"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ขณะนี้มีความคิดร่วมอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นในแทบทุกวงการ นั่นคือในช่วง ๓-๔ เดือนข้างหน้าหรือประมาณเดือนกันยายนเป็นต้นไป ปัญหาเศรษฐกิจจะหนักหน่วงยิ่งขึ้น ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในทุกอุตสาหกรรมจะล้มระเนระนาด ส่งผลให้เกิดกองทัพคนตกงานและว่างงานจำนวนมหาศาล ประชาชนจำนวนนับล้านคนไม่มีรายได้ในการดำรงชีพ ความอดอยากยากจนทั่วหน้ากลายเป็นความปกติใหม่
ดูเหมือนว่ารัฐบาลเองก็ทราบอยู่แก่ใจว่ามาตรการเยียวยาและช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจด้วยการกู้เงิน ๑.๙ ล้านบาทมีข้อบกพร่องและไม่มีพลังเพียงพอในการหยุดยั้งหรือแก้ไขปัญหาได้ ดังเห็นได้จากการมอบนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นความพยายามในการอุดช่องโหว่ของมาตรการนโยบายที่เขียนในพระราชกำหนดกู้เงินทั้งสามฉบับ
เรื่องแรก เกี่ยวกับความทั่วถึงและครบถ้วนของเงินเยียวยา ซึ่งยังมีปมปัญหาในกลุ่มประกันสังคมที่มีความล่าช้าในการเยียวยา เรื่องนี้นายสมคิดสั่งให้ปลัดกระทรวงการคลังไปประสานกับกองทุนประกันสังคม แต่จะสำเร็จมากน้อยเพียงใดก็ต้องติดตามกันต่อไป
เรื่องที่สอง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ รวมทั้งเรื่องตราสารหนี้ที่ใช้เกณฑ์ช่วยเหลือที่ยึด investment grade โดยใช้เรตติ้งของ TRIS หรือ FITCH Rating ซึ่งจะทำให้ธุรกิจจำนวนมากจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ นายสมคิดได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มให้ครอบคลุม คำถามคือทำไมตอนเริ่มคิดมาตรการและออกเป็นพระราชกำหนดไม่คิดให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน ปล่อยให้มีช่องโหว่เช่นนี้ออกมาและต้องมาตามแก้ไขภายหลัง ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลามากขึ้นในการแก้ปัญหา แต่ที่สำคัญก็คือไม่มีหลักประกันใดถึงความสำเร็จ
เรื่องที่สาม มอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงการคลังร่วมกันศึกษาหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการชุดต่อไปโดยหยิบยกเรื่องการอุดหนุนเรื่องค่าเช่าสถานที่และภาษี แลกกับการไม่ปลดคนงาน ในประเด็นนี้นายสมคิดได้ประเมินว่า ปัญหาเศรษฐกิจในช่วง ๓-๔ เดือนข้างหน้าจะมีความรุนแรงขึ้น จะมีคนตกงานและว่างงานเป็นจำนวนมาก ทำให้คนขาดรายได้ในการยังชีพ ดังนั้นจึงสั่งการให้กระทรวงการคลัง **“เตรียมการจัดตั้งโรงทานในทุกอำเภอ”** โดยใช้เครือข่ายธนาคารของรัฐทุกแห่งและทุกกรมของกระทรวงการคลังเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านประทังความหิวโหย
**เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่รัฐบาลโดยรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจแสดงอาการสิ้นหวังในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยประเมินว่ารัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างงานและรายได้แก่ประชาชน ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนจำนวนมากประสบความหิวโหย จนต้องกำหนดเป็น “นโยบายจัดตั้งโรงทาน” ขึ้นมาโดยใช้หน่วยงานราชการเป็นฐานในการแจกจ่ายอาหารแก่ประชาชน และการคิดและสั่งการนโยบายแบบนี้ของนายสมคิดเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนที่สะท้อนความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมาของรัฐบาลประยุทธ์**
แต่การตั้งโรงทานทุกอำเภอก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล รวมทั้งไม่แน่ว่าจะเพียงพอกับความต้องการของประชาชน สมมติว่าตั้งตัวเลขประมาณการว่ามีประชาชนวัยแรงงานจำนวน ๑๐ ล้านคน ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการยังชีพ คนในวัยแรงเหล่านี้อาจต้องหาเลี้ยงคนในครอบครัวอีก ๑ หรือมากกว่า รวมแล้วจำนวนคนที่จะตกอยู่ในภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า ๒๐ ล้านคน จำนวนอำเภอในประเทศไทยมี ๘๗๘ อำเภอ และ ๕๐ เขตในกรุงเทพมหานคร รวมเป็น ๙๒๘ แห่ง เฉลี่ยอย่างคร่าว ๆ แต่ละอำเภอจะมีคนที่รอรับการแจกอาหารประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน สมมติว่าให้เงินค่าอาหาร ๔๐ บาทต่อหัวต่อคน แต่ละอำเภอจะใช้เงินวันละประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาท และหากจัดตั้งโรงทาน ๙๐ วัน แต่ละอำเภอก็ต้องใช้เงินถึง ๗๒ ล้านบาท รวมงบประมาณค่าอาหารและค่าดำเนินการต่าง ๆ ก็ร่วม ๗ หมื่นล้านบาท
ถามว่าจะนำเงินนี้มาจากไหน ทางหนึ่งที่จะทำได้คือต้องกันเงินไว้อย่างน้อย ๑ แสนล้านบาท จากเงิน ๔ แสนล้านบาทในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจนั่นเอง และสำหรับหน่วยงานที่จัดทำโรงทาน หากให้ดำเนินการโดยธนาคารหรือหน่วยงานกระทรวงการคลังอย่างเดียวคงไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม จะต้องดำเนินการผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โรงเรียน และวัดด้วย เพื่อให้กระจายจุดการจัดตั้งโรงทานให้ทั่วถึงครอบคลุมทุกตำบลและหมู่บ้าน
แต่การจัดตั้งโรงทานเป็นวิธีคิดแบบเก่า เป็นเพียงมาตรการสังคมสงเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หาใช่มาตรการที่จะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนในการทำให้คนมีงานทำและมีรายได้ ดังนั้นแทนที่จะจัดตั้งโรงทาน สิ่งหนึ่งที่ควรทำมากกว่าคือ **“การใช้ร้านอาหารทำหน้าที่เสมือนเป็นโรงทาน”** โดยเรียกโครงการนี้ว่า **“โครงการร้านโรงทาน”** ซึ่งรัฐบาลควรนำเงินงบประมาณในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไปใช้เพื่อการนี้จำนวน ๑ แสนล้านบาท แล้วแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน
ส่วนแรกให้ประชาชนที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการเปิดร้านอาหารใหม่หรือขยายร้านอาหารเก่ากู้เงินจากกระทรวงการคลังผ่านธนาคารของรัฐโดยปลอดดอกเบี้ยเพื่อลงทุน สำหรับประเภทอาหารที่ควรสนับสนุน อย่างเช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น
ส่วนที่สอง การให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ไปรับประทานอาหารฟรีในร้านอาหารที่เข้าร่วม **“โครงการร้านโรงทาน”** วันละหนึ่งหรือสองมื้อ โดยใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานแทนเงิน และให้ร้านอาหารเหล่านั้นนำหลักฐานมาเบิกเงินจากธนาคารสังกัดกระทรวงการคลังในภายหลัง
