xs
xsm
sm
md
lg

ดรามา สังคมทิ้งระยะห่างแบบปลอมๆ/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

พลันที่ประเทศไทยได้คลายล็อกห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารมากขึ้น รถในกรุงเทพมหานครก็เริ่มติดมากขึ้น รถไฟฟ้า รถเมล์ ก็มีผู้คนใช้บริการแออัดมากขึ้น การทิ้งระยะห่างทางสังคมลดน้อยลง จนหลายคนเริ่มเป็นห่วงว่าตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลงต่ำติดดินในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะกลับขึ้นอีกมากน้อยเพียงใดและเมื่อไหร่

โดยเฉพาะการลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ที่มีเจตนาหวังเก็บข้อมูลของประชาชนที่ใช้ในบริการในสถานที่ต่างๆและนำมาใช้เพื่อหาเส้นทางและร้านค้าที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เดินทางเข้าไปใช้บริการ แม้จะต้องแลกมาด้วยการเข้าแถวสร้างความเสี่ยงในแออัดหน้าสถานที่ต่างๆซึ่งเปิดบริการ

อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ยังมีคำถามถึงประโยชน์ที่ได้รับว่ามีมากน้อยเพียงใด เมื่อมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นจริงอยู่ในสังคมภายหลังจากการคลายล็อกจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทย !?

เพราะสมมุติว่า “ผู้ติดเชื้อคนหนึ่งซึ่งเดินทางไปหลายที่ เราจะทราบได้อย่างไรว่าสถานที่ใดเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่แท้จริง และถ้าใช้มาตรการหว่านปิดกิจการสถานที่และร้านค้าที่ผู้ที่ติดเชื้อเคยเดินทางไปทั้งหมด ก็อาจจะต้องมีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจำนวนมากทั้งๆที่อาจไม่ได้เป็นจุดแพร่ระบาดก็ได้ เช่นสถานที่ซึ่งทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างต่อเนื่อง

และในความเป็นจริงแล้วก็ยังอาจมีอีกหลายสถานที่ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อเดินทางไปแพร่เชื้อโดยไม่ได้มีการใช้แอปพลิเคชันนี้เลย โดยเฉพาะพื้นที่แออัดของผู้ใช้บริการซึ่งมีโอกาสแพร่ระบาดง่าย เช่น รถเมล์ ห้องน้ำของสถานที่ต่างๆ ราวจับบันไดเลื่อน ฯลฯ

คำถามดังกล่าวข้างต้นก็ควรจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขและผู้ทำแอปพลิเคชันมาช่วยตอบชี้แจงและสาธิตวิธีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และตอบคำถามที่ประชาชนสงสัย เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนและให้ทราบว่าความคุ้มค่าในความร่วมมือของประชาชนที่แลกมาด้วยเสียเวลารอคิวยาวแออัดหน้าห้าสรรพสินค้าและหน้าร้านค้านั้นมีประโยชน์และคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด


แต่อย่างน้อยที่สุดคุณค่าที่เกิดขึ้นของแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” นั้นก็คือ “ภาพลักษณ์” ว่าประเทศไทยมีระบบอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้ที่ไปที่มาของผู้คนที่ไปในพื้นที่ซึ่งมีโอกาสจะแออัดหรือมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับนานาประเทศ เพียงแต่อาจจะต้องปรับปรุงให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นเพื่อลดความแออัดในการลงทะเบียน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น

ห้างสรรพสินค้าบางแห่งได้จัดการเข้าแถวรอคิวการกรอกข้อมูลแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” เป็นอย่างดี แต่สำหรับห้างสรรพสินค้าบางแห่งที่มีผู้มาใช้บริการมากๆ ก็อาจทำให้การรอเข้าแถวคิวยาวเพื่อลงทะเบียน “ไทยชนะ”ไม่อยู่ในสภาพที่ควบคุมระยะห่างทางสังคมได้เลย

มิพักต้องพูดถึง เมื่อเข้าไปในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าได้แล้ว ก็ยังปรากฏภาพที่มีประชาชนผู้ใช้บริการที่เข้าไปแออัดเบียดเสียดเป็นจำนวนมากโดยไม่มีระยะทิ้งห่างทางสังคมแต่ประการใด รวมไปถึงขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครด้วย


นอกจากนั้น เรายังได้เห็นการทิ้งระยะห่างในร้านอาหารมีหลายมาตรฐาน โดยหากเป็นร้านอาหารตามริมถนน หรือตามทางเดินเท้า การนั่งรับประทานอาหารก็อาจจะมีความใกล้ชิดกันแทบจะเป็นปกติ แต่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าก็จะสร้างภาพให้นั่งเก้าอี้โต๊ะละ 1 คนเท่านั้น หรือแม้บางร้านถ้ามาเป็นครอบครัว ก็มีการใช้แผ่นพลาสติกมากั้นเอาไว้ราวกับว่าวิธีการนี้จะทำให้ป้องกันการระบาดในร้านอาหารได้จริงๆ

แต่ในความจริงพอรับประทานอาหารเสร็จ คนเหล่านี้ก็เดินทางกลับไปด้วยกัน เดินจับมือกัน ถอดหน้ากากนั่งรถคันเดียวกัน และพอกลับบ้านก็พักอาศัยในหลังเดียวกัน หลายคนห้องเดียวกันหรือเตียงเดียวกัน การจัดโต๊ะสร้างภาพจึงดูเหมือนสวนทางตรรกะการใช้ชีวิตจริงๆในสังคมไทย จริงหรือไม่?


เช่นเดียวกับ “หน้ากากอนามัย” คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้มีไว้ตามมาตรฐานเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสได้จริงหรือไม่ หรือมีไว้เพียงแค่สวมใส่เพียงเพื่อให้เข้าสังคมปกติโดยไม่ต้องสนใจในเรื่องมาตรฐานของหน้ากากอนามัย คนจำนวนมากจึงใช้หน้ากากอนามัยที่ใช้ซ้ำพับเก็บแล้วนำมาใช้ใหม่ทุกวัน (หลายคนไม่เคยได้ทำความสะอาดเสียด้วยซ้ำ) และคงไม่ต้องตั้งคำถามว่าการทิ้งหน้ากากอนามัยในขยะติดเชื้อนั้นมีจริงมากน้อยเพียงใดในช่วงเวลาที่ผ่านมา

และบทเรียนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และเกาหลีใต้ ที่ดูเหมือนว่าจะควบคุมโรคได้แล้ว แต่เมื่อเปิดเมืองคลายล็อกก็กลับปรากฏตัวเลขการระบาดขึ้นใหม่ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการเปิดประเทศ ที่เป็นเช่นนั้นก็เป็นบทพิสูจน์ว่า แม้ตัวเลข “รู้เท่าที่ตรวจ” จะดูดีขึ้นจนเหมือนควบคุมโรคระบาดได้แล้ว แต่ยังยังมีอีกตัวเลขหนึ่งคือ “ไม่รู้เพราะไม่ได้ตรวจ” หลงเหลือยู่ในสังคม และจะปรากฏให้เห็นตัวเลขการระบาดมากขึ้นเมื่อเปิดเมืองหรือคลาย ล็อกอีกครั้งแล้ว

ตัวอย่างประเทศที่มีการตรวจมากที่เห็นได้ชัดก็คือ “สิงคโปร์” เคยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่าประเทศไทยอย่างมาก แต่ต่อมากลับมีตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานสูงมากนั้น มาจากสาเหตุที่มีการมองข้าม “แรงงานต่างด้าว”** ที่พักอาศัยในหอพัก หรือ แคมป์คนงานติดอยู่กันอย่างแออัดและแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยไม่มีการตรวจมาก่อนหน้านั้นเลย และกว่าจะรู้ตัวก็แพร่ระบาดไปเป็นจำนวนมากในช่องโหว่ที่เกิดขึ้นที่ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนระบาดมาก ส่งผลทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจตรวจหาเชื้อเชิงรุกครอบคลุมไปถึงแรงงานต่างด้าวด้วย

จากปัจจัยข้างต้นจะเห็นได้ว่าถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ในประชากร 1 ล้านคน คนสิงคโปร์จะได้รับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ประมาณ 30,000 กว่าคน ในขณะที่ประเทศไทยจะได้รับการตรวจประมาณกว่า 3,000 คนเท่านั้น แต่จำนวนผู้ที่เสียชีวิตและอัตราการเสียชีวิตของสิงคโปร์ในโรค COVID-19 นั้นต่ำกว่าประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดคำถามว่าประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่เคยได้รับการตรวจเลยมากน้อยเพียงใด?

และคำถามเดียวกันกับกรณีที่เกิดขึ้นที่ “สิงคโปร์” คือ ประเทศไทยได้เคยตรวจเชิงรุกไปจนถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าว และชุมชนแออัดได้มากน้อยเพียงใด ?

