เอเอฟพี - หัวหน้าหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในวันพุธ (3 มิ.ย.) ประณามโครงสร้างเหยียดผิวในสหรัฐฯ และแสดงความกังวลเกี่ยวกับเหตุทำร้ายสื่อมวลชนหลายกรณีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะกำลังรายงานข่าวการประท้วงทั่วอเมริกา หลังการเสียชีวิตด้วยน้ำมือตำรวจของจอร์จ ฟลอยด์
มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยืนยันว่า ความคับข้องในหัวใจของพวกผู้ประท้วง ซึ่งปะทุขึ้นในหลายร้อยเมืองทั่วสหรัฐฯ จำเป็นต้องได้รับฟังและจัดการแก้ไข หากประเทศแห่งนี้ต้องการเดินทางต่อไป
“เสียงเรียกร้องให้หยุดฆ่าคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันต้องได้รับการรับฟัง” เธอกล่าวในถ้อยแถลง “เสียงเรียกร้องให้หยุดการกระทำรุนแรงของตำรวจจำเป็นต้องได้รับการรับฟัง และเสียงเรียกร้องขอให้หยุดการเหยียดเชื้อชาติเฉพาะถิ่น และโครงสร้างเหยียดเชื้อชาติที่ก่อความเสียหายแก่สังคมสหรัฐฯ จำเป็นต้องได้รับการรับฟัง”
ความเห็นของเธอมีขึ้นในขณะที่ประชาชนหลายหมื่นคนทั่วสหรัฐฯ ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวออกมาชุมนุมกันอีกคืน ในการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวของตำรวจ ตามหลังการตายของฟลอยด์ พลเมืองอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ที่ไม่มีอาวุธ ซึ่งถูกตำรวจจับและใช้เข่าทับคอจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิตในเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (25 พ.ค.)
บาเชเลต์ เน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับการมีผู้นำที่ชัดเจนและสร้างสรรค์ในการนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤต “โดยเฉพาะระหว่างวิกฤตหนึ่งๆ ประเทศหนึ่งๆ จำเป็นต้องมีพวกผู้นำที่ประณามการเหยียดผิว รับฟังเสียงสะท้อนว่าอะไรที่ขับเคลื่อนประชาชนไปสู่จุดเดือด รับฟังและเรียนรู้ พร้อมทั้งดำเนินการเพื่อจัดการอย่างจริงจังกับประเด็นความไม่เท่าเทียม”
คำแนะนำของบาเชเลต์ มีขึ้นในขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เมินเฉยต่อบทบาทดั้งเดิมของประธานาธิบดีในฐานะผู้เยียวยาระหว่างวิกฤต หนำซ้ำเขายังประกาศจะใช้ทหารปราบปรามการประท้วงรุนแรง และปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอย่างสันติ
ถ้อยแถลงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อ้างถึงรายงานข่าวที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสหรัฐฯระหว่างการชุมนุม “แก๊สน้ำตา กระสุนยางและสเปรย์พริกไทย ถูกยิงเข้าใส่ผู้ประท้วงและผู้สื่อข่าว ผู้ซึ่งไม่ได้ใกล้เคียงที่จะเป็นภัยคุกคามใดๆ เลย”
บาเชเลต์ แสดงความกังวลโดยเฉพาะกับรายงานข่าวที่ว่า มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 200 คน ถูกโจมตีหรือถูกจับกุมระหว่างรายงานข่าวการประท้วง แม้ว่ามีการแสดงบัตรสื่อมวลชนให้เห็นอย่างชัดเจน
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การทำร้ายผู้สื่อข่าวอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในบางกรณีถึงขั้นถูกเล่นงานหรือจับกุมขณะออกอากาศ และที่น่าช็อกกว่าคือมันเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ดินแดนที่สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของสื่อมวลชนเป็นหลักการพื้นฐาน เป็นแก่นกลางตัวตนของประเทศ” ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว “ผู้สื่อข่าวต้องสามารถทำงานสำคัญได้อย่างอิสระโดยไม่ถูกเล่นงานหรือปราบปรามใดๆ”
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง บาเชเลต์ เรียกร้องพวกผู้ประท้วงอดกลั้นจากการใช้ความรุนแรง และแสดงความเสียใจที่หลายคน ในนั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ที่ต้องมาจบชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ ในขณะที่อีกหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินจำนวนมากได้รับความเสียหาย
“ความรุนแรง, ปล้นสะดม และทำลายทรัพย์สินและย่านที่อยู่อาศัยต่างๆ ไม่อาจแก้ปัญหาความโหดร้ายของตำรวจและการเลือกปฏิบัติ” เธอกล่าว
นอกจากนี้แล้ว เธอยังแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อถ้อยแถลงต่างๆ ที่หาทางตราหน้าพวกผู้ประท้วงว่าเป็นก่อการร้าย “เราไม่สามารถคลางแคลงใจได้เลยว่าอะไรหรือใครอยู่เบื้องหลังการประท้วง เราได้เห็นคนหลายพันหลายหมื่นชุมนุมกันอย่างสันติ คนที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน ออกมารวมตัวบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเขาและร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลง”
ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยอมรับว่า การเหยียดผิวทางโครงสร้างและการใช้ความรุนแรงของตำรวจถูกพบเห็นในทั่วทุกมุมโลก แต่เธอเตือนว่า “ความโกรธแค้นที่พบเห็นปะทุขึ้นในสหรัฐฯ ในขณะที่โควิด-19 เปิดโปงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม แสดงให้เห็นว่าทำไมการปฏิรูปอย่างกว้างขวางและการพูดอย่างครอบคลุมจึงมีความจำเป็น เพื่อทำลายวงจรแห่งการคุ้มกันตำรวจจากการฆ่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการมีอคติทางสีผิว”