เป็นกระแสทอล์คออฟเดอะทาวน์ที่พุ่งอย่างแรงในแวดวงยานยนต์ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด-19 สำหรับการเปิดตัวของ “นิสสัน คิกส์” กับเรื่องราวของเทคโนโลยีใหม่ “อี-พาวเวอร์” ที่หลายคนเกิดความสับสนว่า แท้จริงแล้วนั้น เทคโนโลยีชื่อสุดแสนจะเท่นี้ คืออะไรกันแน่
ทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอร์ริ่ง ขออนุญาตนำเสนอบทความในเชิงวิชาการ ที่ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลโดยตรงจากวิศวกรและผู้ดูแลผลิตภัณฑ์ของนิสสัน รวมถึงการที่ผู้เขียนได้ขับและสัมผัสกับนิสสัน คิกส์ คันจริงมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลลัพธ์เป็นอย่างไร เชิญติดตามกันได้
e-Power = ไฮบริด ซีรี่ส์
ทำความเข้าใจกับพื้นฐานของเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันก่อนว่า รถที่ใช้ไฟฟ้าเกี่ยวเนื่องในการขับเคลื่อนจะเรียกกันอย่างเป็นทางการว่า EV หรือ Electric Vehicles และจะมีการจำแนกตามแหล่งพลังงานที่มาใช้งานซึ่งใหญ่ๆ จะมีด้วยการทั้งสิ้น 4 แบบ ได้แก่ BEV, HEV, PHEVและ FCEV (ดูตารางประกอบ) หลายท่านน่าจะทราบอยู่บ้างแล้ว จึงขอรวบรัดตัดความเข้าประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
สำหรับ HEV หรือ ไฮบริด มีการแยกย่อย ออกเป็น 3 แบบหลักคือ แบบซีรี่ส์, แบบขนาน และแบบผสมซีรี่ส์กับขนาน อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แบบซีรี่ส์ จะเป็นการใช้เครื่องยนต์มาปั่นกระแสไฟเพียงอย่างเดียว ส่วนแบบขนานทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์จะขับเคลื่อนร่วมกัน และ แบบผสม เครื่องยนต์จะทำ 2 หน้าที่คือ ขับเคลื่อนและปั่นกระแสไฟให้กับมอเตอร์ (ดูตารางรูปแบบระบบไฮบริดประกอบ)
ดังนี้แล้วในเชิงวิชาการ นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ จะต้องจัดอยู่ในประเภทใด? คำตอบคือ HEV หรือ รถไฮบริดแบบซีรี่ส์ ซึ่งคำตอบนี้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่อนุมัติแผนส่งเสริมการลงทุนให้กับนิสสันด้วย และมีการระบุใน อีโค สติกเกอร์ ว่าเป็น รถประเภทไฮบริด
ความสับสนมาจากไหน
ด้วยการสื่อสารทางการตลาดที่หลีกเลี่ยงการใช้คำว่าไฮบริด แต่ใช้คำว่า “รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ต้องชาร์จไฟ” ทำให้ผู้บริโภคหลายคนเกิดความสับสนว่า จริงๆ แล้วเป็นเช่นไร ประเด็นนี้ ถ้ามองจากมุมอีกด้านของการเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ถือว่าไม่ผิดแต่ประการใดเปรียบเหมือน รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ต้องหาที่ชาร์จไฟ เพราะมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าซึ่งผลิตขึ้นได้เองจากเครื่องยนต์
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจาก นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ ใช้เทคโนโลยีที่ถ่ายทอดมาจาก นิสสัน ลีฟ ใช้มอเตอร์ตัวเดียวกันคือ EM57 ในการเป็นหัวใจขับเคลื่อน แต่มีสิ่งที่แตกต่างออกไป แบตเตอรี่มีขนาดเล็กเพียง 1.57 kWw โดยให้เครื่องยนต์มาปั่นกระแสไฟป้อนให้กับแบตเตอรี่ แทนการชาร์จไฟ แก้ปัญหาในเรื่องของการหาที่ชาร์จและระยะเวลาในการรอชาร์จนาน ซึ่งเป็นข้อด้อยของรถไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี่เวลานี้
นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ ทำงานอย่างไร?
