xs
xsm
sm
md
lg

อย่าสะดุดขาตัวเอง เพื่อรอวัน “ไทย-จีน” ประเดิมฟื้นการท่องเที่ยว “กลุ่มประเทศปลอด COVID-19”/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สถาบัน Data-Driven Innovation Lab (DDI) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและดีไซน์ของสิงคโปร์ (Singapore University of Technology and Design) วิเคราะห์เอาไว้ว่า ประเทศไทยน่าจะจบเรื่องของโรคระบาด COVID-19 ในรอบนี้ได้ 99 เปอร์เซ็นต์ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 และจะจบอย่างสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ในวันที่ 11 มิถุนายน 2563 [1] [2]

ซึ่งถ้าประเทศไทยจบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ได้จริงวันที่ 11 มิถุนายน 2563 นั้นก็ถือว่าน่าพอใจระดับหนึ่ง เพราะเมื่อเทียบแล้วสถานการณ์ในประเทศไทยยังดีกว่าอีกหลายประเทศในโลกนี้ที่การระบาด COVID-19 ยังยืดเยื้ออีกยาวนาน

ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวพบว่า การสิ้นสุดของCOVID-19 100 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละประเทศที่น่าสนใจมีดังนี้ ฟิลิปปินส์(7 กรกฎาคม 2563), มาเลเซีย (8 กรกฎาคม 2563), สิงคโปร์(16 กรกฎาคม 2563), อินเดีย(1 สิงหาคม 2563), สเปน(2 สิงหาคม 2563), เยอรมนี (5 สิงหาคม 2563), ฝรั่งเศส(8 สิงหาคม 2563), รัสเซีย(19 สิงหาคม 2563), ญี่ปุ่น (18 สิงหาคม 2563), สหราชอาณาจักร (20 สิงหาคม 2563), แคนนาดา(21 สิงหาคม 2563), อิตาลี (30 สิงหาคม พ.ศ. 2563), สหรัฐอเมริกา (5 กันยายน 2563), อิหร่าน(24 ตุลาคม 2563), กาตาร์(2 กุมภาพันธ์ 2564), บาห์เรน(6 เมษายน 2564) [2]

เทียบกับโรคซาร์สเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้เริ่มระบาดประมาณวันที่ 11 มีนาคม 2546 และสิ้นสุดในวันที่ 27 พฤษภาคม 2546 [3] โดยการระบาด COVID-19 รอบนี้แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า แต่ปัญหาที่แสดงอาการน้อย ก็ทำให้ติดง่ายกว่าผ่านสารคัดหลั่งจากจุดสัมผัสร่วม จนกลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก ส่งผลทำให้ช่วงการระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้นานกว่าโรคซาร์สทั้งๆที่เป็นสายพันธุ์ของไวรัสที่ใกล้เคียงกันมาก

แต่ถึงแม้ว่า COVID-19 จะมีการระบาดที่มากกว่าโรคซาร์สเมื่อ 17 ปีที่แล้ว แต่เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาสิ้นสุดการระบาดก็ยังถือว่ามีความแตกต่างกันไม่มากนัก ทำให้หลายคนได้ตั้งคำถามว่านอกจาก “การเว้นระยะห่างทางสังคม” ที่เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันโรค COVID-19 แล้ว โรคนี้จะมีความสัมพันธ์กับ “ฤดูกาล” หรือ “อุณหภูมิ” มากน้อยเพียงใด

จากการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญไทยและจีน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ 2 ประเทศที่มีผลการรักษาและการควบคุมการระบาดประสบความสำเร็จในระดับโลกต่างได้มาประชุมร่วมกัน มีเรื่องที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ประการแรก ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนสรุปยืนยันว่าไวรัส COVID-19 ของทั่วโลกเป็นสายพันธุ์เดียวกัน และยังไม่พบการกลายพันธุ์แต่ประการใด

ประการที่สอง ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนเชื่อว่าความรุนแรงของ COVID-19 ทั้งการระบาดและอัตราการเสียชีวิตของชาวเอเชียน้อยกว่ายุโรปและอเมริกาน่าจะเกี่ยวข้องกับ “อุณหภูมิ” และ “สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุ”

