xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมตัว COVID-19 ระบาดระลอก 2 !?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าประเทศไทยกำลังจะเอาชนะสงครามเชื้อไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้ เหตุที่เกิดขึ้นเช่นนี้ก็เพราะว่าบทเรียนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ เกาหลีใต้ ซึ่งเคยดูเหมือนว่าจะควบคุมโรคได้อย่างดีแล้วสักระยะหนึ่ง กลับกลายมาเป็นว่าเกิดการระบาดรอบใหม่ภายหลังจากการคลายล็อกมาตรการควบคุมการระบาดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างน่าเสียดายยิ่ง

แต่นับเป็นโชคของประเทศไทยเกิดโรคระบาดตามหลังสาธารณรัฐประชาชนจีนและเกาหลีใต้ และเริ่มควบคุมได้ตามหลัง 2 ประเทศดังกล่าวนี้ ทำให้ประเทศไทยสามารถถอดบทเรียนทั้งข้อผิดพลาดและความสำเร็จ เพื่อมากำหนดมาตรการทั้งหลายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดข้อผิดพลาดให้น้อยลงได้

ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการระบาดรอบสองภายหลังการคลายล็อกของทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและเกาหลีใต้เพราะคิดว่าตัวเลขของสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ประเทศไทยก็ต้องถอดบทเรียนจากจุดอ่อนที่เกิดขึ้นและระมัดระวังมิให้เกิดปัญหาซ้ำรอยทั้ง 2 ประเทศนี้เช่นเดียวกัน

บทเรียนข้างต้นสอนให้ประเทศไทยได้รู้ว่า “ห้ามการ์ดตกโดยเด็ดขาด” เพราะความประมาทเป็นหนทางแห่งความตายในท้ายที่สุดอย่างแน่นอน


คำถามสำคัญมีอยู่ว่าเหตุใดการรายงานตัวเลขที่ดีขึ้นของทั้งจีนและเกาหลีใต้ จึงไม่สามารถเป็นหลักประกันในการป้องกันการระบาดรอบใหม่ได้

คำตอบที่ได้ในข้อแรกคือ แต่ละประเทศ “รู้เท่าที่ตรวจ” ดังนั้นจึงย่อมมีตัวเลขที่ไม่รู้เพราะไม่ได้ตรวจอยู่ในชีวิตจริงด้วย โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ป่วยเองแล้วหายเองที่สามารถแพร่เชื้อได้ก็ดี ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการช้าหรือมีอาการน้อยจึงใช้ชีวิตปกติและแพร่เชื้อได้ก็ดี ผู้ติดเชื้อเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อได้โดยไม่ได้อยู่ในรายงานเลย

ในประเทศไทยมีตัวเลขผู้ที่ติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำคือประมาณไม่เกิน 10 คนต่อวันทั่วประเทศ อีกทั้งยังยังมีผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำ โอกาสการรักษาหายนั้นมีสัดส่วนที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ และติดอันดับของโลก แม้จะทำให้ประชาชนสบายใจขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยจะประมาทได้

เพราะมีอีกตัวเลขหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่อง “สัดส่วนการตรวจเทียบกับประชากร” กับ “สัดส่วนการตรวจพบเทียบกับจำนวนที่ตรวจ” จะเป็นข้อบ่งชี้อีกประการหนึ่งที่จะคอยเตือนสติให้ได้ว่าประเทศไทยควรจะการ์ดตกได้แล้ว หรือยังไม่ควรประมาทอย่างไร

จากข้อมูลถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับการตรวจต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน ประมาณ 3,264 คน และมีจำนวนพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจประมาณ 1.32%


ในขณะที่กลุ่มประเทศที่ดูตัวเลขผู้ติดเชื้อแล้วมีสถานการณ์ยังแย่กว่าไทย แต่มีสัดส่วนผู้ที่ได้รับการตรวจต่อประชากร 1 ล้านคนมากกว่าประเทศไทย เช่น อิตาลีได้รับการตรวจ 42,439 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 8.53%), รัสเซียได้รับการตรวจ 37,335 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 3.85%), สิงคโปร์ได้รับการตรวจ 30,016 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 13.29%), สหรัฐอเมริกาได้รับการตรวจ 28,425 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 14.51%), ฝรั่งเศส ได้รับการตรวจ 21,213 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 12.78%) เกาหลีใต้ได้รับการตรวจ 12,949 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 1.63%) , มาเลเซียได้รับการตรวจ 7,938 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 2.59%), อิหร่านได้รับการตรวจ 6,985 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 18.34%) ฯลฯ

ในขณะที่บางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดูแล้วมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าประเทศไทย แต่ความจริงแล้วมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับการตรวจต่อประชากร 1 ล้านคน น้อยกว่าประเทศไทย เช่น เวียดนามมีผู้ที่ได้รับการตรวจ 2,681 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 0.11%), ไต้หวันมีผู้ที่ได้รับการตรวจ 2,819 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 0.65%), กัมพูชามีผู้ที่ได้รับการตรวจ 804 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 0.907%), ลาวมีผู้ที่ได้รับการตรวจ 438 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 0.59%), พม่ามีผู้ได้รับการตรวจ 206 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 1.60%, การมีผู้ติดเชื้อน้อยเหล่านี้ย่อมทำให้เกิดความสงสัยได้ว่ามีการตรวจมากพอหรือไม่อย่างไร

ในขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าประเทศไทย อีกทั้งที่มีสัดส่วนการตรวจเชื้อน้อยด้วย เช่น ญี่ปุ่น มีผู้ที่ได้รับการตรวจ 1,676 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 7.39%), อินโดนีเซีย มีผู้ที่ได้รับการตรวจ 579 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 8.87%), ฟิลิปปินส์ มีผู้ที่ได้รับการตรวจ 1,489 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 6.61%), อินเดีย มีผู้ที่ได้รับการตรวจ 1,166 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 4.17%) ฯลฯ ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ถือเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อจริงที่ไม่ได้รับการตรวจอีกจำนวนมาก

สำหรับเกาะขนาดเล็กอย่างฮ่องกงซึ่งเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาที่มีชื่อว่าโรคซาร์สเมื่อ 17 ปีที่แล้วอย่างหนัก เพราะเคยเป็นเกาะที่มีการพักอาศัยกันอยู่อย่างแออัด แต่ในการเกิดวิกฤติรอบนี้มีการตรวจในสัดส่วนที่มากกว่าประเทศไทยและพบการติดเชื้อทั้งจำนวนและสัดส่วนน้อยกว่าประเทศไทย กล่าวคือมีผู้ที่ได้รับการตรวจมากถึง 22,448 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ 0.62%)

อย่างไรก็ตามการตรวจมากหรือน้อยนั้นไม่เพียงแต่ข้อจำกัดหรือความพร้อมทางด้านงบประมาณและบุคคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณามาตรการของแต่ละประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าออกในแต่ละประเทศควบคู่กันไปด้วยจึงจะทำให้แปลความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตัวเลขดังกล่าวได้อย่างเข้าใจมากขึ้น

ดังตัวอย่างเช่น การเน้นนโยบายการตรวจเชิงรุกของสิงคโปร์ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมากกว่าประเทศไทย ในลักษณะ “ตรวจมากพบมาก”, “ตรวจน้อยพบน้อย”แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าประเทศไทย ในขณะที่เวียดนามและไต้หวันมีการปิดประเทศเร็วกว่าอีกหลายประเทศรวมถึงปิดประเทศเร็วกว่าประเทศไทย ดังนั้นแม้จะมีจำนวนการตรวจน้อยกว่าประเทศไทยแต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ว่าจำนวนและสัดส่วนการติดเชื้อก็อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าน้อยกว่าประเทศไทย

แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยมีอัตราการหายป่วยสูงมาก และมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมากด้วย แต่นั่นก็เป็นตัวเลขที่อยู่ในระบบ แต่ก็อาจจะมีผู้ป่วยที่ติด COVID-19 แต่ไม่เคยได้รับการตรวจทั้งหายป่วยแล้ว หรือเสียชีวิตไปแล้วปะปนอยู่ในสังคมได้ด้วย

การที่มีตัวเลขที่ซ่อนปริศนาการติดเชื้อที่แท้จริงอยู่ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่ก็เป็นปัญหาลักษณะเช่นนี้ทั่วโลก และด้วยเหตุผลนี้เองทำให้หลายประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทยพยายาม “ตรวจเชิงรุก” มากกว่าการตรวจเฉพาะคนที่เข้าเกณฑ์อย่างแคบๆ แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณในแต่ละประเทศ จึงทำให้ทุกประเทศยังคงมีความเสี่ยงของ “ผู้ติดเชื้อที่ไม่เคยได้รับการตรวจ”เหลืออยู่ จะเหลือมากหรือน้อยก็คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่มาถึงในวันนี้ก็พิสูจน์เห็นได้ชัดว่า “ในระหว่างการรอวัคซีน” มาตรการ “ป้องกันการติดเชื้อรวมหมู่” น่าจะทำให้อัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงวัยน้อยกว่า “การปล่อยให้ติดเชื้อเพิ่อสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่” และประเทศที่ตัดสินใจจะกลับลำจากความล้มเหลวของการสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ก็จะเป็นเรื่องที่ยากในการจัดการบริหารได้ยากกว่า เพราะปัญหาสำคัญไม่ว่าจะระบบป้องกัน หรือการปล่อยให้ติดเชื้อเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ คือการตรวจไม่สามารถครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศได้ ดังนั้นการป้องกันก็ไม่สามารถรู้ได้ว่ามีผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รับการตรวจที่แพร่ระบาดอีกเท่าไหร่ ในขณะที่แนวคิดการปล่อยการติดเชื้อเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ก็ไม่สามารถตรวจว่าประชาชนมีภูมิคุ้มกันรวมหมู่ทั้งหมดหรือยัง


และโชคดีของประเทศไทยที่เลือกแนวทางการป้องกัน เพราะนอกจากจะไม่สร้างปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลแล้ว ยังทำให้อัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตของคนไทยอยู่ในระดับต่ำด้วย

เมื่อชัดเจนแล้วว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ แม้รัฐบาลจะคลายล็อกแต่ประชาชนไม่ควรการ์ดตก และไม่ควรประมาทโดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นการระบาดรอบ 2 จะกลับมาอีกแน่นอน


ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

กำลังโหลดความคิดเห็น