ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ตัวเลขชี้วัดของประเทศไทยในเรื่องการระบาด COVID-19 ดีขึ้นเป็นลำดับ การติดเชื้อรายวันลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการหายป่วยเพิ่มมากขึ้น อัตราผู้ที่ถูกกักตัว หรือรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลลดลง และข้อสำคัญคืออัตราการเสียชีวิต COVID-19 ของประเทศไทยนั้นต่ำมา
ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงอาจจะมีตัวเลขผู้ป่วย COVID-19 ที่ไม่ได้ถูกตรวจกระจัดกระจายอยู่ในสังคมไทย หรือแม้แต่อาจจะมีผู้เสียชีวิตด้วย COVID-19 แต่ไม่เคยได้รับการตรวจเลยก็ได้ แต่โดยรวมแล้วก็น่าเชื่อได้ว่าสถานการณ์ของประเทศไทยกำลังดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนนับแต่วันที่มีผู้ติดเชื้อถึง 100 รายขึ้นไป ต้องถือว่าประเทศไทยได้ผ่านช่วงเวลาทาง 2 แพร่ง และสถานการณ์จริงดีกว่าที่ประเมินกันไว้ก่อนหน้านี้อย่างมาก
ความก้าวหน้าดังที่ปรากฏมานั้น ประการแรก มาจากการทำงานหนักในส่วนของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ของกระทรวงสาธารณสุข ประการที่สอง มาจากการตัดสินใจของภาครัฐที่ใช้มาตรการเข้มข้นขึ้น (ถึงแม้ว่าจะมีข้อบกพร่องในเรื่องมาตรการเยียวยาก็ตาม) ประการที่สาม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งคือประชาชนมีความตระหนักในการดูแลตัวเองมากขึ้นกว่าเดิมมาก ประการที่สี่ สภาพแวดล้อมของประเทศไทยเอื้ออำนวยให้ความรุนแรงของไวรัสลดลง **ประการที่ห้า** ประเทศไทยมีการดูแลสมุนไพรพื้นฐานที่ประชาชนดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องมาพบแพทย์ในโรงพยาบาลแต่เพียงอย่างเดียว และสมุนไพรหรือตำรับยาบางขนานอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคเสียด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับ 2 เดือนที่แล้วมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ในช่วงแรกผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายมีข้อถกเถียงกันว่าใครควรจะสวมหน้ากากอนามัยมาถึงวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่มีหน้ากากอนามัยสวมออกมานอกบ้านเกือบทั้งหมด การที่ประชาชนส่วนใหญ่มีหน้ากากอนามัยนี้เอง ทำให้ลดความเสี่ยงในการแยกแยะไม่ได้ระหว่างผู้ป่วยที่มีอาการแต่ไม่ไปหาหมอ ผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ และผู้ที่ยังไม่ป่วย ทำให้เกิดการปกป้องตัวเองของประชาชน และการปกป้องลดความเสี่ยงจาการติดเชื้อจากผู้ป่วยทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวด้วย
ปัจจุบันในประเทศไทยผู้ที่ไม่สวม “หน้ากากอนามัย” กลายเป็นคนประหลาดแปลกแยกจากสังคมหรืออาจกลายเป็นที่รังเกียจในสังคมด้วยซ้ำไป แม้แต่ร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารหลายแห่งยังต้องมีข้อกำหนดผู้ที่มาใช้บริการซื้อสินค้าต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือต้องมีการวัดอุณหภูมิก่อนเท่านั้น ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีความแตกต่างจากหลายชาติอย่างสิ้นเชิง ด้วยความตระหนักของประชาชนมาถึงจุดที่มีวินัยในการดูแลตัวเองด้วยความเห็นพ้องต้องกันของสังคมโดยไม่ต้องมีกฎหมายบังคับแล้ว ประกอบกับมาตรการในเรื่องการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยเริ่มดีขึ้นทั้งจากการตรวจสอบจากสื่อสารมวลชนและภาคประชาชน ส่งผลทำให้มีการปรับนโยบายของภาครัฐ
อีกส่วนหนึ่งคือ การใช้ “แอลกอฮอล์” ในการทำความสะอาดนั้น ในช่วงแรกมีการถกเถียงกันมากว่าล้างมือมากให้ผลดีหรือผลเสียกันแน่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทำให้สังคมเรียนรู้สิ่งผิดและสิ่งถูก ทำให้ร้านค้าเอกชนหลายแห่งได้มีแอลกอฮอล์ให้กับประชาชนที่มาใช้บริการเพื่อดูแลทั้งตนเองและคนในร้าน ส่งผลทำให้ประชาชนมีความสะดวกในการทำความสะอาดมือของตนเอง ตลอดจนมีการสร้างความตระหนักในการทำความสะอาดวัตถุที่มีจุดสัมผัสต่อเนื่องของประชาชน นั่นหมายความว่าภาคธุรกิจเอกชนได้มีการปรับตัวเองไปอย่างมากเช่นกัน เพราะการปฏิบัติตัวที่มีมาตรการที่สร้างความปลอดภัยที่ดีพอย่อมสร้างความเชื่อมั่นไม่เพียงต่อผู้ประกอบการเอกชนเท่านั้นแต่ยังสร้างเชื่อมั่นต่อลูกค้าด้วย เพราะถ้าภาคเอกชนไม่ปรับตัวแล้วมีผู้ติดเชื้อก็จะส่งผลต่อธุรกิจแห่งนั้นต้องปิดไปโดยปริยายไม่เพราะด้วยมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นหรือไม่ก็เพราะไม่มีความปลอดภัยต่อลูกค้ามากพอ
ความตระหนักของประชาชาชนในเรื่อง “สังคมที่ทิ้งระยะห่าง” จึงดีขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าในสภาพความเป็นจริงยังคงเหลือพื้นที่หรือกิจกรรมเสี่ยงอยู่ แต่สังคมไทยส่วนใหญ่มีความรับรู้และรับมือในเรื่องดังกล่าวดีขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม แม้จะเคยมีงานวิจัยเกี่ยวข้อกับโรคซาร์สซึ่งเป็นโคโรนาไวรัสซึ่งมีความคล้ายคลึงมากที่สุดกับ COVID-19 ในห้องแล็บพบว่าอุณหภูมิสูงขึ้นและความชื้นที่สูงขึ้นจะทำให้การระบาดของโรคลดลง[1] แต่นั่นก็เป็นเงื่อนไขในห้องทดลอง แต่เนื่องจากการติดเชื้อในชีวิตจริงเกิดจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วย (โดยเฉพาะการติดผ่านการสัมผัสวัตถุที่มีจุดสัมผัสต่อเนื่อง) และมีประชาชนจำนวนมากอยู่อาศัยในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศทำให้อุณหภูมิเย็นลง ดังนั้นเมื่อมีการสำรวจประชากรที่ติดเชื้อจึงพบว่าอากาศที่มีความร้อน แสงแดด หรือความชื้นอาจไม่ผลต่อการระบาดเชื้อ COVID-19 [2] แต่อย่างน้อยก็ยังมีงานวิจัยที่อู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนพบว่าอุณหภูมิของอากาศที่ร้อนขึ้นและความชื้นสัมพัทธ์สุทธิที่สูงขึ้นอาจจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตให้ลดลงได้ [3] ซึ่งอาจจะเป็นโชคดีของประเทศไทยที่มีสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่ดีขึ้น หากประชาชนชาวไทยมีการรักษาระดับการป้องกันตัวเอง (สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือเป็นประจำ) ทิ้งระยะห่าง, และพยายามเปิดเครื่องปรับอากาศให้น้อยลง ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดไฟแล้ว ยังมีโอกาสที่จะช่วยลดเงื่อนไขการเสียชีวิตจาก COVID-19 ให้ลดลงได้ด้วย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตเบื้องต้นจากบางฝ่ายว่าพื้นที่กักตัวในต่างจังหวัดในอากาศที่ร้อนกลับมีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า หายป่วยเร็วกว่า ซึ่งจะต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป
“ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยที่เคยมีการใช้สำหรับใช้ลดไข้และรักษาไข้หวัดในการแพทย์แผนไทยมานานแล้ว และประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงสมุนไพรชนิดนี้ได้ไม่ยาก ด้วยงานวิจัยยุคใหม่ทำให้ยืนยันผ่านกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มากขึ้นไปอีกขั้นว่า “ฟ้าทะลายโจร” แม้ไม่สามารถใช้ป้องกัน COVID-19 ได้ แต่สามารถยับยั้ง COVID-19 ได้ ซึ่งทำให้ประชาชนแม้จะไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ COVID-19 ได้ แต่เมื่อป่วยและสงสัยว่าตัวเองจะติด COVID-19 ก็สามารถหาฟ้าทะลายโจรมารับประทานตั้งแต่เนิ่นๆได้ ซึ่งความจริงแล้ว กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกควรจะส่งตรวจในสมุนไพรที่มากกว่าฟ้าทะลายโจรให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นกว่านี้อีกรวมถึงตำรับยาไทยตามพระคัมภีร์ตักศิลาที่เคยใช้ในช่วงเกิดโรคระบาดในสยามด้วย เช่น ยาขาว ยาครอบไข้ ยาห้าราก ฯลฯ รวมถึงตำรับยาที่ใช้สำหรับป้องกัน (ซึ่งฟ้าทะลายโจรไม่สามารถนำมาใช้ป้องกันได้) และควรนำวิชาธรรมานามัยในวิชาการแพทย์แผนไทยมาสอนประชาชนรู้จักดูแลตัวเองในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ก็ถูกนำมาใช้ได้เป็นผลดีในสาธารณรัฐประชาชนจีนมาแล้ว
แม้แต่แผนการบรรจุลูกจ้างของกระทรวงสาธารณสุข ก็ควรจะครอบคลุมบรรจุเพิ่มอัตราให้กับแพทย์แผนไทยตามสัดส่วนในกระทรวงด้วยเช่นเดียวกับกรมอื่นๆ เพราะลูกจ้างที่เป็นแพทย์แผนไทยเหล่านี้ต่างก็เสียสละทำงานในด่านหน้าร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เช่นกัน
แต่จุดอ่อนที่ประเทศไทยยังเหลืออยู่ก็มีอยู่เช่นกัน กล่าวคือ เรามีการตรวจ “กลุ่มเสี่ยงที่เข้าเกณฑ์” เป็นหลัก ดังนั้นอาจจะมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ยังคงมีโอกาสแพร่เชื้ออยู่ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่แสดงอาการช้า หรือหลบเลี่ยงไม่เข้าไปตรวจหรือไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้รวดเร็ว นอกจากนั้นประเทศไทยก็ยังมีชุมชนแออัดที่ยังคงมีความเสี่ยงแต่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจเชื้อ COVID-19 ได้
จุดอ่อนของประเทศไทยอีกด้านหนึ่ง คือ ยังคงมีการนำเข้าประชาชนจากต่างประเทศ โดยที่ใบรับรองแพทย์ก็อาจจะไม่ได้เป็นหลักประกันว่าติดหรือไม่ติดเชื้อจริงหรือไม่ เพราะผู้ป่วยอาจแสดงอาการช้าหรือยังไม่แสดงอาการ ดังนั้นหากมีการกักตัวตามเกณฑ์กำหนดโดยไม่ใช้เส้นสายก็ยังสามารถที่จะควบคุมได้ แต่ปัญหาคือการอนุญาต “ทยอยนำเข้าจากต่างประเทศ” ทีละน้อย แม้จะมีประโยชน์ในการทำให้สอดคล้องกับการทยอยรับมือโดยบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลที่มีอยู่ แต่ก็มีข้อเสียคือการเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ไม่สิ้นสุดและยืดเยื้ออย่างต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐจำเป็นจะต้องมีความชัดเจนในเกณฑ์ที่อนุญาตให้เข้าในประเทศ (โดยเฉพาะชาวต่างชาติ) รวมถึงการแยกแยะตัวเลขให้เห็นถึงความปลอดภัยในประเทศ กับผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศให้เห็นอย่างชัดเจน ยังไม่นับว่าการ “ลักลอบ” เข้าในประเทศบริเวณชายแดนอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายว่าทำได้อย่างเข้มแข็งมากน้อยเพียงใด
เพราะการระบาดเพิ่มเติมภายหลังจากการดูเหมือนว่าจะควบคุมได้นั้นมาจาก “สิ่งที่คาดไม่ถึง” ทั้งสิ้น !!!
แม้แต่สิงคโปร์ที่เคยดูเหมือนจะควบคุมได้ดีกว่าประเทศไทยก่อนหน้านี้ แต่เมื่อเลยวันที่ 40 นับแต่วันที่มีผู้ติดเชื้อถึง 100 รายขึ้นไปก็กลับปรากฏว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 1,000 คนขึ้นไปต่อวันไปแล้ว และสาเหตุที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็มาจากการพักอาศัยของแรงงานต่างชาติในหอพักที่มีความแออัดและไม่สามารถจะทิ้งระยะห่างหรือมีสุขอนามัยที่ดีพอได้ และกว่าจะรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็ภายหลังจากที่สิงคโปร์ดูเหมือนว่าจะควบคุมได้แล้ว
ดังนั้นแม้ประเทศไทยจะไม่ควรประมาทโดยเด็ดขาด แต่ด้วยมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ประสบปัญหาหลายด้าน มีความอ่อนแอและล้มเหลวทั้งในจำนวนงบประมาณ วิธีการบริหารจัดการ ทำให้ไม่สามารถเยียวยาให้ประชาชนที่เดือดร้อนได้ทันเวลาและมากพอ หากจะยื้อเวลาต่อไปก็จะยิ่งทำลายความเสียหายทางเศรษฐกิจจนยากจะเยียวยาได้
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงเชื่อว่ารัฐบาลคงจะคลายล็อกมาตรการควบคุมโรคในอีกไม่นานนี้ แต่หวังว่ารัฐบาลจะลงรายละเอียดให้ลึกลงไปกว่าเดิมไปที่ “มาตรการและหลักเกณฑ์การเปิดบางส่วน” ที่ภาคเอกชนจะต้องให้ความร่วมมือทั้งในด้าน 1. หน้ากากอนามัย, 2.จุดบริการแอลกอฮอล์ในร้านทั้งหมด, 3. การคัดกรองวัดอุณหภูมิ, 4. มาตรการทำความสะอาดในวัตถุสัมผัสร่วม, 5. มาตรการทิ้งระยะห่างในกิจการ และแก้ไขข้อบกพร่องในจุดเสี่ยงและจุดอ่อนที่ยังปรากฏอยู่ดังที่กล่าวมาแล้วในบทความนี้
และเนื่องจากประชาชนชาวไทยโดยส่วนใหญ่มีความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจไปทุกหย่อมหญ้า ทุกฝ่ายต่างต้องการที่จะให้ตัวเลขลดลงอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตมาเป็นปกติ ดังนั้นความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนเท่านั้น ที่จะทำให้เราผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] K.H. Chan, The Effects of Temperature and Relatiive Humidity on the Viability of the SARS Coronavirus, Advances in Virology, Volume 2011 |Article ID 734690 | 7 pages | https://doi.org/10.1155/2011/734690
[2] Ye Yoo, et al., No Association of COVID-19 transmission with temperature of UV radiation in Chinese cities., Eur Respir J. 2020 Apr 9: 2000517, doi: 10.1183/13993003.00517-2020 [Epub ahead of print]
PMCID: PMC7144256, PMID: 32269084
[3] Yeuling Ma, et al., Effectis of temperature variation and humidity on the death of COVID-19 in Wuhan, China., Sci Total Environ. , 2020 Jul 1; 724: 138226. Published online 2020 Mar 26. Doi: 10.1016/J.scitoteny.2020.138226 PMCID:PMC7142681