xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่เคยตรวจ” !!! ปริศนาตัวเลขประเทศไทยดีขนาดนี้ ทำไมถึงยังการ์ดตกไม่ได้?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

“สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง”
คือวิถีชีวิตที่ทำให้ลดผลกระทบของระบาดโรคโควิด-19ให้ลดน้อยลง อย่างไรก็ตามการดำรงตนในวิถีชีวิตดังกล่าวข้างต้นนั้นยังอาจต้องดำเนินต่อ อย่าประมาท และอย่าการ์ดตก เพราะแม้สถานการณ์ตัวเลขโดยรวมของประเทศไทยจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่การที่โรคนี้อาจไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการช้า อัตราการเสียชีวิตต่ำ จึงทำให้ตัวเลขที่รายงานว่าดีขึ้นก็เป็นตัวเลข “รู้เท่าที่ตรวจ” และ “ยังมีตัวเลขที่ยังไม่รู้เพราะไม่ได้ตรวจ” อาจปะปนอยู่ในสังคมไทยและสังคมโลกด้วยก็ได้หรือไม่?

ประเด็นดังกล่าวข้างต้นไม่ใช่การวิตกเกินความเป็นจริง ดังจะยกเหตุและปัจจัยถึงความเป็นไปได้ดังต่อไปนี้

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ให้ยกเลิกประกาศท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊าและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสาธารณรัฐเกาหลีใต้ [1] โดยมีเกณฑ์ในการยกเลิกประกาศดังนี้

ประการที่หนึ่ง เป็นท้องที่ที่พบผู้ติดเชื้อที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศไม่เกิน 20 ราย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันที่ผ่านมา ซึ่งบ่งบอกถึงการควบคุมการระบาดของประเทศนั้นๆ ได้

ประการที่สอง เป็นท้องที่ที่มีความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ขอย้ำว่าการที่มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเช่นนั้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าตัวเลขที่มีการรายงานทั้งจีนและเกาหลีใต้ในเวลานั้นน่าจะควบคุมได้ดีมากแล้ว อันเป็นการส่งสัญญาณที่อาจมีโอกาสที่จะเดินทางไปมาหาสู่กันได้มากขึ้น “ในอนาคตอันใกล้” อันเป็นความคาดหวังจากหลายฝ่ายว่าอาจจะช่วยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้

อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นโรคระบาดใหม่ทำให้สถานการณ์โดยรวมยังไม่นิ่งพอที่จะวางใจได้

ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2563 นั้น ในจำนวนประชากรชาวไทย 1 ล้านคนจะมีผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อทั้งสิ้น 6,063 คน คิดเป็นอันดับที่ 115 จากจำนวนที่รายงาน 215 แห่งทั่วโลก
(ตรวจได้สัดส่วนประมาณกลางๆน้อยกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย)

ในขณะที่ ประเทศเกาหลีใต้ในจำนวนประชากร 1 ล้านคนจะผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อทั้งสิ้น 18,996 คน คิดเป็นอันดับที่ 78 จากจำนวนที่รายงาน 215 แห่งทั่วโลก ถือได้ว่ามีการตรวจประชากรในเชิงรุกมากกว่าประเทศไทยอย่างชัดเจน

ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ เพราะจำนวนที่ตรวจอาจไม่ครอบคลุมทั้งประเทศด้วยประชากร 1,400 ล้านคน จึงไม่แน่ชัดว่ามีการตรวจไปจำนวนทั้งสิ้นเท่าไหร่ คงเหลือประชากรบางพื้นที่ซึ่งมีการเก็บข้อมูล เช่น ฮ่องกงมีการตรวจจำนวนทั้งสิ้น 27,085 คนต่อประชากร 1 ล้านคน คิดเป็นอันดับที่ 59 ของโลกเป็นต้น

จากตัวเลขดังกล่าวข้างต้น ทั้งเกาหลีใต้และฮ่องกงเป็นกรณีที่ชี้ให้เห็นว่า “มีการตรวจเชิงรุก” มากกว่าประเทศไทย


แต่การตรวจเชิงรุกมีข้อดีคือทำให้รู้ความจริงได้มากขึ้น แต่ก็มีข้อเสียในทางสถิติเหมือนกันก็คืออาจทำให้มีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นตามไปได้ด้วย โดยเกาหลีใต้พบสัดส่วนผู้ติดเชื้อจากจำนวนที่ตรวจ 1.19%, ฮ่องกงพบสัดส่วนผู้ติดเชื้อจากจำนวนที่ตรวจ 0.53% ,ในขณะที่ประเทศไทยพบสัดส่วนผู้ติดเชื้อจากจำนวนที่ตรวจ 0.73% ต้องถือว่ามีตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน

ส่วนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดูเหมือนว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่าประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่ามีสัดส่วนการตรวจเชื้อในประชากรสูงกว่าประเทศไทย ได้แก่ สิงคโปร์มีการตรวจเชื้อไปแล้ว 69,865 คนต่อประชากร 1 ล้านคนพบสัดส่วนผู้ติดเชื้อจากจำนวนที่ตรวจ 0.52% และมาเลเซียมีการตรวจเชื้อไปแล้ว 17,342 คนต่อประชากร 1 ล้านคน พบสัดส่วนผู้ติดเชื้อจากจำนวนที่ตรวจ 1.42%

ต่อมาหลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ยกเลิกโรติดต่อร้ายแรงจากจีนและเกาหลีใต้ ได้ปรากฏว่ามีการพบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน สาธารณรัฐประชาชนจีน มาเป็นระยะๆ ดังนี้

วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย
วันที่ 30 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย
วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย
วันที่ 1 มิถุนายน 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16 ราย
วันที่ 2 มิถุนายน 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย

ส่วน ฮ่องกง ที่หลายประเทศให้ความเชื่อมั่นว่าควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว กลับพบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ดังนี้
วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย
วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย
วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13 ราย
วันที่ 30 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย
วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย
วันที่ 1 มิถุนายน 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย
วันที่ 2 มิถุนายน 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6 ราย

ส่วน เกาหลีใต้ พบรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ดังนี้
วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 58 ราย
วันที่ 30 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 39 ราย
วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 27 ราย เสียชีวิต 1 ราย
วันที่ 1 มิถุนายน 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 35 ราย เสียชีวิต 1 ราย
วันที่ 2 มิถุนายน 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 38 ราย เสียชีวิต 1 ราย [2]

โดยที่ เกาหลีใต้ นั้นเกิดการระบาด “ภายในประเทศ” ภายหลังมาตรการคลายล็อกผ่อนปรน (เพราะคิดว่าควบคุมได้แล้ว) และทันทีที่เร่ิมเปิดสถานศึกษาก็พบการติดเชื้อในนักเรียนตั้งแต่วันแรกๆ[3] จึงเป็นผลทำให้มีการปิดสถานการศึกษากว่า 500 แห่งในเมืองหลวงในเวลาต่อมา และยังพบอีกด้วยว่าการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นยังมาจากคลังสินค้าอีคอมเมอร์สของเอกชนแห่งหนึ่งอีกด้วย [4]

ในขณะที่ ฮ่องกง ภายหลังจาการที่ดูเหมือนว่าตรวจมาก ควบคุมตัวเลขได้ดี ก็กลับมีการรายงานเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ว่ามีการติดเชื้อ 9 รายที่อาจส่งผลทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นแบบกลุ่ม โดยไม่มีประวัติการเดินทางจากต่างประเทศเลย และเป็นการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 อีกทั้ง 4 รายใหม่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์ของโครงการเคหะลี่หยวน เอสเตท (Lek Yuen Estate) เขตซาทิน [5] ซึ่งอาจกลายเป็นซุปเปอร์สเปดเดอร์รอบเดิมที่เคยซ่อนตัวอยู่ที่เพิ่งมีการรายงานความจริงหลังจากระบาดไปมากแล้ว

บทเรียนจากกรณีฮ่องกงและเกาหลีใต้ ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศยกเลิกเป็นพื้นที่โรคติดต่ออันตรายนอกราชอาณาจักรนั้น ทำให้น่าจะไปมองบทเรียนจากกรณีศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ด้วย


สิงคโปร์มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2563 รวม 36,405 คน (มากกว่าประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 3,101 คน หรือมากกว่าประเทศไทย 11.7 เท่าตัว) แต่ตัวเลขดังกล่าวของสิงคโปร์ก็มาจากการตรวจเชิงรุกด้วย โดยสิงคโปร์มีการตรวจเชื้อไปแล้ว 69,865 คนต่อประชากร 1 ล้านคน (มากกว่าประเทศไทยที่มีการตรวจเชื้อไปประมาณ 6,063 คนต่อประชากร 1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าประเทศไทย 11.52 เท่าตัว)


ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อของสิงคโปร์มากกว่าประเทศไทยถึง 11.7 เท่าตัว แต่จำนวนผู้เสียชีวิตของสิงคโปร์กลับน้อยกว่าประเทศไทยอย่างมากกล่าวคือ สิงคโปร์มีผู้เสียชีวิต 24 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิต 58 คน !!!
คำถามหนึ่งที่น่าฉงนมีอยู่ว่า แพทย์และพยาบาลสิงคโปร์มีความสามารถเก่งยิ่งกว่าแพทย์และพยาบาลไทยจริงหรือ ทั้งๆที่แพทย์และพยาบาลไทยได้รับการยกย่องว่ามีความรู้ความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก?


