เอเจนซีส์ - ชาวอเมริกันพอใจที่ตำรวจมินนิอาโปลิส 4 นาย ถูกตั้งข้อหาเพิ่ม ในคดีฆาตกรรม “จอร์จ ฟลอยด์” แต่ยังคงประท้วงต่อเนื่องเป็นคืนที่ 9 เพื่อต่อต้านการเหยียดผิวและการทารุณกรรมของตำรวจ ขณะที่อดีตนายใหญ่เพนตากอนจวก “ทรัมป์” จ้องทำให้อเมริกาแตกแยก
ผู้ประท้วงยังคงออกมาชุมนุมและเดินขบวนเมื่อคืนวันพุธ (3 มิ.ย.) ในหลายเมืองตั้งแต่นิวยอร์ก จนถึงลอสแองเจลิส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาเช่นนี้อย่างถอนรากถอนโคน ถึงแม้ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น ข้อเรียกร้องสำคัญข้อหนึ่งของพวกเขาได้รับการตอบสนอง นั่นคือ อัยการเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา ประกาศตั้งข้อหาหนักขึ้นต่อตำรวจ 4 นาย ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวดำวัย 46 ปี
ตามประกาศดังกล่าว ดีเร็ก ชอวิน ตำรวจผิวขาววัย 44 ปี ที่ใช้เข่ากดคอฟลอยด์นานเกือบ 9 นาที จนฟลอยด์ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต ถูกเพิ่มระดับข้อกล่าวหาเป็นฆาตกรรมโดยเจตนาแต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 40 ปี จากก่อนหน้านี้ที่ถูกปลดและถูกจับกุมภายใต้ข้อกล่าวหาฆาตกรรมโดยประมาท
ส่วนตำรวจอีก 3 นายที่อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ระหว่างการจับกุมฟลอยด์ที่พยายามใช้ธนบัตรปลอมซื้อบุหรี่นั้น ถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรม มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 40 ปีเช่นเดียวกัน โดยมีการควบคุมตัวตำรวจทั้ง 3 นายแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้แค่ปลดออกเท่านั้น
ครอบครัวฟลอยด์ออกคำแถลงขอบคุณผู้ประท้วง และระบุว่าการจับกุมและเพิ่มข้อหาเป็นช่วงเวลาที่ทั้งน่ายินดีและเศร้าใจ แต่ก็ถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะนำไปสู่ความยุติธรรม พร้อมขอให้คนอเมริกันยืนหยัดเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบต่อไป
การจับกุมตำรวจทั้ง 4 นาย เป็นจุดสนใจของผู้ประท้วงนับหมื่นคนที่เดินขบวนในหลายสิบเมืองทั่วอเมริกา และบ่อยครั้งฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิว เพื่อประณามการใช้ความรุนแรงของตำรวจและเรียกร้องความเป็นธรรมด้านเชื้อชาติ
ทางด้านอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยินดีกับการที่คนอเมริกันเปลี่ยนความคิดและลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมด้านเชื้อชาติ และสนับสนุนให้ใช้โอกาสนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรม
หลายเมือง เช่น ลอสแองเจลิส และ วอชิงตัน ดี.ซี. ถอยเวลาเริ่มต้นคำสั่งเคอร์ฟิวออกไปหลายชั่วโมงเมื่อคืนวันพุธ หลังจากการปล้นและการก่อความรุนแรงซาลง ขณะที่ซีแอตเติลยกเลิกกฎนี้โดยมีผลทันที
กระนั้น มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมากในนิวยอร์ก หลังกลุ่มผู้ประท้วงยังคงเดินขบวนในแมนฮัตตันและบรูกลินหลัง 20.00 น. ตามกฎเคอร์ฟิว เช่นเดียวกับในวอชิงตัน ดี.ซี. ที่มีผู้ฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิวและชุมนุมกันต่อ
ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น แม้ประณามการฆาตกรรมฟลอยด์ แต่ยืนกรานใช้ไม้แข็งกับผู้ประท้วง โดยอ้างว่า มี “คนไม่ดี” ปะปนอยู่มากมาย และเรียกร้องให้ผู้ว่าการรัฐสลายการชุมนุมบนท้องถนนเพื่อฟื้นกฎระเบียบในสังคม
ท่าทีดังกล่าวถูกวิจารณ์จาก จิม แมตทิส อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ในคณะบริหารของทรัมป์เอง ที่บอกว่า ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนแรกในช่วงชีวิตของตนที่ไม่แม้แต่จะเสแสร้งพยายามทำให้คนอเมริกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่กลับพยายามทำให้ประเทศแตกแยก
หลังจากนั้นไม่นาน ทรัมป์ได้ออกมาทวีตตอบโต้ว่า แมตทิสเป็นนายพลที่ได้รับการยกย่องเกินจริงที่สุดในโลก
ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการนำเอากฎหมายปราบจลาจลมาบังคับใช้ เพื่อนำทหารประจำการในกองทัพ ออกมาปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ ไม่ใช่แค่ใช้ทหารจากกองกำลังป้องกันชาติ (เนชันแนลการ์ด) อย่างในปัจจุบัน
ทว่า มาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหม ค้านว่า ควรใช้ตัวเลือกดังกล่าวเป็นวิธีสุดท้ายในกรณีที่เกิดสถานการณ์เลวร้ายและเร่งด่วนที่สุดเท่านั้น ซึ่งยังไม่ใช่ขณะนี้
ด้าน เคย์ลีห์ แม็กอีแนนีย์ โฆษกหญิงทำเนียบขาว กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวยังคงเป็น “เครื่องมือที่พร้อมใช้” สำหรับประธานาธิบดีในการปกป้องท้องถนนของอเมริกา พร้อมกับวิจารณ์แมตทิสว่าต้องการโปรโมตตัวเองกับเหล่าผู้นำเดโมแครต
นอกจากนั้น ทรัมป์ยังแก้ข่าวที่ว่า เขาหนีไปอยู่ในห้องหลบภัยใต้ดินของทำเนียบขาว ขณะที่มีการประท้วงรุนแรงด้านนอกทำเนียบ โดยบอกว่า เป็นข่าวปลอมและเสริมว่า ตนแค่ไปยังพื้นที่ปลอดภัยเพื่อ “ตรวจสอบ” ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น
รายงานข่าวดังกล่าวทำให้ทรัมป์ถูกเย้ยหยันในโลกออนไลน์ และยังเชื่อกันว่า เป็นที่มาที่ทำให้เขาตัดสินใจไปเยี่ยมโบสถ์ที่เสียหายใกล้ทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์ (1)