เอเจนซีส์ - ชาวอเมริกันนับหมื่นปักหลักประท้วงในเมืองต่างๆ จำนวนมากทั่วประเทศ เป็นคืนที่ 8 ติดต่อกันในวันอังคาร (2 มิ.ย.) โดยไม่มีทีท่าจะยอมเลิกราง่ายๆ หรือหวั่นไหวกับคำขู่ของ “ทรัมป์” ในการส่งทหารเข้าปราบปราม ซึ่งปรากฏว่าเรียกเสียงวิจารณ์ตำหนิจากทั้งในและนอกประเทศ ขณะเดียวกัน โพลชี้ อเมริกันชนส่วนใหญ่สนับสนุนการประท้วงและไม่เห็นด้วยกับมาตรการรับมือของประธานาธิบดีผู้นี้
ในวันอังคาร มีการเดินขบวนและชุมนุมขนาดใหญ่ ทั้งที่ ลอสแองเจลิส ฟิลาเดลเฟีย แอตแลนตา ซีแอตเติล และอีกหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีผู้ประท้วงรวมตัวกันใกล้สวนสาธารณะในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นจุดที่ถูกตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าเคลียร์กลุ่มผู้ประท้วงอย่างสันติเมื่อวันจันทร์ (1) เพื่อให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เดินผ่านจากทำเนียบขาว ข้ามถนนไปยังโบสถ์เก่าแก่ซึ่งได้รับความเสียหายจากความรุนแรง ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพเขายืนถือคัมภีร์ไบเบิลบริเวณหน้าโบสถ์แห่งนี้
แม้การชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมให้ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่เสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา จับกุมเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (25 พ.ค.) ตลอดจนเหยื่อความโหดร้ายของตำรวจคนอื่นๆ เป็นไปด้วยความสงบเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกคืนเมื่อความมืดเข้าปกคลุม การชุมนุมก็จะแปรเปลี่ยนเป็นการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจในเมืองต่างๆ ตั้งแต่นิวยอร์กจนถึงลอสแองเจลิส อย่างไรก็ดี ในวันอังคารมีข่าวการเข้าปล้นชิงข้าวของจากร้านค้าและการก่อความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อคืนวันจันทร์
ที่เมืองฮิวสตัน รัฐเทกซัส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของฟลอยด์ ผู้คนนับหมื่นได้เข้าร่วมไว้อาลัย ก่อนจะมีพิธีฝังศพของเขาในสัปดาห์หน้า
ส่วนในนครนิวยอร์ก มีการขยายเวลาเคอร์ฟิวครั้งแรกนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จากแค่วันเดียวออกไปเป็นเป็นตลอดสัปดาห์ กระนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประท้วงหลายร้อยคนไม่ยอมกลับบ้านหลังเวลา 20.00 น. ตามคำสั่งเคอร์ฟิว แต่กลับเดินขบวนอย่างสันติไปตามถนนสายต่างๆ ในย่านแมนฮัตตัน และบรูกลิน
ที่รัฐมินนิโซตา ทิม วอลซ์ ผู้ว่าการรัฐ แถลงเปิดการสอบสวนด้านสิทธิพลเมืองต่อสำนักงานตำรวจของรัฐ เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ที่อาจมีการใช้แนวทางปฏิบัติในลักษณะการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบย้อนหลังกลับไปนาน 10 ปี ถือเป็นมาตรการรูปธรรมครั้งแรกในการจัดการปัญหาคับข้องใจของประชาชนที่จุดชนวนการประท้วงใหญ่ครั้งนี้
วันเดียวกัน อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบความล้มเหลวที่นำไปสู่โศกนาฏกรรม และรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ถูกกระทำและคับข้องใจ