แม้ว่าคำตอบข้างต้นว่าอาจจะเป็นไปได้หลายสาเหตุ แต่มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าสาเหตุหนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อมากกว่าที่รายงาน และมีตัวเลขที่เรายังไม่รู้เพราะไม่เคยตรวจ เพราะคนเหล่านั้นไม่ยอมตรวจ หรือไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้ หรือไม่ได้รับการตรวจ หรือเป็นเพราะไม่แสดงอาการ คนเหล่านั้นอาจจะหายป่วยไปแล้ว คนเหล่านั้นเคยหรือกำลังแพร่ระบาดอยู่ หรือคนเหล่านั้นได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว แต่ไม่เคยได้รับรายงานว่าป่วยด้วยโรค COVID-19 ฯลฯ คำถามนี้ยังเป็นปริศนาตัวแปรที่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ จนกว่าวันหนึ่งการระบาดรอบเดิมจะประทุตัวเลขให้เราเห็นหรือไม่เห็นอีกครั้งเมื่อเกิดมาตรการคลายล็อกแล้ว

ที่ต้องถอดบทเรียนจากสิงคโปร์ก็เพราะเหตุว่า ณ วันที่ 24 มีนาคม 2563 “ประเทศสิงคโปร์เคยเป็นหนึ่งกลุ่มประเทศที่ควบคุมโรคได้ดี” โดยในวันที่ประเทศไทยต้องเลือกทาง 2 แพร่งระหว่างประเทศไทยถ้าไม่ทำอะไรจะระบาดมากเหมือนอิตาลีและยุโรป หรือถ้าควบคุมโรคได้ดีก็จะเป็นเหมือนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ “สิงคโปร์”

ทั้งนี้แบบจำลองทางสองแพร่งของประเทศไทยที่เคยถูกนำเสนอสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดย ศ.ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลว่า หากประเทศไทยไม่ช่วยกันควบคุมโรคอย่างเต็มที่ พอถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 คาดว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 สะสมสูงถึง 351,948 คน

แต่หากประเทศไทยช่วยกันและดึงตัวเลขลงมาได้ 20% ได้ ภายในวันที่ 15 เมษายน 2563 ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 สะสมประมาณ 24,269 คน [6]

แต่มาถึงวันนี้ซึ่งผ่านเดือนพฤษภาคม 2563 แล้ว ประเทศไทยก็มีการรายงานยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 3,101 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขรายงานน้อยกว่าแบบจำลองอย่างมาก ซึ่งมีความเป็นไปได้หลายประการ เช่น ประเทศไทยควบคุมได้ดีเกินกว่าที่คาดการณ์ในแบบจำลองเอาไว้ หรือประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่าความเป็นจริง ?

โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยยังมีสัดส่วนของการตรวจผู้ติดเชื้อต่อประชากรทั้งประเทศยังไม่สูงมากนัก เทียบกับประเทศที่ประเทศไทยเคยพยายามยึดเป็นแบบอย่างมาก่อน

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมิใช่เป็นเพราะว่าประเทศไทยปกปิดความจริง แต่กำลังจะตั้งคำถามว่าเราควรการ์ดตกได้มากแค่ไหน ในสิ่งที่เรายังไม่รู้ และประเทศไทยนั้นยังมีความโชคดีอยู่หลายประการ เช่น ภูมิอากาศ สมุนไพร แพทย์พยาบาล ความร่วมมือร่วมใจของประชาชน ดินฟ้าอากาศ ฯลฯ แต่หนึ่งในความโชคดีนั้นก็คือมีประเทศที่ติดเชื้อก่อนประเทศไทย ควบคุมได้ก่อนประเทศไทย และคลายล็อกก่อนประเทศไทย ดังนั้นเราย่อมเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละประเทศเหล่านั้น และเดินตามบทเรียนที่เห็นเป็นตัวอย่างมาก่อนความระมัดระวังได้ดีกว่า

ทั้งเกาหลีใต้และฮ่องกงสอนให้เรารู้ว่าประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนการตรวจมากกว่าประเทศไทย ดูเหมือนควบคุมได้ดีก่อนประเทศไทย และเมื่อคลายล็อกแล้วจึงพบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่เคยได้รับการตรวจมาก่อนปะปนอยู่ในสังคมของประเทศเหล่านี้อยู่ด้วย

