ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ในวิกฤต COVID-19 ที่สาธารณรับประชาชนจีนครั้งนี้ นอกจากความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างภาครัฐและประชาชนแล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนยังได้น้ำตำรับยาจีนหลายสูตร หลายขนาน เข้ามาช่วยดูแลสุขภาพในวิกฤครั้งนี้มาบูรณาการด้วย [1] [2]
จากการสำรวจงานวิจัยของกลุ่มประชากรจำนวนที่ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 60,107 คน [3]ในจำนวน 102 คนที่ใช้ตำรับยาจีนมีอาการน้อยอาการป่วยทางคลินิกจะหายไปโดใช้เวลาสั้นลงประมาณ 2 วัน อุณหภูมิในร่างกายกลับมาดีขึ้นโดยการใช้เวลาสั้นลง 1.7 วัน จำนวนระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลสั้นลง 2.2 วัน อีกทั้งยังช่วยทำให้ผลตรวจด้วยภาพซีทีสแกนมีอาการดีขึ้น 22% อัตราการักษาหายเพิ่มสูงขึ้น 33% และช่วยลดทำให้อัตราที่ผู้ป่วยธรรมดากลายเป็นผู้ป่วยหนักลดลง 27.4% และช่วยทำให้เม็ดเลือดขาวที่ผลิตจากไขกระดูกหรือลิมโฟไซต์เพิ่มสูงขึ้น 70% นอจากนั้นยังทำให้ผู้ป่วยหนักที่ใช้ยาจีนจะอยู่ในโรงพยาบาลจนผลตรวจเลือดกลายเป็นลบ(ไม่ติดเชื้อ)สั้นลงเร็วขึ้นอย่างน้อย 2 วัน [4]
โดยเฉพาะตำรับยาที่มีชื่อว่า ชิงเฟ่ย พายตู่ (Qingfei paidu) นั้นมีเรียกชื่อว่า QPD นั้นนอกจากจะช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบได้มีประสิทธิภาพ [5] โดยพบว่ายาจีนขนานดังกล่าวนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการระบาดโรค COVID-19 ด้วย
โดยในจำนวนผู้ป่วย COVID-19 ที่ได้รับการยืนยันแล้ว 701 คนที่มีการใช้ยาจีน QPD แล้วพบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 130 คนหายป่วยและกลับบ้านได้, จำนวน 51 คนมีอาการเจ็บป่วยหายไป, จำนวน 268 คนอาการเจ็บป่วยดีขึ้น และมีจำนวน 212 คนที่มีอาการคงที่โดยที่ไม่มีอาการทรุดลง และประสิทธิภาพของอัตราการรักษาโรค COVID-19 หายมากกว่า 90% [3]
ตำรับยาจีน ชิงเฟ่ย พายตู่ (Qingfei paidu)ประกอบไปด้วยสมุนไพร 21 ตัว ได้แก่
1.หมาหวง หรือ Mahuang (Herba Ephedrae) ปริมาณ 9 gram สมุนไพรรสเผ็ดขม คุณสมบัติ อุ่นเล็กน้อย ขับเหงื่อ ขับพิษไข้ กระจายซี่ปอด บรรเทาหอบ,
2.