ประการที่สาม ผู้เชี่ยวชาญจากจีนให้ความเห็นว่า อุณหภูมิและความชื้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะเชื้อไวรัสจะอยู่ได้เพียง 4-5 ชั่วโมง เมื่ออยู่ในความร้อนและแห้ง ซึ่งช่วงฤดูฝนที่มีอุณหภูมิเย็นลงและมีละอองฝอยของฝนจะทำให้ไวรัสอยู่ได้นานขึ้น

ประการที่สี่ การให้ยาของจีนและไทยมีความแตกต่างกัน โดยจีนใช้ยาต้านไวรัสขนานเดียว แต่ของประเทศไทยใช้ยาสองขนานร่วมกันนั้นเป็นความสอดคล้องกับความสามารถในการจัดหายาในประเทศไทย ซึ่งอาจจะต้องมีการทดลองเปรียบเทียบหาข้อสรุปในการใช้ยาต่อไป

ประการที่ห้า การติดเชื้อซ้ำนั้นยังไม่พบว่าเกิดขึ้นในการทดลองในลิง (ยังไม่ใช่รายงานอย่างเป็นทางการ) แต่มีความเป็นไปได้ว่าเชื้ออาจจะยังคงอยู่ในร่างกายได้ถึง 2 เดือน แต่มีความเป็นไปได้ยากว่าจะมีการติดเชื้อซ้ำอีก

ประการที่หก
ผู้เชี่ยวชาญจีนได้ทดลองการให้พลาสมา (Plasma) หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่เคยติดเชื้อ ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้กันมานานแล้ว โดยได้ทดลองกับผู้ป่วยเพียง 5 คนในเมืองอู่ฮั่น พบว่า มีอาการดีขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยก็อยู่ระหว่างการดำเนินการเช่นกัน

ประการที่เจ็ด ความสำเร็จของจีน มาจากมาตรการของจีนมีความเข้มงวดในเรื่องของการขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านและ Social Distancing การเว้นระยะทางกายภาพกับบุคคลอื่นๆ ในสังคม **ซึ่งหลังจากจีนผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้และเริ่มมีมาตรการผ่อนปรนให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตตามปกติได้บ้างแล้ว**

การที่มีประเทศจีนเป็นต้นแบบที่เกิดก่อนประเทศไทย จึงนับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่จะเห็นทั้งมาตรการที่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลว และแนวทางแก้ไขก่อนล่วงหน้า จึงควรถอดบทเรียนและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากประสบการณ์ของประเทศจีนต่อไป


ประการที่แปด ความคาดหวังในการที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคไวรัส COVID-19 นั้น คาดว่าจะยังคงใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาอีกระยะหนึ่ง [4]

การได้รับการยอมรับในการรักษาและการควบคุมโรคระบาดของประเทศจีนและไทยนั้นทำให้ทั้ง 2 ประเทศได้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก แลได้ทำให้ทั้งประเทศจีนและไทยกลายเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายประเทศ

แม้อาจจะมีบางประเทศที่มีการระบาดโรค COVID-19 น้อยกว่าประเทศไทย แต่บางประเทศเหล่านั้นก็ไม่ได้มีการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง จนอาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยได้ว่าประเทศเหล่านั้นรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 น่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งประเทศไทยยังโชคดีว่าชื่อเสียงในความซื่อสัตย์การรายงานข้อเท็จจริงทางการแพทย์ของประเทศไทยยังดีกว่าอีกหลายประเทศ
แม้ว่าอาจจะมีการรายงาน “พบการติดเชื้อเท่าที่ตรวจ” ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของโรคระบาดรอบนี้ยิ่งทำให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความเข้มแข็งในด้านการสาธารณสุข กำลังกลายเป็นปัจจัยความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่จะสร้างความมั่นใจในการลงทุนของทุกประเทศทั่วโลก

ดังนั้นการเริ่มต้นส่งสัญญาณการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งประเทศจีนและไทยนั้น นอกจากจะเป็นการยอมรับซึ่งกันและกันในทางวิชาการเพื่อมนุษยชาติแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้น “ในอนาคต” ที่อาจจะนำไปสู่ “การเปิดประเทศทั้งไทยและจีนเป็นตัวอย่างก่อนประเทศอื่นๆ ในฐานะเป็นประเทศที่ใช้มาตรฐานในการควบคุมโรค รักษาโรค ที่เป็นที่ยอมรับในระหว่าง 2 ประเทศและทั่วโลก” เพราะเพียง 2 ประเทศนี้เปิดความสัมพันธ์เดินทางไปมาหาสู่กันได้แล้ว ก็สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยได้อย่างมีนัยยะสำคัญแล้ว และจะเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ตามมาด้วย

ความจริงแล้วทั้งภาคเอกชน และประชาชนในประเทศไทยได้ปรับตัวไปมากพอสมควรกับการระมัดระวังตัวเอง ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การใช้แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นประจำ การใส่เฟซชิลด์ การไม่อยู่ในที่แออัด การทิ้งระยะห่างในสังคม การวัดอุณหภูมิ การทำความสะอาดในจุดเสี่ยงต่างๆ จนถึงมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในกรณีผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ส่วนภาครัฐนับตั้งแต่การประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินตามด้วยมาตรการล็อกดาวน์ในกิจการและจุดเสี่ยงแต่ละจังหวัดส่งผลทำให้การเดินทางลดลง รถติดน้อยลง และคนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น (ค่าไฟฟ้าจึงสูงขึ้น)

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ปลอด COVID-19 ขอเพียงประการสำคัญคือ “ประเทศไทยอย่าสะดุดขาตัวเองเสียก่อน” นั่นก็คือการใช้มาตรการเข้มข้นอย่างต่อเนื่องในการตรวจตราลดความเสี่ยงการระบาดให้เป็นศูนย์ให้ได้ เพราะการระบาดมากในหลายประเทศมักจะมาพร้อมกับจุดระบาดที่คาดไม่ถึงทั้งสิ้น

ความเสี่ยงและจุดอ่อนของประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม เช่น การรั่วไหลของการลักลอบเข้ามาในประเทศแบบผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าวในแคมป์หรือหอพักบ้านพักคนงานที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ COVID-19 ได้ ชุมชนแออัดในประเทศไทยที่ยากแก่การทิ้งระยะห่างและการเข้าถึงการตรวจ COVID-19 ตลอดจนถึงการขาดหน้ากากอนามัยและการมีแอลกอฮอล์ในต่างจังหวัดและในหมู่คนยากจน รวมถึงความเสี่ยงผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศแต่หลบเลี่ยงไม่เข้าสู่กระบวนการกักตัว สิ่งเหล่านี้ยังเป็นตัวแปรที่ยังคงต้องมีการแก้ไขในเชิงรุกต่อไป


อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของประเทศจีนกับประเทศไทยประการหนึ่งก็คือ การให้โอกาสตำรับยาจีนแผนโบราณหลายขนานได้เข้ามามีส่วนช่วยในการป้องกันและรักษา COVID-19 เป็นการทั่วไป จนถึงขั้นคัดกรองยาหลายขนานทั้งมาช่วยป้องกันหรือช่วยรักษา COVID-19 ได้ในครั้งนี้ ในขณะที่ยาแผนไทยซึ่งก็ใช้หลักคิดระบบธาตุของมนุษย์มารักษาเหมือนกันกับยาแผนจีน แต่กลับมีโอกาสน้อยกว่ายาแผนจีนอย่างมาก ประสิทธิภาพของยาจีนแผนโบราณนั้นได้สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่ต้องการแสวงหายาจีนในหลายประเทศ วิกฤติของโรคร้ายจึงกลายเป็นโอกาสของประเทศจีนในครั้งนี้ด้วย

ที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะในประเทศจีนนั้น การแพทย์แผนจีนได้ถูกยกย่องให้ทำงานร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง แม้เมื่อมีไวรัสชนิดใหม่ที่ยังไม่มีตัวยาแผนปัจจุบันหรือวัคซีนที่ชัดเจน ทางการจีนก็เปิดโอกาสให้ใช้ตำรับยาจีนหลายขนานมาอย่างต่อเนื่องและได้ผลดีด้วย และการที่ประเทศจีนเปิดทางให้ตำรับยาจีนมาต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดการต่อยอดจากโรคระบาดซาร์ส, ไข้หวัดใหญ่ 2009, จนสามารถนำตำรับยาจีนมาประยุกต์ใช้กับ COVID-19 ได้ในรอบนี้