สิงคโปร์สอนให้รู้ว่าครั้งหนึ่งเคยควบคุมตัวเลขได้ดีกว่าประเทศไทย แต่เมื่อมองข้ามการตรวจ “แคมป์คนงานและบ้านพักแรงงานต่างด้าง” จึงทำให้เกิดการแพร่เชื้อและมีตัวเลขระบาดเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และทำให้สิงคโปร์เลือกหนทางการตรวจเชื้อเชิงรุก โดยให้ความใส่ใจกับการหาความจริงแม้จะมีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น แต่ก็มีอัตราการเสียชีวิดของผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำมากเช่นกัน

บทเรียนจากสิงคโปร์จึงย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงประเทศไทยว่า เคยมีการตรวจแคมป์หรือบ้านพักคนงานของแรงงานต่างด้าว ทั้งที่ลักลอบเข้ามาในประเทศ หรือเข้ามาในประเทศโดยถูกกฎหมายมากน้อยเพียงใด?

การที่ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่ยังทำสงครามกับ COVID-19 ยังไม่จบ ก็เพราะยังมี “ตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ไม่เคยได้ตรวจ” ปะปนอยู่ในสังคมของประเทศเหล่านี้ และมักจะเป็นกลุ่มคนที่คาดไม่ถึงทั้งสิ้น

แม้จะเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจว่าประเทศไทยทำได้ดีระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันทำงานทั้งจากรัฐบาล แพทย์ พยาบาล ประชาชน จนมาตรฐานเป็นที่ไว้วางใจต่อนานาประเทศ แม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่น ก็ยังให้ประเทศไทยเป็น 1 ในสี่ประเทศเช่นเดียวกับ เวียดนาม นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ที่สามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้แต่ต้องตรวจเชื้อ COVID-19 ก่อน แต่กระนั้นประเทศไทยก็ยังไม่ควรประมาทหรือการ์ดตกจากตัวเลขรู้เท่าที่ตรวจเหล่านี้

คงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกประเทศจะตรวจหาเชื้อประชากรทุกคน และต่อให้ตรวจมากก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะตรวจหาผู้ติดเชื้อได้ครบทุกคน ดังนั้นมาตรการสร้างความตระหนัก “สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง” ยังคงต้องดำเนินต่อไป อย่าประมาทโดยเด็ดขาด !!!

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019หรือโรคโควิด 19(CoronavirusDisease2019(COVID-19)) พ.ศ. ๒๕๖๓, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๑๑๔ ง หน้า ๒๑ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/114/T_0021.PDF

[2] Website worldOmeter https://www.worldometers.info/coronavirus/#countries

[3] ผู้จัดการออนไลน์, เปิดไม่ทันไร!!! เกาหลีใต้ต้องปิดโรงเรียนแทบทันที หลังพบเด็กติดเชื้อโควิด-19, เผยแพร่: 20 พ.ค.2563 23.30 ปรับปรุง 21 พ.ค. 2563 09:53
https://mgronline.com/around/detail/9630000052823

[4] ผู้จัดการออนไลน์, เกาหลีใต้จำกัดจำนวนเด็กเข้าเรียน กังวลโควิด-19 แพร่ระบาดในสถานศึกษา, เผยแพร่: 29 พ.ค.2563 23.31 ปรับปรุง 30 พ.ค. 2563 09:48
https://mgronline.com/around/detail/9630000056196

[5] ผู้จัดการออนไลน์, ฮ่องกงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 4 ราย หวั่นเป็น “ซุปเปอร์สเปรดเดอร์”, เผยแพร่: 29 พ.ค.2563 23.31 ปรับปรุง 30 พ.ค. 2563 09:48
https://mgronline.com/china/detail/9630000057234

[6] Line Today, “หมอศิริราช” ห่วงถ้าไม่ทำอะไรเลย เม.ย.ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งกว่า 3 แสนคน,PPTV HD 36, เผยแพร่ 24 มีนาคม 2563 เวลา 8.15 น., แก้ไข 24 มีนาคม 2563 เวลา 18.45 น.
https://today.line.me/th/pc/article/“หมอศิริราช”+ห่วงถ้าไม่ทำอะไรเลย+เม+ย+ติดเชื้อโควิด+19+พุ่งกว่า+3+แสนคน-ojDQ3y

[7] ผู้จัดการออนไลน์, ญี่ปุ่นเตรียมเปิดประตูรับ 4 ชาติรวม “ไทย” แต่ต้องตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อน เผยแพร่: 31 พ.ค. 2563 15:37, ปรับปรุง : 31 พ.ค. 2563 15:46
https://mgronline.com/japan/detail/9630000056549

กำลังโหลดความคิดเห็น