2. ชะเอมเทศ หรือ Zhigancao (Radix Glycyrrhizae) ปริมาณ 6 gram เป็นสมุนไพรรสหวาน สุขุม ในกลุ่มบำรุงซี่ บำรุงส่วนกลางของร่างกาย ระบายความร้อน ขับพิษ ระงับไอ ขับเสมหะ ปรับประสานตัวยาให้เข้ากัน,
3. ซิ่งเหริ่น หรือ Xingren (Semen Armeniacae Amarum) ปริมาณ 9 gram ซิ่งเหริ่น คือเมล็ดสุกแห้งที่ลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออกแล้วของพืช มีสรรพคุณบรรเทาอาการไอ ระงับการหอบ,
4. เซิงสือเกา หรือ Shengshigao (Gypsum Fibrosum) ปริมาณ 15 gram สือเกา หรือเกลือจืด รสเผ็ดอมหวาน คุณสมบัติ เย็นมาก มีสรรพคุณ ระบายความร้อน รักษาอาการไข้ร้อนสูง ลดอาการร้อนกระวนกระวาย และกระหายน้ำ,
5. Guizhi (Ramulus Cinnamoni) ปริมาณ 9 gram สมุนไพรกุ้นจือ หรือกิ่งอบเชยจีน รสชาติเผ็ดอมหวาน คุณสมบัติอุ่น ขับเหงื่อ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ให้ความอบอุ่น และเสริมหยาง ช่วยให้ซี่มีการไหลเวียนได้ดีขึ้น,
6. Zexie (Rhizoma Alismatis) ปริมาณ 9 gram สมุนไพรเจ๋อเซี่ย รสชาติ จืด อมหวาน คุณสมบัติเย็น ขับปัสสาวะ ขับความชื้น ระบายความร้อน,
7. Zhuling (Polyporus Umbellatus) ปริมาณ 9 gram สมุนไพรจูหลิง รสชาติจืด อมหวาน คุณสมบัติ สุขุม สรรพคุณ ระบายความชื้น ลดอาการถ่ายเหลว ช่วยให้ปัสสาวะคล่อง บรรเทาอาการปัสสาวะขุ่น ลดบวม,
8. Baizhu (Rhizoma Atractylodis Macrocephalae) ปริมาณ 9 gram สมุนไพรไป๋จู๋ รสชาติขมอมหวาน คุณสมบัติ อุ่น บำรุงซี่ เสริมม้ามให้แข็งแรง ขจัดความชื้น ระบายน้ำ ระงับเหงื่อ กล่อมครรภ์,
9. Fuling (Poria) ปริมาณ 15 gram สมุนไพรฝูหลิง หรือโป่งรากสน รสชาติ จืดอมหวาน มีคุณสมบัติสุขุม สรรพคุณขับน้ำ สลายความชื้น บำรุงม้าม สงบจิตใจ,
10. Chaihu (Radix Bupleuri) ปริมาณ 16 gram สมุนไพรไฉหู รสชาติ ขมเผ็ด มีคุณสมบัติ เย็นเล็กน้อย ขับกระจายลดไข้ ผ่อนคลายระบบตับ และคลายเครียด ช่วยให้หยางซี่ขึ้นสู่ส่วนบน,
11. Huangqin (Radix Scutellariae) ปริมาณ 6 gram สมุนไพรหวงฉิน รสชาติ ขม มีคุณสมบัติ เย็น สรรพคุณ ระบายความร้อน แก้ความชื้น ขับพิษร้อน ช่วยให้เลือดเย็นลง และห้ามเลือด แก้ตัวร้อน กล่อมครรภ์,
12. Jiangbanxia (Rhizome Pinelliae Preparata) ปริมาณ 9 gram สมุนไพรปั้นเซี่ย รสชาติเผ็ดร้อน คุณสมบัติอุ่น มีพิษ (จำเป็นต้องฆ่าพิษก่อนนำมาใช้) สรรพคุณ ขจัดความชื้น ละลายเสมหะ ลดการไหลย้อนกลับของซี่ ระงับอาเจียน ละลายเสมหะที่จับเป็นก้อนเถาดาน,
13. Shengjiang (Rhizama Zingiberis Recens) ปริมาณ 9 gram สมุนไพรเซิงเจียง หรือรากขิงแก่สด มีรสชาติ เผ็ด คุณสมบัติอุ่น สรรพคุณ ขับเหงื่อ ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหารบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยให้ปอดอบอุ่น ระงับไอ,
