เหตุ ‘บิ๊กตู่’ ไม่ปรับ ครม.พร้อมบอกรัฐมนตรีทุกคน ใคร! มีปัญหาถามได้ แม้กระทั่ง ‘สมศักดิ์-สุริยะ’ ยังนิ่งเงียบ ขณะเดียวกัน นายกฯ สั่งงานรัฐมนตรีทุกกระทรวงส่งแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ เน้นโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ พร้อมสั่ง ‘5 กระทรวง’ จัดทำ Big Data ฐานข้อมูลประชาชน ‘คนจน-กลุ่มเปราะบาง-ประกันสังคม’ ต้องอัปเดตทุก 3 เดือน หากมีปัญหาโอนเงินช่วยได้โดยตรง ด้าน ‘สมคิด’ อธิบายวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นให้ ครม.ฟัง หากไม่เร่งช่วยสร้างงาน กระตุ้นกำลังซื้อ คาดเศรษฐกิจจะตกท้องช้างแน่ ส่วนเรื่อง CPTPP ให้พาณิชย์และต่างประเทศไปศึกษาควบคู่ กมธ.ศึกษา CPTPP ของสภาฯ ส่งเข้า ครม.พิจารณาได้
ว่าไปแล้วการออกมาแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี ว่าตัวเองไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของแต่ละพรรคการเมืองดำเนินการไป ส่วนเรื่องของการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เป็นการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งรู้ว่าจะปรับเมื่อไหร่ อย่างไร แต่คงไม่ใช่ตอนนี้ จึงไม่ต้องเสนอตัวกันมาเยอะแยะในขณะนี้
ถ้อยคำดังกล่าวน่าจะเป็น ‘คำตอบ’ ที่ชัดเจน!
แต่อาจจะไม่เพียงพอสำหรับแกนนำพรรคพลังประชารัฐที่ต้องการจะให้มีการสลับสับเปลี่ยนเพื่อหวังไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงเกรด A รวมไปถึงแกนนำบางคนที่เคยพลาดหวังตำแหน่งรัฐมนตรีก็ต้องการให้มีการปรับ ครม.เพื่อให้ตัวเองเข้ามาเป็นรัฐมนตรีเช่นกัน
ทว่า หากใคร! และใคร! ได้ฟังบิ๊กตู่พูดในที่ประชุม ครม.เพื่อตอกย้ำให้รัฐมนตรีทุกคนได้รับทราบ ก็จะรู้ว่าบิ๊กตู่คิดอย่างไรและทำไมถึงไม่ปรับ ครม.
โดยเฉพาะหลังการประชุมวาระสำคัญ รวมทั้งการนำข้อมูลที่บิ๊กตู่จดในสมุด 2 เล่มเปิดไป เปิดมา เพื่อสั่งงานแล้วเสร็จ แต่เป็นช่วงก่อนที่จะปิดการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น บิ๊กตู่ได้ทำให้รัฐมนตรีเกิดปฏิกิริยาหลากหลายอารมณ์ รัฐมนตรีบางคนแสดงกิริยาขำน้อย ๆ บางคนยิ้มมุมปาก แต่บางคนสีหน้านิ่งเงียบเก็บอารมณ์ เพราะคำพูดของนายกฯ อาจจะทิ่มแทงใจรัฐมนตรีหลายคนก็เป็นได้
“การเมืองเป็นเรื่องการเมือง แต่ละพรรคไปแก้กันเอาเอง ไม่เกี่ยวกับผม ผมก็ทำงานของผม แต่ผมมีอำนาจในการตัดสินใจ อำนาจปรับ ครม.เป็นของผม ขอให้ทุกคนใน ครม.ไม่ต้องกังวล ทำงานในหน้าที่ให้เต็มที่ก็แล้วกัน ต้องช่วยกันแก้ปัญหาชาวบ้านก่อน ผมไม่ปรับ ครม.”
เมื่อนายกฯ พูดเสร็จ จึงย้อนถาม ครม.ทุกคนว่าใครมีปัญหาอะไรมั้ย...จะถามอะไรผมหรือไม่?
แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดเอ่ยถาม ไม่ว่าจะเป็นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ที่มีกระแสว่าจะย้ายมาเป็น รมว.เกษตรฯ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่มีกระแสว่าจะมาเป็น รมว.พลังงาน หรือพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม ต่างก็นั่งเงียบ..
