ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ออกอาการ “ตุปัดตุเป๋” อย่างต่อเนื่องทีเดียวสำหรับ “นิสสัน มอเตอร์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดกรณีฉาวของ “คาร์ลอส กอส์น” อดีตประธานและซีอีโอ ของกลุ่มอัลลายแอนซ์ ซึ่งประกอบไปด้วย “เรโนลต์ นิสสัน และมิตซูบิชิ” และซ้ำเติมอีกดอกกับการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโควิด-19” ที่ทำเอา “ทรุดหนัก”
คราวนี้ นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศแผนการดำเนินงานปรับโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ระยะยาว 4 ปีออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์อีกครั้ง หลังผลประกอบการประจำปี 2562 (1 เมษายน 2562 - 31 มีนาคม 2563) ออกมาแล้วว่า “ขาดทุนกว่า 671,200 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยราว 22,300 ล้านบาท” และเตรียมเลิกจ้าง ลดพนักงาน ทั่วโลกอย่างน้อย 2 หมื่นตำแหน่ง
“บริษัทจะมุ่งเน้นไปที่การลดค่าใช้จ่าย ตัดส่วนธุรกิจที่ไม่สามารถทำกำไรออกไป และปรับลดการผลิต การลงทุนให้สอดคล้องกับการเติบโต การเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินงานของนิสสันในครั้งนี้ เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน แทนที่การสร้างยอดขายให้มากขึ้นเพียงอย่างเดียว เราจะมุ่งไปที่ความสามารถหลักและเสริมสร้างคุณภาพให้กับธุรกิจ โดยรักษาระเบียบวินัยทางการเงิน พร้อมกับมุ่งเน้นไปที่การสร้างรายได้สุทธิต่อหน่วยเพื่อทำกำไรตามเป้าหมายที่วางเอาไว้” มาโคโตะ อูชิดะ ประธานเจ้าหน้าบริหาร นิสสัน กล่าว
ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวประกอบไปด้วย การลดจำนวนรุ่นรถที่จำหน่ายลงจาก 69 รุ่น เหลือ 55 รุ่น การตัดรายจ่ายประจำลง 300,000 ล้านเยน (ประมาณ 10,000 ล้านบาท) พร้อมกับลดกำลังการผลิตลงประมาณ 20% เหลืออยู่ที่ 5.4 ล้านคันต่อปี และใช้ประโยชน์ให้เต็มความสามารถของกำลังการผลิตที่มีอยู่ ยุติการทำตลาดที่เกาหลีใต้ และยุติการทำตลาดแบรนด์ดัทสันในรัสเซีย รวมถึงการปิดโรงงานบางแห่ง
สำหรับการปิดโรงงานจะเริ่มต้นด้วยโรงงานนิสสันที่ บาร์เซโลนา ประเทศสเปน พร้อมกับการปิดไลน์การประกอบรถยนต์ที่ประเทศอินโดนีเซีย และย้ายฐานการผลิตมาให้ประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการแทนทั้งหมด โดยตั้งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การผลิตแห่งเดียวรองรับตลาดอาเซียน ซึ่ง “นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย” ก็ขานรับการย้ายฐานผลิตดังกล่าวด้วยการประกาศกลับมาเริ่มเปิดสายการผลิตของโรงงานที่ 2 ในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาหลังจากที่ปิดการผลิตชั่วคราว เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตรวมของโรงงานนิสสัน ประเทศไทยมีสูงสุดถึง 370,000 คัน/ปี และปัจจุบันผลิตรถเพื่อส่งออกจำนวน 6 รุ่น จำหน่ายไปยัง 115 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ล่าสุด คือ นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์* ที่มีการยืนยันว่าจะผลิตเพื่อส่งออกด้วย
สำหรับรถรุ่นใหม่อื่นๆ นิสสัน มอเตอร์ประกาศว่า มีการเตรียมเปิดตัวรถยนต์ 12 รุ่น ภายใน 18 เดือนนับจากนี้ โดยจะมีการมุ่งเน้นไปที่รถในกลุ่ม C และ D เซกเมนต์ รถสปอร์ตและรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่รวมถึงรถที่ใช้เทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ ซึ่งตั้งเป้าจำหน่ายรวม 1 ล้านคัน ภายในปี 2566
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า “สัญญาณร้าย” ของนิสสัน ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ประเภทที่สามารถใช้คำว่า “ดีๆ ทรุดๆ”* สลับกันไป โดยในช่วงปี 2542 นิสสันประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องและขาดทุนสะสมหลายปีจนถึงขั้นวิกฤตเสี่ยงต่อการล้มละลาย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ลามทั่วเอเชีย เรโนลต์จึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วยและบรรลุข้อตกลงในการเป็นพันธมิตรกัน
