ผู้จัดจำหน่ายเบียร์รายหนึ่ง ชี้ให้เห็นถึงมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบเจ้าหน้าที่กวาดล้างดำเนินคดี เรียกค่าปรับสูงๆ แบบไม่เลือกหน้า สุดอึ้ง! ประชาชนซื้อเบียร์ดื่มเอง โพสต์ลงโซเชียลผิดกฎหมาย ถ่ายรูปเห็นแค่ฉลากเบียร์ก็ถูกปรับ จับผิดแม้กระทั่งคำว่า “เบียร์” ในเฟซบุ๊ก
เมื่อวันนี้ (5 มิ.ย.) เฟซบุ๊กเพจ Beervana Thailand ผู้จัดจำหน่ายเบียร์คราฟท์รายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับข้อห้ามต่างๆ ของมาตรา 32 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หลังถูกสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เรียกให้ไปเสียค่าปรับมาหมาดๆ โดยพบว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ประชาชนไม่สามารถถ่ายรูปแสดงให้เห็นฉลาก หรือบรรยายรสชาติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงบนโซเชียลมีเดียของตัวเองได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้บริโภค ที่ซื้อมาดื่มอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม โดยห้ามแสดงบรรจุภัณฑ์ ห้ามแสดงฉลาก ห้ามอวดอ้างสรรพคุณ ชักจูงใจ หรือจัดโปรโมชัน
แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ประชาชนทั่วไปลงรูปแก้วพร้อมคำบรรยายภาพ แม้ไม่มีโลโก้หรือสัญลักษณ์ ก็ผิดกฎหมายเช่นกัน โดยอ้างว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม แม้ผู้บริโภคจะซื้อมาดื่มเอง โพสต์ภาพเอง ก็ผิดกฎหมาย ค่าปรับเริ่มต้นที่ 50,000 บาท นอกจากนี้ การโพสต์แม้แต่คำว่า “เบียร์” และใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งจากฉลากเบียร์ทำให้สามารถโยงไปถึงสินค้าได้ เท่ากับผิดกฎหมาย ค่าปรับเริ่มต้นที่ 50,000 บาทเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายอยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสุราแห่งประเทศไทย ได้เคลื่อนไหวให้ยกเลิกมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์ Change.org เนื่องจากประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อย และร้านค้าเดือดร้อน เพราะซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นๆ ที่บังคับควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ซ้ำเติมภาคธุรกิจ ภาคประชาชน โดยบทบังคับและลงโทษที่รุนแรงเกินเหตุ อีกทั้งละเมิดสิทธิ์ในการสื่อสาร หรืออธิบายสินค้าและบริการ รวมถึงสิทธ์ในการรับข้อมูลของประชาชน เพราะถูกนำไปตีความโดยใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างไม่เหมาะสมหรือเกินจำเป็น และค่าปรับที่สูงเกินที่ผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชนทั่วไปที่มีโอกาสทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะสามารถรับได้
นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนและให้ข้อมูล ซึ่งมีการอ้างอิงจากสากล จึงสำคัญและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ถือเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครอง ปัจจุบันภาคธุรกิจผลิตและจำหน่ายสุรา ไวน์ เบียร์ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการถูกสั่งปิดกิจการห้ามขาย จึงขอร้องเรียนถึงการกระทำของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มีการระดมกวาดล้างร้านค้า ผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย และนักวิจารณ์เครื่องดื่ม ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่แสดงภาพและข้อความเกี่ยวกับคุณภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อสังคมออนไลน์ และสื่ออื่นๆ ด้วยข้อหาที่มีโทษหนัก โปรดพิจารณาแก้ไขเยียวยาสถานการณ์โดยเร่งด่วน