หลังพูดเสร็จ นายกฯ ก็มองไปรอบๆ เพียงแค่ 5 วินาที (แค่นับ 1-5 ในใจ) เสียงนายกฯ บิ๊กตู่ ก็พูดขึ้นมาทันทีว่า ‘ไม่มีถาม’ ถ้าอย่างนั้นก็ขอบคุณ ...ปิดประชุม!...”
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล บอกว่า นายกฯ มีความเด็ดขาดมาก บอกให้รัฐมนตรีทุกคนรับทราบใน ครม.พร้อมกันเลยว่าจะไม่มีการปรับ ครม.ซึ่งหากนายกฯ ใช้คำว่า ‘ขณะนี้ไม่มีการปรับ ครม.’ ก็จะทำให้นักการเมืองที่กำลังเคลื่อนไหวมีความหวัง และสร้างกระแสกันไม่เลิก แต่การบอกว่าอำนาจปรับ ครม.เป็นของนายกฯ คนเดียว และย้ำให้รัฐมนตรีทุกคนทำงานให้เต็มที่จึงชัดเจนในถ้อยคำว่ารัฐมนตรีทุกคนยังคงสถานะเหมือนเดิม
“ที่ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนถามนายกฯ หลังพูดเสร็จ ก็เพราะรัฐมนตรีทุกคนต่างก็รู้ว่า บิ๊กตู่เป็นหัวหน้ารัฐบาล จะสั่งปลดเมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากมีการเคลื่อนไหวจนทำให้กระทบการทำงานในการดูแลประชาชน”
ดังนั้น คำพูดของนายกฯ จึงอาจดูเหมือนไม่สนใจความวุ่นวายที่เกิดในพรรคพลังประชารัฐ ทั้งๆ ที่มีข่าวว่ามีรัฐมนตรีบางคนต้องหมดเงินไปร่วม 100 ล้านกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นภายในพรรค พปชร.ก็เพื่อหวังจะให้มีการปรับ ครม.ก็ตาม
“นายกฯ เน้นปัญหาของประเทศชาติมาก่อน และไม่ต้องการเปลี่ยนม้ากลางศึก โดยเฉพาะทีมอาจารย์สมคิด ทั้งอุตตม สนธิรัตน์ และสุวิทย์ ยังอยู่ครบ เพราะต้องการให้มีการทำงานต่อเนื่องเพราะนายกฯ ชัดเจนในการทำงาน เอาปัญหาประเทศเป็นตัวตั้ง การเมืองเป็นเรื่องของพรรคจัดการกันเอาเอง ดูได้ว่าการประชุม ครม.วันนั้น นายกฯ สั่งงานเยอะ นายกฯ พลิกสมุด 2 เล่มที่จดข้อมูลมา เปิดไปเปิดมา สั่งงานทุกกระทรวงให้ปฏิบัติด่วน”
แหล่งข่าวบอกอีกว่า สิ่งที่นายกฯ สั่งการในวันนั้นจะมีประมาณ 17 ข้อ โดยเฉพาะข้อสำคัญต้องการให้ทุกกระทรวงรีบปฏิบัติก็คือ ให้ทุกกระทรวงเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โครงการที่จะเสนอเข้ามานั้นให้เน้นเรื่องของการสร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งไปที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้และต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณากลั่นกรองและตรวจความซ้ำซ้อนจะให้ดำเนินการอย่างไร
โดยนายกฯ กำชับ ครม.ว่า งบประมาณจำนวนนี้เป็นที่จับตา ต้องดำเนินโครงการให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และต้องถึงมือประชาชนจริงๆ เพราะงบส่วนนี้มีความสำคัญที่จะสานต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 4 คือ ช่วงกรกฎาคม-กันยายน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะส่งต่อไปไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2564 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 นี้
“นายกฯ ย้ำกับ ครม.ทุกคน จะต้องไม่นำเงินดังกล่าวไปใช้ในโครงการปกติ เพราะเงินส่วนนี้เน้นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภค เกิดการจับจ่ายใช้สอย เน้นการท่องเที่ยว การช่วยเหลือ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มีสภาพคล่อง เพื่อให้กลไกกลับมาเดินได้ตามปกติ”
อย่างไรก็ดี ในการประชุม ครม.วันนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงการใช้การท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะการท่องเที่ยวจะมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามมา ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง ทั้งธุรกิจโรมแรม ธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ เกี่ยวข้องกับหลายอาชีพ ซึ่งจะทำให้ชุมชนและพื้นที่ได้ประโยชน์
“รัฐมนตรีอุตตม ก็เสริมขึ้นมาว่าประโยชน์ที่จะได้รับมากมาย จะเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก Local Economy เพราะจะมีการจ้างงานเกิดขึ้นจำนวนมาก ช่วยเหลือบัณฑิตจบใหม่ให้มีงานทำได้ด้วย ซึ่งนายกฯ ก็เห็นด้วย”
นายกรัฐมนตรียังได้พูดถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรี เกี่ยวกับโครงการจ้างงานอะไรบ้าง หรือมีอาชีพอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ ที่กระทรวง อว.ดำเนินการจะได้จัดสรรงบเข้าไปดำเนินการได้เพื่อให้เกิดการจ้างงานได้ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ
“นายกฯ เป็นห่วงปัญหาเศรษฐกิจมาก กลัวจะมีคนตกงานเพิ่มขึ้น จึงให้ทุกกระทรวงต้องเร่งทำแผนกันมา และก็เห็นว่ากระทรวง อว. มีบทบาทในการจัดทำโครงการจ้างงานอยู่แล้ว ก็ให้ไปดูจะทำอะไรเพิ่มขึ้นมาอีก”
แหล่งข่าวบอกด้วยว่า ในการประชุมวันนั้น นายสมคิด ได้อธิบายถึงสถานการณ์เศรษฐกิจว่าควรรีบทำอะไร ตรงไหนที่เป็นจุดอ่อนที่จะต้องรีบเข้าไปดำเนินการ หากไม่รีบผลักดันเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจจะยิ่งแย่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อาจารย์สมคิด ดูเรื่องเศรษฐกิจมานานและอยู่ในหลายรัฐบาล จึงมองปัญหาทะลุปรุโปร่ง และรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในแต่ละกระทรวงเศรษฐกิจ หลายคนอาจจะมองว่าอาจารย์สมคิด เป็นนักการตลาด นักขายฝัน แต่ถ้าพูดกันตรงๆ แล้ว เรื่องเศรษฐกิจไม่มีใครอ่านทะลุได้ และเห็นช่องได้ดีเท่าอาจารย์สมคิด”
ในวันนั้น นายสมคิด ได้อธิบายถึงเรื่องการคลัง เป็นขั้นเป็นตอน ใช้เวลาประมาณ 10 กว่านาที ชี้ให้เห็นว่า ‘เงิน’ จะไปถึงมือชาวบ้านช้า หากไม่เร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจ้างงานเพื่อให้เกิดกำลังซื้อ เศรษฐกิจจะเสียหายกว่านี้มาก
“ฟังสิ่งที่อาจารย์สมคิด อธิบาย เชื่อว่า ครม.เข้าใจทุกคนว่าต้องเร่งให้เกิดการจ้างงาน เพื่อให้เกิดกำลังซื้อ เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า เศรษฐกิจจะตกท้องช้าง คนจะตกงานเพิ่มขึ้น กำลังซื้อไม่มี คนจะอดตายกัน จะเกิดการเบี้ยวหนี้ คนซื้อบ้าน ซื้อคอนโดฯ ไม่มีเงินจ่าย จะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงิน เกิด NPL แน่นอน”
รัฐบาลจึงต้องเร่งเรื่องการจ้างงาน พร้อมๆ กับการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยด่วน ซึ่งในการประชุม ครม.วันนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ที่มีนายอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่มีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีนายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงาน ที่มี หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล เป็นรัฐมนตรี ให้ไปร่วมมือกันจัดทำ Big Data ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือกรณีเกิดปัญหาขึ้นมาให้ถูกกลุ่มและถูกคน ไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนเหมือนการช่วยเหลือที่ผ่านมา