การทำงานของระบบ อี-พาวเวอร์ จะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้ารุ่น EM57 ตัวเดียวกับที่ใช้ใน นิสสัน ลีฟ แต่จะแตกต่างในเรื่องของพละกำลัง นิสสัน คิกส์ ปรับลดมาให้มีกำลังสูงสุดที่ 129 แรงม้า แรงบิด 260 นิวตันเมตร เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานและแหล่งพลังงาน ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
หลักการทำงานหัวใจสำคัญอยู่ที่ Inverter หรือตัวแปลงไฟ ซึ่งจะทำหลายหน้าที่ ทั้งรับและจ่ายกระแสไฟ เบื้องต้นคือ รับกระแสไฟฟ้าจากการปั่นไฟของเครื่องยนต์มาเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ และเมื่อเกิดการขับเคลื่อนจะดึงไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาจ่ายให้กับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยแบตเตอรี่มีความจุ 1.57 kWh แน่นอนว่า คำถามต่อมาคือ เพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่
โดยการหลักการทำงานของระบบอี-พาวเวอร์ เครื่องยนต์จะติดเพื่อเติมกระแสไฟให้กับแบตเตอรี่อย่างสม่ำเสมอโดยคงระดับพลังงานในแบตเตอรี่เอาไว้ระหว่าง 90%-40% จะไม่เติมจนเต็ม และไม่ปล่อยจนแบตหมด ดังนั้นจึงเป็นลักษณะของการทำงานแบบเติมน้อยๆ แต่เติมบ่อยๆ ส่วนเครื่องยนต์จะติดบ่อยขนาดไหนนั้นขึ้นกับโหมดของการขับขี่และพฤติกรรมการใช้งานเป็นสำคัญ
ขณะที่การแร่งแซงหรือคิกดาวน์ที่ต้องใช้กำลังไฟมากนั้น ระบบจะดึงไฟจากแบตเตอรี่ก่อนหากไฟไม่เพียงพอจะสั่งให้เครื่องยนต์ทำงานและดึงกระแสไฟเสริมตรงไปที่มอเตอร์ผ่านตัวแปลงไฟ ส่วนการขับด้วยความเร็วคงที่ค่อนข้างสูงนั้น ระบบจะดึงไฟจากแบตเตอรี่มาใช้งานก่อนเสมอ ดังนั้นเครื่องยนต์จะติดขึ้นบ่อยกว่าการขับขี่แบบในเมือง
ขับแล้วเป็นอย่างไร?
ผู้เขียนได้ขับในสนามทดสอบของนิสสันเป็นจำนวน 3 รอบ และนั่งทางด้านหลังอีก 3-4 รอบ กล่าวสรุปได้เพียงสั้นๆว่า การขับขี่ได้ความรู้สึกเหมือนขับรถยนต์ไฟฟ้า อัตราเร่งดี ตอบสนองทันใจ ช่วงล่างค่อนข้างเฟิร์ม ไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป อาการโยนตัวน้อย เสียงในห้องโดยสารเงียบ แต่หากเครื่องยนต์ติดขึ้นมาจะมีเสียงดังให้ได้ยินอยู่
เราขับได้ความเร็วสูงสุดเพียง 100 กม./ชม. เนื่องจากถนนทางตรงที่สั้น แต่ทำความเร็วได้ขนาดนี้เราถือว่าประทับใจ ส่วนการเบรกไม่มีปัญหา การบังคับควบคุมพวงมาลัย เบามือ เหมาะกับการใช้งานในเมือง เบาะหลังนั่งสบายอาจจะไม่ได้กว้างเท่ากับรถ C SUV แต่ะไม่รู้สึกว่าแคบหรืออึดอัด
สวนสิ่งที่ไม่ชอบคือ คุณภาพของวัสดุภายในห้องโดยสารอยู่ในระดับเดียวกับ นิสสัน อัลเมร่า ทำให้เมื่อเห็นราคาแล้วจึงต้องคิดทบทวนอยู่ไม่น้อย รวมถึงความกังวลในเรื่องของความทนทานในการใช้งาน เนื่องจากประเทศไทยนั้นเป็นเมืองร้อนถึงร้อนมาก ทำให้ระบบไฟฟ้าต่างๆ โดยเฉพาะตัวแปลงไฟที่รับบทหนักในการทำงาน จะยืนระยะได้ดีเพียงใด ยังเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบจากการใช้งานจริง แต่ยังดีที่มีการรับประกันชิ้นส่วนนี้ถึง 5 ปี ทำให้อุ่นใจได้ระดับหนึ่ง
สุดท้ายเป็นเรื่องของอัตราการบริโภคน้ำมันที่ทุกคนสงสัย ตามมาตรฐานของอีโคสติกเกอร์ระบุตัวเลข นิสสัน คิกส์ ที่ 23.8 กม./ลิตร ส่วนจะขับจริงได้เท่าไหร่ จากประสบการณ์ที่เคยขับทดสอบ อี-พาวเวอร์ ในนิสสัน เซเรน่า มาแล้ว ตัวเลขเคลมระบุที่ 22.6 กม./ลิตร ส่วนการขับจริงอยู่ราว 11-12 กม./ลิตร ดังนั้นขอให้ทำใจเอาไว้สักหน่อยว่าจะไม่ได้ประหยัดขนาดที่เคลมเอาไว้อย่างแน่นอน
โดยตัวเลขสำคัญคือ การเปรียบเทียบการขับขี่ในเมือง กับนอกเมืองนั้น อัตราการบริโภคน้ำมันในเมืองจะประหยัดกว่าวิ่งนอกเมือง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของการที่เครื่องยนต์ติดขึ้นเพื่อปั่นกระแสไฟเข้าสู่ระบบ ดังนั้น สรุปเบื้องต้น นิสสัน คิกส์ จึงเหมาะกับการใช้งานในเมืองมากกว่าวิ่งทางยาวๆ