xs
xsm
sm
md
lg

คนทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ทำไม “ผมหายใจไม่ออก”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

โธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา เขียนคำประกาศอิสรภาพแห่งสหรัฐฯ ประกาศเอกราชของ 13 อาณานิคมจากจักรวรรดิอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 ข้อความหนึ่งที่เป็นคำคมที่ถูกยกมากล่าวถึงมากที่สุด จนถึงปัจจุบัน คือ

“เราถือว่า ความจริงต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกันและพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้น ได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสงหาความสุข”

หลักความเสมอภาคกันของพลเมืองทุกคน ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา และเกือบทุกๆ ประเทศในโลกนี้ ที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ยูวัล โนอาห์ ฮารารี่ นักประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอล กล่าวไว้ในหนังสือ “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ” ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าวิวัฒนาการของมนุษย์สายพันธุ์โฮโม ซาเปี้ยน ด้วยมุมมองใหม่ ว่า มนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน มนุษย์ทุกคนมีวิวัฒนาการอย่างแตกต่างกัน และเกิดขึ้นโดยมีลักษณะทางพันธุกรรมบางประการที่สามารถกลายพันธุ์ได้ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต และการเสาะแสวงหาความสำราญ

ฮารารี่บอกว่า ความคิดเรื่องคนเท่าเทียมกันนั้น เป็น “จิตนาการรวมหมู่” คือ ความจริงที่ถูกแต่งขึ้นมา เป็นความเชื่อร่วมกันของเซเปียนส์ เช่นเดียวกับความเชื่อในเรื่องเงิน ศาสนา และจักรวรรดิ เพื่อหลอมรวมสร้างความเป็นปึกแผ่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน และจินตนาการรวมหมู่นี้ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ เซเปียนส์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์มนุษย์ยุคปัจจุบันอยู่รอดมาจนถึงวันนี้ ในขณะที่มนุษย์สายพันธุ์อื่นที่แข็งแรงกว่า เช่น นีแอนเดอร์ธัล สูญพันธุ์ไปจนหมด

การชุมนุมประท้วงความตายของ จอร์จ ฟลอยด์ คนอเมริกันผิวดำ ทั้งโดยสงบ และที่บานปลายเป็นความรุนแรง ที่ถูกผสมโรงด้วยการฉวยโอกาสปล้นสะดมร้านค้า ที่เกิดขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่หลักการเรื่องคนทุกคนเท่าเทียมกันถูกท้าทายว่า จริงหรือ หรือว่า เป็นแค่ “จินตนาการร่วม” ในหมู่คนผิวขาวที่อพยพมาสู่โลกใหม่ ที่ต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นเอกราช จากคนผิวขาวในโลกเก่า อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก

ลัทธิเหยียดผิวอยู่คู่กับสังคมอเมริกันมาตั้งแต่ประเทศนี้ถือกำเนิดขึ้นมา เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง การลุกฮือ ประท้วงของคนผิวดำ การปราบปราม จำคุกผู้นำของรัฐบาลคนผิวขาว

ปี 1955 ผู้หญิงอเมริกันผิวดำ โรซา พาร์ค ถูกตำรวจจับ เพราะไม่ยอมลุกจากที่นั่งบนรถเมล์ ให้ผู้ชายผิวขาวนั่ง ทำให้คนผิวดำในเมืองมอนต์กอเมอรี ลุกขึ้นมาประท้วง บาทหลวงมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นผู้นำเรียกร้องประชาชนให้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ ต่อต้านการแบ่งแยกชนชั้นและสีผิว สุดท้าย ศาลสูงสุดตัดสินว่า การแบ่งแยกที่นั่งบนรถโดยสารประจำทาง ห้ามคนผิวดำไปนั่งที่นั่งที่สงวนไว้สำหรับคนผิขาว เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

การต่อสู้ครั้งนั้น ทำให้มาร์ติน ลูเธอร์ คิง กลายเป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวที่ทรงอิทธิพล ก่อนจะถูกยิงตาย เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1968 ความตายของเขา เป็นพลังให้การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของคนผิวดำเข้มแข็งยิ่งขึ้น


แต่ความรู้สึกแบ่งแยกเหยียดสีผิวในสังคมอเมริกันไม่ได้หายไปไหน ยังฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของคนผิวขาวบางกลุ่ม และแผ่ขยายจากความรังเกียจคนผิวดำไปสู่คนเชื้อชาติอื่นๆ เช่น คนละตินอเมริกา คนเอเชีย โดยเฉพาะคนเชื้อสายจีน แม้ว่าจะเกิดในสหรัฐฯ มีสัญชาติอเมริกัน

50 กว่าปี หลังการเสียชีวิตของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง การแบ่งแยก และเหยียดสีผิวไม่ได้ลดลง แต่แฝงตัวอยู่ภายใต้ความตึงเครียด รอวันที่จะปะทุขึ้นมาเป็นครั้งคราว และดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นในยุคนี้ ที่มีผู้นำอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจการเมืองที่ทำทุกอย่าง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และเป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำผิวขาว

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีการจลาจลที่มีที่มาจากการปฏิบัติต่อคนผิวดำอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐถึง 9 ครั้ง หรือเฉลี่ยทุกๆ 2 ปี โดยแต่ละครั้งไม่ใช่แค่การเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจแล้วก็เลิกรากันไป แต่เป็นความรุนแรงที่ลุกลามกระจายไปทั่วประเทศ ต่อเนื่องกันหลายๆ วัน

สหรัฐฯ ชอบโฆษณาตัวเองว่าเป็นประเทศที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากที่สุด เป็นประเทศต้นแบบของระบอบประชาธิปไตย และเที่ยวไปชี้หน้าสั่งสอนประเทศอื่นๆ ว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สมัยสงครามเย็น สหภาพโซเวียต โต้กลับสหรัฐฯ ด้วยคำขวัญว่า “คุณกำลังแขวนคอคนผิวดำ” เพื่อบอกว่า ประเทศที่ส่งออกประชาธิปไตย แต่กลับละเมิดสิทธิพลเมืองของตนที่เป็นคนผิวดำ

สงครามเย็นยุคใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สหรัฐฯ ให้ท้ายกลุ่มต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกง ถึงขนาดออกกฎหมายเพื่อปกป้องคนเหล่านั้น ตอนนี้นิ้วที่ชี้ไปที่คนอื่นกำลังย้อนกลับมาหาตัวเอง นางแครี่ ลัม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง บอกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีสองมาตรฐาน คือ สนับสนุนม็อบฮ่องกง แต่ปราบม็อบในบ้านของตัวเองอย่างรุนแรง

ภาพที่ตำรวจผิวขาว ใช้เข่ากดไปที่คอของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่นอนอยู่บนพื้น จนเขาต้องร้องออกมาว่า “ผมหายใจไม่ออก” และเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจในที่สุด ฟ้องว่า หลักการที่ว่า คนทุกคนเท่าเทียมกัน คนอเมริกันทุกคนเสมอภาคกัน อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญนั้น เป็น “จินตนาการร่วม” ที่ถูกแต่งขึ้นมาให้คนทั่วไปเชื่อเท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น