“Big Data จะเป็นฐานข้อมูลจากเลขประจำตัว 13 หลัก เป็นกลุ่มคนที่ได้บัตรสวัสดิการประชารัฐ บัตรประกันสังคม เป็นผู้สูงอายุ เด็ก คนชรา แม่เลี้ยงเดี่ยว คนพิการ ให้ไปดูยังมีกลุ่มไหนอีก ซึ่งข้อมูลที่อยู่ใน Big Data นี้ นายกฯ สั่งว่าจะต้องอัปเดตทุก 3 เดือน ชื่อ ที่อยู่ ยังอยู่หรือตาย ถ้าย้าย ย้ายไปอยู่ที่ไหน ต้องถูกต้อง เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการช่วยเหลือ”
ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้ข้าราชการทุกกระทรวงลงพื้นที่ให้มากที่สุด ให้ไปรับฟังว่าประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไร และหากประชาชนสอบถามอะไร หากข้าราชการที่รับฟังตอบไม่ได้ก็ไม่ต้องตอบ และให้นำปัญหานั้นเสนอขึ้นมาที่คณะรัฐมนตรี จะเป็นผู้ตัสินใจว่าจะทำอะไร อย่างไร
“นายกฯ บอกว่า ถ้าช่วยประชาชนได้ ต้องช่วยทันที ถ้าไม่ได้ต้องออกเป็นนโยบายรัฐบาล ก็ต้องเสนอขึ้นมา แต่ข้าราชการต้องลงพื้นที่ไปรับฟังความจริง จึงจะช่วยได้ถูกจุดตามที่ประชาชนต้องการ นายกฯ บอกว่าตัวผมก็ยังลงพื้นที่ไปพบประชาชน ก็รู้ว่าประชาชนมีปัญหาอะไร เราก็ได้ช่วยเขา ย้ำนะข้าราชการต้องลงไปดูไปสัมผัสของจริง ไม่ใช่เสนอลอยๆ เข้ามา”
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยเรื่องการศึกษามาก โดยเฉพาะเรื่องของครู หรือการพัฒนาครู ยังไม่ได้มีการ
เปลี่ยนแปลงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งครูเก่าก็มีการเกษียณอายุกันไป การได้ครูใหม่ ๆ เข้ามา ก็ไม่ได้ฝึกกันง่ายๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการสอนเด็ก และจะทำอย่างไรให้การสอนเด็กมีคุณภาพขึ้นมาได้
“นายกฯ พูดเพราะความห่วงใยคุณภาพของครู คุณภาพการสอน ซึ่งจะส่งไปถึงคุณภาพของเด็ก เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องรับไปพิจารณาต่อไป”
แหล่งข่าวบอกว่า ใน 17 ข้อสั่งการนั้น ไม่มีการพูดถึงกระทรวงพลังงาน แต่นายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องของข้อตกลง CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and ProGressive Agreement of Trans-Pacific Partnership : ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เช่นกัน โดยบอกว่าให้รัฐมนตรีทุกคนฟังความเห็นของสภาฯ ที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบหากรัฐบาลจะอนุมัติลงนามในข้อตกลง CPTPP
“อยากให้รัฐมนตรีทุกคนไปช่วยกันดู เปิดโอกาสให้ผู้รู้ทุกฝ่ายเข้ามา เพราะต้องศึกษากันให้ละเอียด เราไปเจรจาก่อน ซึ่งเราก็ต้องให้คนไปรู้ถึงข้อดี ข้อเสียต่อประเทศไทย ในการเข้าหรือไม่เข้าเป็นสมาชิก ถ้าดูแล้วเราเสียประโยชน์ก็ไม่ต้องไปเข้า แต่ไม่ใช่ไปตัดสินใจไม่เข้าโดยไม่ดูอะไรเลย”
สำหรับเรื่อง CPTPP นั้น นายกรัฐมนตรีต้องการให้ 2 กระทรวง คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ไปศึกษากันให้ละเอียด พร้อมศึกษาข้อมูลของ กมธ.ศึกษา CPTPP ด้วย ถ้าเห็นควรก็เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ เพราะเรื่อง CPTPP มีกระแสคัดค้านในการเข้าร่วมของภาคประชาชน และยังมีบุคคลที่ได้รับการยอมรับในสังคม ได้มีการนำข้อมูลมาตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ว่า หากเข้าร่วมจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและด้านสาธารณสุขอย่างรุนแรง โดยเฉพาะทางการแพทย์ ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยารักษาบางตัวได้ ปัญหาเรื่องสิทธิบัตรยา ส่วนภาคการเกษตรนั้นเกษตรกรจะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกเองได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิในเมล็ดพันธุ์พืช การคุ้มครองการลงทุนให้ต่างชาติ เป็นต้น