xs
xsm
sm
md
lg

เครือช่ายเฝ้าระวังสุรา จี้ สธ.เอาผิดขายเหล้าเบียร์ออนไลน์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครือข่ายเฝ้าระวังสุรา จี้ สธ.เอาผิดขายเหล้าเบียร์ออนไลน์ ส่งดีลิเวอรีถึงหน้าบ้าน พบระบาดหนักช่วงโควิด ชงออกอนุบัญญัติห้ามขายออนไลน์ เหตุเด็กเยาวชนเข้าถึงง่าย

​วันนี้ (5 มิ.ย.) นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) พร้อมด้วย นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ จำนวน 15 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกร้องให้ออกประกาศกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะออนไลน์ หรือ ดีลิเวอรี ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30(6) เนื่องจากเป็นการมอมเมาเด็ก เยาวชน ประชาชน ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย ไร้ข้อจำกัดเรื่องอายุ และเวลา มุ่งหวังเพียงรายได้ทางธุรกิจ ไม่สนกฎหมาย ทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้นำหลักฐานมามอบให้กระทรวงด้วย

​นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 ทุกภาคส่วนช่วยกันป้องกันแก้ไขปัญหา ทุกจังหวัดได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อยับยั้งป้องกัน ลดความรุนแรง รวมทั้งลดแหล่งมั่วสุมของประชาชนเพื่อลดการติดเชื้อการแพร่ระบาด แต่ช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หาช่องทางหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่ให้ความร่วมมือ ทำการตลาดขายเหล้าเบียร์ในรูปแบบออนไลน์ แฝงโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการเก็บข้อมูลช่วงโควิด พบว่า ธุรกิจเหล้าเบียร์แทบทุกค่ายรุกทำการตลาดส่งเสริมการขายอย่างหนัก ระบาดตามช่องทางเพจออนไลน์ ดีลิเวอรีส่งตรงถึงหน้าบ้านในช่วงโควิด–19 แม้จะทำเหมือนมีการตรวจสอบอายุผู้ซื้อ หมายเลขโทรศัพท์ แต่ในความเป็นจริง ผู้ซื้อที่อาจจะเป็นเด็กสามารถใช้เบอร์โทร.ปลอมของคนที่อายุมาก ก็ซื้อเบียร์มาดื่มได้แล้ว จุดนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะเด็กและเยาวชนจะเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้นแน่นอน ก่อนหน้าโควิดมาเราก็พบว่าร้านเหล้าผับบาร์หลายแห่งเริ่มทำระบบสมาชิก ให้นักศึกษาสามารถสั่งเหล้าเบียร์ส่งถึงหอพักกันบ้างแล้ว

​“ปัจจุบันมีเพจ เว็บไซต์ต่างๆ ที่ทั้งโฆษณาและขายเหล้าเบียร์ออนไลน์มากมาย อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในหลายประเด็น เช่น ขายนอกเหนือเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะจ่ายเงิน รับส่งสินค้า เป็นคนละช่วงเวลา ตามประกาศสำนัก นายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 หรือ ไม่สามารถตรวจสอบอายุของผู้ซื้อได้ ตามมาตรา29 (1) ห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี อีกทั้ง พบว่า มีการแสดงภาพขวดหรือบรรจุภัณฑ์อย่างโจ่งแจ้ง ผิดตาม มาตรา 32 ซึ่งเป็นการพยายามตีความหลบเลี่ยง ท้าทายกฎหมาย เพื่อให้ได้ขายสินค้าทำกำไรอย่างน่าละอายในช่วงวิกฤต เพื่อหยุดปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีกฎหมายลูกมาควบคุมให้ชัดเจนไปเลย” นายธีรภัทร์ กล่าว

​ด้าน นายคำรณ กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกัน เด็กเยาวชนและประชาชน จากปัจจัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอ ดังนี้ 1. ขอให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับบรรดาเพจ เว็บไซต์ต่างๆ ที่มีการโฆษณา ทำการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม 2.เพื่อป้องกันการตีความเข้าข้างตัวเองเพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ ขอให้เร่งออกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีหรือลักษณะการขายแบบออนไลน์ เป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30 (6)

3.ขอคัดค้านความพยายามครั้งล่าสุดของสมาพันธ์ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสุราแห่งประเทศไทยที่กำลังล่ารายชื่อกดดันให้มีการยกเลิกมาตรา 32 ของพระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพียงเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และขอเรียกร้องให้กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมาได้รับผิดชอบสังคมในการลดผลกระทบจากนำเมาอย่างไรบ้าง และได้ทำการตลาดภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ และ 4. เครือข่ายฯพร้อมที่จะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการเฝ้าระวัง การกระทำที่ผิดกฎหมายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกรูปแบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

“หวังว่าข้อเสนอดังกล่าว จะช่วยป้องกันการเข้าถึงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเด็กเยาวชน และลดช่องว่างทางกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการตีความเข้าข้างตัวเองของฝ่ายธุรกิจและเป็นปัญหาในการบังคับใช้ และเครือข่ายฯขอเป็นกำลังใจให้รมว.สธและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน ลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และป้องกันนักดื่มหน้าใหม่” นายคำรณ กล่าว

นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การขายออนไลน์จากผู้ผลิตไปผู้จัดจำหน่ายยังไม่มีการห้าม แต่การขายจากผู้จัดจำหน่ายไปยังผู้บริโภคไม่สามารถทำได้ มีการห้ามเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าถึงได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม เรื่องการขายออนไลน์จะมีประเด็นเรื่องการโฆษณาด้วยอยู่แล้ว












กำลังโหลดความคิดเห็น