จริงอยู่ที่ว่าประเทศไทยยังไม่มีภาพผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตเหมือนกับอีกหลายประเทศในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ที่มีการแพร่ระบาดมากจนไม่สามารถปกปิดทางกายภาพได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าโรคดังกล่าวนี้ผู้ป่วยสามารถหายป่วยได้เป็นส่วนใหญ่ แต่คนเหล่านี้ก็แพร่เชื้อได้ และยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลงเหลืออยู่ในสิ่งที่เรายังไม่รู้เพราะคนเหล่านั้นไม่เคยได้รับการตรวจเลย โดยเฉพาะหากประเทศไทย “การ์ดตก” หรือ “ประมาท” ก็อาจจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาให้เห็นเหมือนกับจีนและเกาหลีใต้เมื่อมีการคลายล็อกมาตรการการควบคุมโรค

อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยอาจจะมีการทิ้งระยะห่างแบบปลอมๆอยู่บ้าง หรือการสวมหน้ากาอนามัยแบบปลอมๆอยู่บ้างดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่อย่างน้อยประเทศไทยก็ยังมีข้อดีอยู่อย่างน้อย 5 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก มีการล้างมือบ่อยๆและการเช็ดและทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์บ่อยๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทั่วโลกยอมรับว่าช่วยลดการติดเชื้อ COVID-19 ได้

ประการที่สอง เรามีบุคคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์และพยาบาลที่มีความเสียสละและเข้มแข็ง ในระดับแนวหน้าของโลก

ประการที่สาม สังคมไทยยังไม่ถึงขั้นใช้ชีวิตกลับมาแออัดเหมือนเดิมเลยเสียทีเดียว เพราะด้วยความยุ่งยากและไม่สอดคล้องในการใช้ชีวิตจริงๆในห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหาร และคนส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง และเร่ิมปรับตัวได้มากขึ้น

ประการที่สี่ ภูมิอากาศที่ร้อนถึงร้อนมาก รวมถึงฝุ่นละอองที่ลดลงจากการใช้ชีวิตนอกบ้านลดลง ช่วยลดความเสี่ยงในการระบาดให้ลดน้อยลง

ประการที่ห้า ประเทศไทยมีสมุนไพรหลายชนิด แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็นเฟกนิวส์ (ข่าวปลอม) ก่อนหน้านี้ แต่สมุนไพรที่ช่วยเรื่องระบบทางเดินหายใจกำลังถูกพิสูจน์จากงานวิจัยและการใช้จริงมากขึ้นว่าสามารถนำมาช่วยป้องกันหรือรักษาในยามที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยาสำหรับป้องกันได้ เช่น ฟ้าทะลายโจร ยาขาวตามศิลาจารึกวัดโพธิ์ ยาห้าราก กระชาย ขิง ตรีผลามหาพิกัด ฯลฯ แต่คนไทยสามารถหาสมุนไพรเหล่านี้ดูแลตัวเองได้ง่ายกว่าหลายชาติที่ไม่มีสมุนไพรเหล่านี้

อย่างไรก็ตามความหวังที่ประเทศไทยจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น “ศูนย์” ต่อเนื่องเป็นเวลานานอย่างถาวรนั้น ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศไทยยังคงมีตัวเลขผู้ที่ทยอยเดินทางกลับจากต่างประเทศอีกจำนวนมาก ด้วยการที่ทยอยรับเข้ามาตามความสามารถในการรับมือได้ ทำให้ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจะยังคงมีอย่างกระปริบกระปรอยอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน ดังนั้นเราคงจะยึดตัวเลขนำเข้าเช่นนี้มากำหนดการคลายล็อก “ภายใน” ประเทศไทยก็คงไม่ได้เช่นกัน เพราะผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศย่อมต้องถูกกักตัวเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันทั้งหมดอยู่แล้ว

และด้วยสถานการณ์ที่นำพาประเทศไทยมาถึงจุดที่รัฐบาลยังประสบปัญหาการเยียวยาให้ได้อย่างทั่วถึง ถูกต้อง ทันเวลา และเพียงพอ ย่อมทำให้รัฐบาลต้องผ่อนปรนมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจอย่างไม่มีทางเลือก เพราะปัญหาเศรษฐกิจกำลังทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสเช่นกัน

ดังนั้นประชาชนจะต้องพึ่งพาตัวเองให้มาก ดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ดี อย่าการ์ดตก อย่าประมาทโดยเด็ดขาด

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

กำลังโหลดความคิดเห็น