สำหรับที่ ลอสแองเจลิส นายกเทศมนตรีอิริก การ์เซ็ตติ และตำรวจต่างคุกเข่า เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ประท้วง
ส่วนที่กรุงวอชิงตัน ผู้ประท้วงนับพันร่วมเดินขบวนอย่างสงบ และยังคงปักหลักอยู่บนถนนหลังเวลา 19.00 น. ที่เริ่มบังคับใช้คำสั่งเคอร์ฟิว ขณะที่ทหารจากกองกำลังป้องกันชาติ (เนชั่นแนลการ์ด) ออกรักษาการณ์อยู่บนถนนใกล้ทำเนียบขาว และมีเฮลิคอปเตอร์บินวนตรวจตราสถานการณ์ โดยมีรายงานว่า ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วงช่วงหลังเที่ยงคืนไม่นาน แต่สถานการณ์โดยรวมยังถือว่าค่อนข้างสงบ
ทางด้านทรัมป์ที่ปฏิเสธบทบาทดั้งเดิมของประธานาธิบดีอเมริกัน ในการแสดงตัวเป็นผู้เยียวยาสังคม กลับทวีตแสดงความยินดีที่กองกำลังป้องกันชาติสามารถควบคุมสถานการณ์ในวอชิงตัน ดี.ซี. สำเร็จ พร้อมกล่าวหาพวกผู้นำท้องถิ่นในนิวยอร์กที่นำโดยสมาชิกพรรคเดโมแครต ว่า ยอมจำนนให้อาชญากรและพวกไร้ค่า หลังจากที่เมื่อวันจันทร์ ทรัมป์ก็ได้ออกมาประกาศว่า รัฐบาลพร้อมส่งทหารเข้าไปจัดการม็อบในเมืองและรัฐต่างๆ
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันชาติ เผยว่า ทหาร 18,000 นาย ถูกส่งไปช่วยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายใน 29 รัฐ ด้านกระทรวงกลาโหมแถลงว่า ยังมีทหารจากกองทัพบกราว 1,600 นาย ควบคุมสถานการณ์ในวอชิงตัน ดี.ซี.
อย่างไรก็ตาม โจ ไบเดน ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากเดโมแครต ประณามว่า ทรัมป์กำลังเปลี่ยนอเมริกาให้กลายเป็นสนามรบ และว่า การปราบปรามผู้ประท้วงอันเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เป็นการลุแก่อำนาจ พร้อมให้สัญญาว่า หากได้รับเลือกตั้ง จะจัดการกำจัดลัทธิเหยียดผิวในประเทศ
อเมริกายังถูกวิจารณ์อย่างสุภาพโดยพันธมิตรบางชาติ ซึ่งรวมถึงเยอรมนี อังกฤษ และออสเตรเลีย เช่น ไฮโค มาสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศเมืองเบียร์ที่ระบุว่า การประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวเป็นสิ่งที่เข้าใจได้และชอบธรรม
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจที่รอยเตอร์/อิปโซส เผยแพร่เมื่อวันอังคารพบว่า คนอเมริกันวัยผู้ใหญ่ 64% สนับสนุนผู้ที่ออกไปประท้วง ที่ไม่เห็นด้วยมี 27% และ 9% ไม่แน่ใจ นอกจากนั้น กว่า 55% ยังไม่พอใจการรับมือการประท้วงของทรัมป์ ซึ่งในจำนวนนี้ 40% ไม่เห็นด้วยอย่างมาก มีแค่ 1 ใน 3 ที่พอใจ ส่วนผู้ที่พอใจการทำงานโดยรวมของผู้นำสหรัฐฯ มี 39%
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดูเหมือนทรัมป์จะล่าถอยจากไอเดียการใช้ทหารเข้าปราบปรามผู้ประท้วงแล้ว หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวหลายคนบอกว่า มาตรการรับมือของรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศสามารถฟื้นความสงบเรียบร้อยได้ นอกจากนั้น สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนยังแสดงความกังวลว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอาจละเมิดสิทธิ์ของผู้ประท้วงตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