อย่างไรก็ตามไวรัสชนิดใหม่ๆก็คงจะมีมาเรื่อยๆในอนาคต เพราะไวรัสสามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้ตลอดเวลาเช่นกัน หากจะมัวรอแต่พัฒนาวัคซีนเพียงอย่างเดียว ก็คงจะไม่สามารถไล่ทันการระบาดได้ ดังนั้นการใช้ยาแผนโบราณ(ไม่ว่าจีน ไทย อินเดีย)ที่ให้ความสำคัญกับระบบธาตุของมนุษย์กับอาการที่เกิดขึ้นจึงควรจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะควรนำมาบูรณาการรักษาโรคอุบัติการณ์ใหม่ๆในช่วงที่ยังไม่มียาหรือวัคซีนได้

ดังนั้นในโอกาสการระบาด COVID-19 รอบนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงควรจัดงบประมาณในการให้กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ทำการวิจัยตำรับยาไทยหลายขนานกับโรคไวรัส COVID-19, ซาร์ส, และโรคระบาดอื่น ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันอย่างไร อย่างน้อยเมื่อถึงวันที่มีโรคระบาดที่มาจากไวรัสที่แตกต่างกันไป ก็จะได้มีรากฐานที่สามารถเลือกเสริมความเข้มแข็งในการรับมือการระบาดโรคในวันข้างหน้าดังที่ประเทศจีนได้ดำเนินการเอาไว้เป็นตัวอย่างมาแล้ว


อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้ได้ ต้องชื่นชมทั้งแพทย์ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ แพทย์แผนไทย อสม. ที่ทำงานอย่างหนัก ด้วยความเสียสละและมีสติปัญญาในการตัดสินใจใช้การประกอบโรคศิลปะของตัวเองจนประสบความสำเร็จในการควบคุมและรักษาโรคไวรัส COVID-19 สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้อย่างดียิ่ง และต้องชื่นชมภาคเอกชนและประชาชนโดยส่วนใหญ่ที่ให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวเองและลดความเสี่ยงในการระบาดให้กับสังคมได้ดีพอสมควร


ส่วนภาครัฐแม้จะดำเนินการหลายอย่างที่ช้าและผิดพลาดแต่ก็ได้ฟังเสียงประชาชน ข้อท้วงติง และนำไปปรับปรุงแก้ไข แม้จะยังคงมีข้อบกพร่องและความไม่โปร่งใสอยู่หลายประการที่จะต้องถูกชำระสะสางในภายหลัง แต่สำหรับในภาวะวิกฤติที่ยากแก่การตัดสินใจแทบทุกเรื่อง ต้องถือว่ารัฐบาลไทยดำเนินการได้ดีกว่าอีกหลายประเทศแล้ว

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง
[1] Singapore University of Technology and Design (SUTD), Data-Driven Innovation Lab, When Will COVID-19 End
Data-Driven Estimation of End Dates (updated on April 29 2020), https://ddi.sutd.edu.sg

[2] Jianxi Luo, When Will COVID-19 End? Data-Driven Prediction, Data-Driven Innovation Lab (http://ddi.sutd.edu.sg)
Singapore University of Technology and Design (http://www.sutd.edu.sg)
Updated at 2 AM, April 28, 2020
https://lasillarotarm.blob.core.windows.net.optimalcdn.com/docs/2020/04/28/covid19predictionpaper.pdf

[3] World Health Organization, Summary of probable SARS cases with onset of illness from 1 November 2002 to 31 July 2003,(Based on data as of the 31 December 2003.)
https://www.who.int/csr/sars/country/table2004_04_21/en/

[4] ผู้จัดการออนไลน์, “ถอดบทเรียนแดนมังกร” แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไวรัสโควิด-19 “แพทย์จีน-ไทย” ครั้งแรก ทาง 9 MCOT HD, เผยแพร่: 25 เม.ย. 2563 13:56 น.https://mgronline.com/live/detail/9630000043372

กำลังโหลดความคิดเห็น