14. Ziyuan (Radix Asteris) ปริมาณ 9 gram สมุนไพรจือหว้น มีรสชาติ เผ็ดอมหวานและขม คุณสมบัติอุ่น ให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด ดึงซี่ลงต่ำ ละลายเสมหะที่เป็นสาเหตุของการไอทั้งไอเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งแบเย็นร้อน พร่อง และแกร่ง บรรเทาอาการคันคอ เสมหะมีเลือดปน,
15. Kuandonghua (Flos Farfarae) ปริมาณ 9 gram สมุนไพรข่วนตงฮวา รสชาติเผ็ดขมเล็กน้อย มีคุณสมบัติเป็นยาอุ่น ให้ความชุ่มชื้นแก่ระบบปอด ระงับอาการไอ ละลายเสมหะ,
16. Shegan (Rhizoma Belamcandae) ปริมาณ 9 gram สมุนไพรเซ่อกาน หรือว่านหางช้าง รสขมเย็น สรรพคุณ ระบายความร้อน ถอนพิษ ละลายเสมหะ ช่วยให้ลำคอโล่ง,
17. Xixin (Herba Asari) ปริมาณ 6 gram สมุนไพรซี่ซิน รสชาติเผ็ดร้อน มีคุณสมบัติอุ่น สรรพคุณสลายความเย็น เปิดทวาร แก้ปวด ให้ความอบอุ่นแก่ปอด ขับของเหลว,
18. Shanyao (Rhizoma Dioscoreae) ปริมาณ 12 gram สมุนไพรซานเย่า รสชาติหวาน คุณสมบัติสุขุม มีสรรพคุณบำรุงซี่ เสริมอิน บำรุงปอดและม้าม ไต เหนี่ยวรั้งสารจำเป็นบรรเทาอาการตกขาว,
19. Zhishi (Fructus Aurantii Immaturus) ปริมาณ 6 gram สมุนไพรจื่อสือ รสชาติ ขมเผ็ด มีคุณสมบัติเป็นยาเย็นเล็กน้อย มีสรรพคุณ ขับซี่ลงล่าง สลายก้อน สลายของเสียตกค้าง ละลายเสมหะ,
20. Chenpi (Pericarpium Citri Reticulatae) ปริมาณ 6 gram สมุนไพรเฉินผี หรือผิวส้มจีน รสชาติ เผ็ดขม มีคุณสมบัติเป็นยาอุ่น สรรพคุณปรับและกายซี่ ปรับส่วนกลางของร่างกายให้เป็นปกติ ขับความชื้น ละลายเสมหะ,
21. Huoxiang (Herba Pogostemonis) ปริมาณ 9 gram สมุนไพรฮั้วเซียง หรือพิมเสนต้น รสชาติ เผ็ด มีคุณสมบัติอุ่น สรรพคุณ สลายความชื้น รงับอาเจียน และระบายความร้อน
จะเห็นได้ว่าท่ามกลางวิกฤตของ COVID-19 ตำรับยาจีนกลายเป็นความหวังไม่ใช่เฉพาะแต่ชาวจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นความหวังให้กับคนทั้งโลกได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่โลกยังไม่ได้มีวัคซีน หรือยาแผนปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการทดลองเช่นเดียวกัน
คำถามคือ COVID-19 เป็นโรคใหม่ เป็นเชื้อตัวใหม่ จะมีสมุนไพรจีนมาต้านโรคใหม่ที่ไม่เคยมีใครรักษาให้หายได้ชัดเจนมาก่อนได้อย่างไร คำตอบก็คือกรอบความคิดของการแพทย์แผนตะวันออก ทั้งจีน อินเดีย ไทย ฯลฯ ให้ความสนใจในเรื่องธาตุของความเป็นมนุษย์มากกว่าจะสนใจชนิดของเชื้อว่าเราเคยรู้จักมันหรือไม่ แล้วสังเกตอาการของโรคนั้นตามอายุ ฤดูกาล ว่าส่งผลต่อระบบธาตุของความเป็นมนุษย์นั้นแปรเปลี่ยนไปอย่างไร โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าเชื้อนั้นจะมีการแปรสภาพเปลี่ยนไปอย่างไร?
