เครือข่ายเฝ้าระวังสุรา อัดธุรกิจน้ำเมาปั่นดรามา โพสต์คำว่า “เบียร์” โพสต์แก้วเบียร์ ปรับ 5 หมื่นบาท จงใจสร้างกระแสให้ ปชช.ตื่นกลัว จ้องล้ม กม.ห้ามโฆษณา อ้างรังแกรายเล็กรายน้อย ย้ำโพสต์เบียร์ ขวด กระป๋อง ไม่มียี่ห้อ ไม่เชิญชวน ไม่ได้ทำเพื่อการค้า ไม่มีทางผิด ชี้ธุรกิจพยายามเลี่ยง กม.ให้โฆษณาผ่านศิลปิน คนดัง เพจต่างๆ ยันไม่เคยห้ามดื่มห้ามขาย แต่ให้อยู่ในกรอบ ถามกลับถามกัลค้าขายทำตามกฎหมายดีกว่าไหม
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวถึงกรณีกระแสดรามาโพสต์คำว่า “เบียร์” โพสต์แก้วเบียร์ถูกจับปรับ 50,000 บาท ว่าถือเป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนตื่นกลัว และมุ่งโจมตีการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จงใจทำลายเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในการคุ้มครองสุขภาพประชาชน ลดผลกระทบและป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พยายามผลักให้ประชาชนเกลียดชังและเข้าใจผิดในสาระสำคัญของกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
นายชูวิทย์กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดาทั่วไป สร้างผลกระทบต่อสุขภาพผู้ดื่ม องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เป็นสาเหตุของ 200 โรค ทำให้คนไทยเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคนต่อปี เป็นปัจจัยร่วมนำไปสู่ปัญหา ทั้งอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางเพศ ทำให้เยาวชนเสียอนาคต เพราะคดีความและอาชญากรรม ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายมาควบคุม จำกัดการขายการดื่ม การส่งเสริมการขาย ควบคุมการโฆษณา ทำให้บรรดาธุรกิจน้ำเมาทั้งรายเล็กรายใหญ่หันมาใช้ช่องทางแฝง เลี่ยงกฎหมายโฆษณาผ่านบุคคล ผู้มีชื่อเสียง เน็ตไอดอล เพจดัง รวมไปถึงดาราศิลปิน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งการปรากฏรูปขวดกระป๋อง การแสดงตราสัญลักษณ์ยี่ห้อเหล้าเบียร์ การบรรยายอวดอ้างสรรพคุณ ชักชวนจูงใจให้ดื่ม ลดแลกแจกแถม ซึ่งล้วนทำผิดกฎหมาย รวมถึงการขายออนไลน์
“เราพบการขายออนไลน์และโฆษณาแฝงขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งสังคมกำลังทำทุกทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ธุรกิจเหล้าเบียร์กลับหาช่องทางทำการตลาด เพื่อผลประโยชน์ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม ซึ่งน้ำเมาเป็นเหตุสำคัญของการกระจายเชื้อโควิด เพราะทำให้ผู้ดื่มภูมิคุ้มกันลดลง และเกิดการมั่วสุม ไม่ป้องกันตัว เช่น การแพร่ระบาดใหญ่ๆ จากผับบาร์ย่านทองหล่อ หรือแม้แต่ที่ผับบาร์ในเกาหลีใต้ ซ้ำยังมีกลุ่มมาเคลื่อนไหวเพื่อค้านมาตรการห้ามขายในช่วงนั้น เสนอยกเลิกมาตรา 32 ห้ามโฆษณา ซึ่งเป็นการฉวยโอกาสเพื่อประโยชน์ตัวเองทั้งสิ้น ทุกวันนี้กฎหมายควบคุมการขาย ไม่ได้ห้ามขาย แต่ต้องอยู่ในกรอบ คำถามคือที่ผ่านมาผู้ที่ออกมาเรียกร้องโวยวาย ได้ทำตามกฎหมาย รับผิดชอบต่อสังคมมากพอแล้วหรือยัง” นายชูวิทย์กล่าว
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานแอลกอฮอล์วอช กล่าวว่า หลักการสากลที่จะลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มี 3 อย่าง คือ มาตรการด้านภาษี การห้ามโฆษณา และการจำกัดการเข้าถึง ดังนั้น การห้ามโฆษณาจึงเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมปัญหา ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่รู้ดี จึงดิ้นหนีเลี่ยงกฎหมาย ด้วยการไปจดทะเบียนตราสินค้าที่คล้ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อมาทำโฆษณาสร้างการจดจำเชื่อมโยง ตอกย้ำ เรื่องนี้กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นศาลอีกหลายกรณี และเราได้เสนอให้มีมาตรการแก้ไขไปแล้ว ส่วนธุรกิจรายย่อยซึ่งอาจกระทบหนักในการสื่อสารทำการตลาด จึงมีความพยายามโจมตี ทำให้มาตรา 32 เป็นการรังแกรายเล็กรายน้อย ไปไกลถึงขนาดสร้างความสับสนให้คนทั่วไปว่า แค่โพสต์คำว่าเบียร์ก็ผิด โพสต์แก้วเบียร์ก็ผิด อันนี้มันก็เกินจากความจริงไปมาก
“แค่โพสต์คำว่าเบียร์ ขวดแก้ว กระป๋องที่มองไม่ออกว่าเป็นยี่ห้อใดแล้วมันจะผิดได้อย่างไร สาระสำคัญของการกระทำนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า คนทั่วไปที่โพสต์ โดยไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า เชื่อว่าย่อมไม่ผิด แต่ต้องระวังว่าไม่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วมีการอวดอ้างหรือชักจูงให้ดื่มไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม คนทำรู้แก่ใจดีว่าเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ซึ่งมันพิสูจน์ได้ ในวงการรู้ดีว่าใครทำอะไร อย่าปั่นกระแสเอาคนทั่วไปมาเป็นตัวประกันเลย เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรกับเว็บพนันที่ไปจ้างคนมาโพสต์ จนทุกวันนี้เต็มบ้านเต็มเมือง จนล่าสุดตำรวจเตรียมกวาดล้างพวกรับจ้างโพสต์ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามขายห้ามดื่ม แต่ในความเป็นจริงก็ไม่มีเหตุผลใดๆที่ท่านจะทำการสื่อสารต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มยอดขายหรือทำให้คนทั่วไปหลงผิด โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ส่วนการโพสต์อ้างสรรพคุณให้ความรู้เบียร์ คราฟเบียร์ ระบุชื่อยี่ห้อ ถือว่าผิดชัดเจน ที่สุดแล้วสังคมเข้าใจได้ไม่ยากว่า ใครทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมกันแน่” นายคำรณกล่าว