดเจน ทำให้มีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น มีอัตราค่าปรับสูงเกินไป มีการจัดสรรเป็นเงินรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ เป็นการกีดกันทางการค้ามิให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ที่มีศักยภาพในการจ่ายค่าปรับมากกว่า และเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ได้รับความยากลำบากในการประกอบธุรกิจในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ตลอดจนละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนในการแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มทางเลือกโดยสุจริตและไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน มีความซ้ำซ้อนในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การจัดโซนนิ่ง การจำกัดระยะเวลาขาย และห้ามจำหน่ายแก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นต้น โดยคณะตัวแทนฯ ได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ เร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขเยียวยาสถานการณ์โดยเร่งด่วน
ประเด็นต่อมา การตั้งเป้ารวบรวมคดีฯ ผิดมาตรา 32 พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 เพื่อหนุน “กฎห้ามขายเหล้าเบียร์ออนไลน์ -ส่งเดลิเวอรี่” ภายใต้การผลักดันของเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา
เพราะไม่นานมานี้ นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้ออกประกาศกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในลักษณะออนไลน์ หรือ เดลิเวอรี่ ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 30(6) เนื่องจากเป็นการมอมเมาเด็ก เยาวชน ประชาชน ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย ไร้ข้อจำกัดเรื่องอายุ และเวลา มุ่งหวังเพียงรายได้ทางธุรกิจ ไม่สนกฎหมาย
โดยมีข้อเสนอ ดังนี้ 1. ขอให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับบรรดาเพจ เว็บไซต์ต่างๆ ที่มีการโฆษณา ทำการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม 2.เพื่อป้องกันการตีความเข้าข้างตัวเองเพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ ขอให้เร่งออกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีหรือลักษณะการขายแบบออนไลน์ เป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30 (6)
3. ขอคัดค้านความพยายามครั้งล่าสุดของสมาพันธ์ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสุราแห่งประเทศไทยที่กำลังล่ารายชื่อกดดันให้มีการยกเลิกมาตรา 32 ของพระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพียงเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และขอเรียกร้องให้กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมาได้รับผิดชอบสังคมในการลดผลกระทบจากนำเมาอย่างไรบ้าง และได้ทำการตลาดภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ และ 4. เครือข่ายฯพร้อมที่จะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการเฝ้าระวัง การกระทำที่ผิดกฎหมายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกรูปแบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นับเป็นการห้ำหั่นของขั้วความคิดที่แตกต่าง ส่วนบทสรุปจะเป็นเช่นไร ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
แ