xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” เล็งตั้งกองทุนอุ้มตราสารต่ำกว่า Investment Grade เร่งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคกลุ่มผู้มีกำลังซื้อในไตรมาส 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รองฯ สมคิด” ฝาก “คลัง” พิจารณาความช่วยเหลือสินเชื่อภาคเอกชน รวมไปถึงเรื่องตราสารหนี้ใหม่ ซึ่งจะต้องมีกลุ่มธุรกิจบางส่วนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินอย่างแน่นอน เหตุลักษณะสำคัญของกองทุนตราสารและเรื่องของการปล่อยสินเชื่อจาก ธปท. นั้น จะต้องกระทำผ่านระบบของธนาคาร โดยตราสารหนี้จะต้องได้รับการจัดอันดับ Investment Grade ด้าน “ก.ล.ต.” เสนอไอเดีย ตั้งกองทุนเพื่อลงขันอุ้มตราสารที่ต่ำกว่า Investment Grade สั่งเร่งหาแนวทางกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยจากผู้มีอำนาจซื้อเป็นหลัก พร้อมสั่งตั้งโรงทานแจกอาหารคนยากจนวันละ 1 มื้อ โดยแบ่งพื้นที่เป็นจังหวัด อำเภอ หวังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารให้ประชาชน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายหลังการประชุมกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจว่า ตนได้ขอให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกประชุม เนื่องจากปัจจุบันพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 5 แสนล้านบาท และพระราชบัญญัติการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ได้ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มต้นไปแล้ว แต่ประการสำคัญคือรัฐบาลต้องการความมั่นใจว่าเงินเยียวยาได้ผ่านไปสู่มือประชาชนครบแล้วหรือยัง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้แจ้งว่าได้ดำเนินการเยียวยาประชาชนได้ครบตามเป้าแล้ว มีส่วนของกลุ่มแรงงานประกันสังคม ซึ่งยังมีผู้ร้องเรียนมาอยู่ จึงได้มอบหมายให้นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ประสานไปที่กองทุนประกันสังคมเพื่อให้ประชาชนได้รับเงินเยียวยาให้ครบถ้วน และเมื่อเยียวยาจนครบถ้วนแล้ว การดำเนินการต่อไปจะเป็นเรื่องของธุรกิจ

ในส่วนของธุรกิจนั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้ฝากที่ประชุมพิจารณาเรื่องความช่วยเหลือสินเชื่อภาคเอกชน รวมไปถึงเรื่องของตราสารหนี้ ซึ่งคาดว่าจะต้องมีบางส่วนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินอย่างแน่นอน เนื่องจากลักษณะสำคัญของกองทุนตราสารและเรื่องของการปล่อยสินเชื่อนั้น จะต้องกระทำผ่านระบบของธนาคาร โดยตราสารหนี้จะต้องได้รับการจัดอันดับ Investment Grade จากบริษัทฟิชท์ เรทติ้ง และบริษัททริส

แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัททั้ง 2 แห่งนี้ จะดำเนินการภายใต้ภาวะปกติ แต่หากในสภาะที่ไม่ปกติ และยังจะใช้วิธีการปกติในการจัดอันดับตราสารหนี้แล้ว จะทำให้มีกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพที่พอไปได้ แต่ไม่ได้รับการเยียวยาตามจุดประสงค์ของรัฐบาล เนื่องจากวัตถุประสงค์ของรัฐบาลไม่ได้ต้องการจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม Investment Grade เท่านั้น แต่เราต้องการช่วยธุรกิจไทยที่พอจะมีศักยภาพและต้องรักษาเอาไว้

ดังนั้น ตนจึงได้ฝากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพื่อหากลไกที่จะมาดูแลในส่วนนี้ กองทุนช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่กระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้รับหลักการไปแล้วตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น ยังคงขาดเรื่องกลไกในการบริหารจัดการโดยไม่ผ่านระบบธนาคาร ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้จะต้องพิจารณาออกมาให้เร็ว เพื่อช่วยให้คนกลุ่มนี้อยู่รอดต่อไปได้ เนื่องจากในเวลาต่อไป คนกลุ่มนี้จะเกิดความเดือดร้อนและจะเริ่มมีปัญหา

นายสมคิด ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะเดียวกัน ยังได้มีการหารือในเรื่องของ ก.ล.ต. ซึ่งมีความคิดอย่างชัดเจนว่าจะต้องมีกองทุนที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่เคยมีการหารือกันไว้ เนื่องจากจำเป็นต้องมีคนเข้ามาร่วมลงขันในกองทุนเหล่านี้เพื่อมาลงทุนในบริษัทที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยสิ่งที่คนกลุ่มนี้ร้องขอคือเรื่องมาตรการทางด้านภาษีเพื่อจูงใจในการระดมทุนจากนักลงทุน ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่ดี หากสามารถตั้งกลไกกันได้ เนื่องจากคนที่นำเงินมาลงทุนก็ต้องการความมั่นใจว่าในอนาคตจะได้รับการเยียวยา

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามไปอุดช่องโหว่ในส่วนที่ยังมีผู้ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาและความช่วยเหลือ ทั้งบุคคลธรรมดา ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะไปหารือกับธนาคารรัฐ สมาคมธนาคารไทย และ ธปท. เพื่อพิจารณาสิ่งเหล่านี้ออกมาให้เร็ว ซึ่งเป็นการเตรียมการเพื่อเข้าไปสู่ขั้นตอนที่ 2

รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ตนได้มอบหมายให้นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และอธิบดีจากกรมต่างๆ ว่าในขณะนี้ยังมีความต้องการที่จะให้ไปช่วยเหลือเพิ่มเติมเรื่องมาตรการต่างๆ เช่น การให้แรงจูงใจทางภาษีเพื่อสนับสนุนการการลดค่าเช่าให้แก่ร้านค้าที่ได้เปิดให้บริการแล้ว แต่คนไม่กล้าไปซื้อของ ทำให้รายได้ไม่มี และในไม่ช้าก็จะอยู่ไม่ได้ ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นว่าสามารถเลื่อนระยะเวลาการจ่ายภาษีให้แก่ร้านค้าออกไปได้ โดยให้ร้านค้าสามารถมาผ่อนชำระภาษีระยะยาวได้ ส่วน ธปท. ได้เสนอแนะว่าควรพิจารณาว่าต้องหาวิธีจะทำอย่างไรที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจได้ก่อนที่จะมีคนต้องตกงานและรัฐบาลค่อยเข้าไปเยียวยา 3 เดือน

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการกระทรวงการคลัง ธนาคารรัฐทุกแห่ง รวมถึงทุกกรมในสังกัดของกระทรวงการคลัง ช่วยจัดตั้งโรงทาน 1 มื้อ เพื่อแจกอาหารให้แก่ชาวบ้านที่ยากจน โดยกำหนดให้แบ่งพื้นที่ออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ซึ่งโรงทานดังกล่าวนี้จะมีไว้เพื่อรองรับประชาชนที่มองว่าจะมีความเดือดร้อนในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้ ทั้งนี้ โรงทานดังกล่าวจะเป็นระดมเอกชนให้เข้ามาช่วยให้ประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารได้อย่างน้อยวันละ 1 มื้อ

รองนายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่า ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงเรื่องการคลายล็อกให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการฟื้นการท่องเที่ยวของไทย แต่การจะเปิดให้นักท่องเที่ยงเข้ามาต้องเลือกสรรอย่างดี โดยกำหนดประเทศที่จะจับคู่กันต้องปลอดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 พอสมควร

ส่วนแนวทางการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยนั้น ยังไม่จำเป็นต้องเปิดให้ต่างชาติเข้ามาได้ทั้งประเทศ แต่สามารถเลือกเป็นเมือง หรือมณฑลจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด-19 ให้เข้ามาเที่ยวในไทยได้ ส่วนในไทยก็ต้องมีระบบติดตามให้ดี มีระบบดิจิทัลที่ทันสมัย ต้องค่อยๆ เปิด ซึ่งจะมีต่างประเทศเข้ามาเที่ยวไทยในไตรมาส 3-4

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวในเวลานี้จะถือว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากโลกไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกได้ ดังนั้น การบริโภคในประเทศจึงต้องมีมาตรการเพิ่มซึ่งกระทรวงการคลังกำลังพิจารณา โดยจะเน้นใช้มาตรการกระตุ้นคนที่มีอำนาจซื้อไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะออกมาไตรมาส 3 บวกกับของการท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจุบันการท่องเที่ยวภายในประเทศดีขึ้น จากที่โรงแรมเต็มเกือบ 100% เนื่องจากคนอยากออกไปเที่ยว การคลายล็อกของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) เริ่มมีมากขึ้น แต่มาตรการให้คน กทม. ออกไปต่างจังหวัดยังจะต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มอีก เพื่อให้เม็ดเงินท่องเที่ยวหล่อเลี้ยงผู้ประกอบการท่องเที่ยวรวมทั้งเศรษฐกิจในไตรมาส 3-4 ได้

“หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะผ่อนคลายและประคองเศรษฐกิจได้ถึงต้นปีหน้า การคิดเราต้องคิดเป็นรายไตรมาส โดยปีหน้าหวังส่งออกดีขึ้น ท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่ดี กระทรวงการคลังเตรียมตัวล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องทำอย่างไร มีเงินเยียวยาประชาชนได้อย่างไร คิดก่อนล่วงหน้าแล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาต้องมาพูดกัน" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลต้องดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเวลา 6 เดือน และในเวลานี้ก็ถึงเวลาที่ต้องเข้าฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว ทั้งนี้ ตนยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยจากนี้จะมีการปรับเปลี่ยนในแต่ละอุตสาหกรรม และมีการยึดโยงหลายภาคส่วนนั้นจะมีการปรับตัวกันอย่างไร ซึ่งกระทรวงการคลังได้เตรียมนัดหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อพิจารณาว่าเอกชนต้องการความช่วยเหลืแจากภาครัฐอย่างไร ทั้งนี้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเดียว แต่จะมีความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ อีกด้วย ขณะที่การช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่เอสเอ็มอีนั้น นายอุตตม กล่าวว่า ตนต้องการให้มีผลในไตรมาส 3 เพื่อที่จะสามารถช่วยผู้ประกอบการและประชาชนในช่วง 3 เดือนต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี


กำลังโหลดความคิดเห็น