หากทำโครงการร้านโรงทานที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการเอกชน ที่กระทรวงการคลังสนับสนุน แทนที่จะสร้างโรงทานโดยหน่วยงานของรัฐ นอกจากจะไม่สร้างเดือดร้อนแก่ข้าราชการที่ต้องนำเวลาราชการมาบริหารจัดการ จัดทำหรือจัดสั่งอาหารเองแล้ว ก็ยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างกว้างขวาง โดยทำให้เกิดร้านอาหารใหม่กระจายตัวมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งอาจมีถึง ๕- ๗ หมื่นร้าน และพัฒนาร้านที่มีอยู่เดิมอีกจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และหากร้านใดทำอาหารดีมีคุณภาพ สะอาด อร่อย ก็จะมีผู้มาใช้บริการมาก และอาจขยายตัวและดำรงอยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน แม้ว่าโครงการนี้จะยุติลงไปแล้วก็ตาม เรียกว่าได้ทั้งแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อมกัน
เรื่องที่สี่ เกี่ยวโครงการที่เสนอโดยหน่วยงานราชการ ๔ แสนล้านบาท คุณสมคิดมอบนโยบายว่าให้ตัดโครงการที่ไม่มีคุณภาพออกไป หากยึดตามนโยบายนี้จริง ๆ สงสัยต้องตัดเกือบทุกโครงการ เพราะเท่าที่ผ่านมาโครงการส่วนใหญ่ของหน่วยงานราชการที่มีคุณภาพ สร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนมีน้อยมาก ดังนั้นควรนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในโครงการร้านโรงทาน ดังที่เสนอข้างต้นแทนอย่างน้อย ๑ แสนล้านบาทจะดักว่า ส่วนอีก ๓ แสนล้านบาทที่เหลือ ควรมีโครงการเชิงยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน โดยเน้นทั้งให้เกิดการจ้างงานในระยะสั้น และการสร้างธุรกิจในระยะกลางและยาว
โครงการที่เน้นการจ้างงานระยะสั้นเช่น การจ้างแรงงานในการบริการและสวัสดิการสังคม โดยฝึกทักษะเพิ่มบุคลากรในการดูแลบริบาลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเด็กวัยอนุบาล และผู้พิการ และจ้างบุคคลเหล่านั้นให้ทำงานต่อไป การจ้างงานแก่นักศึกษาในการลงไปสอนพิเศษแก่นักเรียนประถมและมัธยมทั่วไปประเทศ การจ้างแรงงานในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การกำจัดผักตบชวา การปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น สำหรับการสร้างธุรกิจระยะกลาง เช่น การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือหน้าเดิม หรือการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนพัฒนาให้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเน้นธุรกิจอาหาร ประมง เกษตร บริการ ยาสมุนไพร สุขภาพ และท่องเที่ยว เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่สังคมระแวงมากเกี่ยวกับการทำโครงการของหน่วยงานราชการ ก็คือ การทุจริตคอรัปชั่น ยิ่งทำอย่างเร่งรีบ รวบรัดและมีการตรวจสอบน้อย ก็ยิ่งมีโอกาสทุจริตสูงยิ่งขึ้น และหากเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งทำให้กลายเป็นเงื่อนไขในการสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนมากขึ้น ดังนั้นควรมีการเปิดเผยข้อมูลของโครงการ และให้สาธารณะเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบได้ หากหน่วยงานใดไม่ยินยอมให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการ ก็ย่อมอนุมานได้ว่าหน่วยงานนั้นกำลังปกปิดความไม่ชอบมาพากลบางอย่างอยู่
**หากยังใช้วิธีคิดเดิมและการปฏิบัติแบบเก่าก็ยากจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นใน ๓-๔ เดือนข้างหน้าได้ การยืนกรานทำแบบเดิมปัญหาเศรษฐกิจก็จะขยายและลุกลามไปสู่ปัญหาความรุนแรงทางการเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลียงได้ และที่น่าห่วงก็คือ สัญญาณแห่งความสิ้นหวังได้ส่งออกมาจากบุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างชัดเจนโดยการเตรียมจัดตั้งโรงทานเพื่อรับมือกับความหิวโหยของประชาชนที่กำลังคืบคลานเข้ามา**