และการแพทย์ของจีนก็ให้ความสนใจในเรื่องของความสมดุลระหว่างหยินและหยาง และธาตุในมนุษย์แล้วใช้สมุนไพรในการแก้ไข โดยมีความเข้าใจในสรรพคุณเภสัชของพืชแต่ละชนิดเป็นอย่างดี
ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานที่เกิดโรคระบาดใหม่ ชาติที่มีภูมิปัญญาจะไม่มานั่งกีดขวางภูมิปัญญาของชาติ แต่จะส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกัน และยาจีนก็ได้ถูกนำมาใช้ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดื่มเพื่อปกป้องตัวเองและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคระบาดด้วย
และงานวิจัยเช่นนี้ออกมาได้ก็เพราะว่ามีการเปิดทางให้ภูมิปัญญาชาติได้เข้ามามีส่วนร่วมกับวิกฤติ COVID-19 อย่างเต็มที่ ไม่เพียงการป้องกันเท่านั้น แต่ยังเปิดทางให้เข้ามามีส่วนช่วยแม้กระทั่งผู้ป่วยที่มีอาการหนักวิกฤติด้วย
นักวิชาการและแพทย์แผนปัจจุบันในประเทศไทยที่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องปรัชญาการแพทย์แผนไทย ก็มักจะอ้างว่าไม่มีตำรับยาไทยขนานใดระบุว่าสามารถเอามาใช้รักษาโรค COVID-19 ได้ ต้องมีการพิสูจน์รับรองด้วยการทดลองในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง หรือในมนุษย์เสียก่อน ด้วยเหตุผลนี้เองถึงทำให้มีแต่สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่นำงานวิจัยสมุนไพรเดี่ยวแบบเภสัชศาสตร์ยุคใหม่ในการมาร่วมป้องกันโรค COVID-19 เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วกลับไม่เปิดโอกาสให้ใช้ยาแผนไทยตามตำรับโบราณที่มีภูมิปัญญาที่ลึกซึ้ง ได้ใช้กับผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลภาครัฐจริงหรือไม่?
นี่คือเหตุผลว่าพอจะใช้ยาไทย ก็อ้างว่ายังไม่มีข้อพิสูจน์ว่ารักษา COVID-19 ได้ พอจะขอใช้เพื่อพิสูจน์ความจริงก็ว่าไม่ได้ต้องไปขอคณะกรรมการจริยธรรมตามขั้นตอนในโรคใหม่ที่คนไทยไม่เคยรู้จักเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อน ถ้าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีกรอบความคิดแบบที่ประเทศไทยเป็นอยู่ขณะนี้ ก็คงไม่มีตำรับยา ชิงเฟ่ย พายตู่ ออกมาใช้กับผู้ป่วยได้เลย และคงไม่มีวันจะได้รู้ว่าตำรับยาจีนเหล่านี้ช่วยลดวิกฤติชาติจีนได้ และกลายเป็นความหวังของคนทั้งโลก
แล้วตำรับยาไทยไปอยู่ไหน ได้มีโอกาสจะใช้หรือไม่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับโรคระบาดนั้น แพทย์แผนไทยได้มีพระคัมภีร์ตักศิลาว่าด้วยโรคระบาดเกี่ยวกับการติดเชื้อทั้งหลาย แม้ไม่ต้องรู้จักชนิดและชื่อของเชื้อแต่ก็มีกลไกลในการแยกแยะว่าควรจะจัดการอย่างไร
อย่างน้อยในยามที่เราไม่ได้ให้ยาต้านไวรัสได้กับผู้ติดเชื้อทุกคน และในยามที่เรายังไม่ได้มีวัคซีน เหตุใดจึงไม่เปิดทางให้การแพทย์แผนไทยได้ใช้ตำรับยา อย่างน้อยก็ควรจะเป็นกลุ่มผู้ถูกกักตัวเพื่อสังเกตอาการจริงหรือไม่?