จากนั้นก็ปรากฏชื่อของ “คาร์ลอส กอส์น” เข้ามาร่วมทำหน้าที่บริหารงานของนิสสัน ซึ่งหลังจากกอส์นเข้ามาบริหารได้เพียง 3 ปีกว่า ในปี 2545 นิสสันประกาศผลประกอบการกลับมามีกำไรพร้อมล้างหนี้สะสมทั้งหมดได้ และเดินหน้าทำกำไรอย่างต่อเนื่อง
ทว่า นิสสันก็มาถึงจุดพลิกผันอีกครั้งหลังมีการจับกุม “คาร์ลอส กอส์น” และเคราะห์ซ้ำกรรมซัดกับการแพร่ระบาดของโควิด-19ที่ส่งกระทบอย่างหนักต่อยอดขายทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย
“ ผลประกอบการย่ำแย่กว่าที่คาดหมายไว้ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ทั้งเรื่องของความต้องการที่ลดลงของตลาดรถยนต์ กรณีอื้อฉาวของนายคาร์ลอส กอส์น อดีตผู้บริหารที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต และความตึงเครียดระหว่างพันธมิตรคือ Renault และ Mitsubishi Motor”มาโคโตะ อูชิดะกล่าว
สำหรับประเทศไทย ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก “ราเมช นาราสิมัน” ประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า เป็นช่วงที่นิสสันอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากและท้าทายที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยคาดว่าตลาดรวมน่าจะหดตัวลงราว 35% หรือ มาอยู่ที่ระดับประมาณ 600,000-610,000 คัน ในปีนี้ เนื่องจากยอดขายรถของทุกค่ายลดลง ไม่ใช่เป็นแต่เฉพาะค่ายใดค่ายหนึ่งเท่านั้น แต่คาดหวังว่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้น ยอดขายจะค่อยๆ กลับมาได้
ทั้งนี้ หลังจากที่มีการประกาศปิดโรงงาน ปัจจุบัน (25 พฤษภาคม 2563) มีการกลับมาผลิตเป็นปกติสำหรับไลน์การประกอบรถยนต์ที่หนึ่ง ส่วนไลน์ที่สองนั้นอยู่ระหว่างการประเมิน ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเริ่มผลิตเมื่อใด เนื่องจากต้องรอความพร้อมของผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ป้อนให้กับโรงงานด้วย
“ทุกอย่างยังคงยืนยันตามแผนเดิมที่เคยประกาศว่าจะลงทุน 10,000 ล้านบาทในประเทศไทย ส่วนการปรับโครงสร้างของนิสสัน มอเตอร์ ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ไม่สามารถให้ความเห็นได้ แต่สามารถบอกได้ในมุมของ นิสสัน ประเทศไทย คือ โรงงานของนิสสันในไทยนั้นเป็นฐานการผลิตที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของนิสสัน อีกทั้งยังเป็นฐานการส่งออกรถนิสสันไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังจะเห็นจากการที่ไทยเป็นประเทศแรกต่อจากญี่ปุ่นที่ได้รับอนุญาตให้เป็นฐานการผลิตเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์”ราเมซ นาราสิมันกล่าว
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงหลังสภาพคล่องของนิสสันไทยก็มีปัญหาเช่นกัน เห็นได้จากโบนัสปี 2562 ค้างอีก 3 เดือนยังไม่ได้จ่ายให้พนักงาน และตามแผนปรับโครงสร้างครั้งนี้อาจจะต้อง “ลดพนักงาน” ลง 10-20% ส่วนการผลิตรถยนต์ที่โรงงานแห่งที่ 1 กลับมาดำเนินงานแล้ว แต่ไม่มีการทำงานล่วงเวลา ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 เริ่มกลับมาทำงานตั้งแต่ 1 มิถุนายนนี้ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ไม่ต่อสัญญาจ้างพนักงาน 300 คน จากพนักงานสัญญาจ้างทั้งสิ้น 1,900 คน และเตรียมเปิดโครงการสมัครใจลาออก
ส่วนถามว่า นิสสันจะ “อวสาน” และพับฐานไปจากประเทศไทยไหม ถ้าหากดูจากทิศทางของบริษัทแม่ ก็เชื่อว่าน่าจะยังคงยืนระยะได้พอสมควร ดังจะเห็นได้จากการประกาศนโยบายให้เป็นศูนย์การผลิตในภูมิภาคอาเซียน แต่หลังจากนั้นก็คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้น เพราะยอดขายโดยรวมของอุตสาหกรรมรถโลกและไทยประสบปัญหาแสนสาหัสจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
นิสสันจะพลิกฟื้นกลับมาด้วยกลยุทธ์อะไร
นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์จะกลายเป็น “พระเอก” เพื่อกอบกู้สถานการณ์ของนิสสันได้หรือไม่...โปรดติดตามอย่างไม่กระพริบตา.