เพราะทุกวันนี้มีแต่การให้ข้อมูลตัวเลขการติดเชื้อ ยอดเสียชีวิต ยอดหายป่วย และแนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเอง แต่กลับไม่มีคำแนะนำให้ชัดเจนถึงการปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะพึ่งพาตัวเองได้ในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันด้วยธรรมานามัย
ดังตัวอย่างการแพทย์แผนจีนที่ได้เปิดโอกาสให้แพทย์แผนจีนมีบทบาทในการจ่ายยาสมุนไพรจีนหลายขนาน แล้วเก็บรวบรวมสถิติจึงได้รู้ว่าตำรับยาไหนมีประสิทธิภาพดีที่สุด แล้วการที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนอนุญาตให้มีการใช้นั้นก็ไม่ได้เริ่มต้นจากการพิสูจน์ก่อนว่าตำรับยาจีนไหนใช้รักษา COVID-19 ได้ แต่ใช้ฐานจากการใช้ยาจีนตั้งแต่การระบาดโรคซาร์ส โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคเกี่ยวกับปอด แล้วดูผลกระทบต่ออาการที่เกิดขึ้นและอวัยวะต่างๆ แล้วจึงอนุญาตให้มีการใช้สมุนไพรตามองค์ความรู้ทั้งตามภูมิปัญญาและสรรพคุณเภสัช เป็นการทั่วไป ไม่ใช่กีดกัน ขัดขวาง เพียงเพราะข้ออ้างว่ายังไม่ได้รับการพิสูจน์ต่อ “เชื้อตัวใหม่” อย่างที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
เพราะแม้วันนี้จะมีตำรับยาไทยใช้ได้กับผู้ที่มีอาการคล้าย COVID-19 จำนวนมากและหายป่วยแล้วจำนวนมาก ดังเช่น การจ่ายยาตำรับยาขาวในตำราศิลาจารึกวัดเชตุพนวิมลมังคลรามที่มีบันทึกเอาไว้ว่าสามารถนำมาใช้แก้ไขโรคระบาดหลายชนิด แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครจะตรวจผู้ป่วยที่หายแล้วเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้รับการตรวจเชื้อทั้งช่วงป่วยและหายป่วย เพราะถ้ามีโอกาสตรวจและเจอเชื้อก็ต้องถูกนำไปกักตัวและรักษาแผนปัจจุบันทั้งหมดโดยทันที ใช่หรือไม่?
สรุปคือ ถ้าตำรับยาไทยรักษาหายก็บอกว่าอาจไม่ใช่ COVID-19 เพราะไม่มีใครยอมตรวจให้, พอตรวจเชื้อ COVID-19 ก็ไม่ให้แผนไทยได้มีโอกาสรักษาเพราะต้องเข้ากระบวนการรักษาในระบบแพทย์แผนปัจจุบัน หากแม้นสมมุตว่าอนุญาตให้มีการรักษาคู่กับยาแผนปัจจุบัน (ซึ่งก็อยู่ระหว่างการทดลอง COVID-19 เช่นกัน) ก็จะบอกอีกว่าถ้าหายก็คงเป็นเพราะยาแผนปัจจุบันเท่านั้น พอจะรักษาด้วยสมุนไพรตามตำรับยากับผู้ป่วย COVID-19 โดยตรง ก็ไม่ให้ใช้อีกเพราะอ้างว่ายาไทยไม่เคยพิสูจน์ว่ารักษา COVID-19 ได้
มาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช บัญญัติเอาไว้ว่า :
“รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคและส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
ในที่สุดก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อถึงเวลาวิกฤตแม้ไม่มียา ไม่มีวัคซีน ตำรับยาไทยก็ไม่ได้มีโอกาสถูกนำมาใช้ได้อย่างแท้จริง และอย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้กระทั่งกลุ่มประชาชนที่ถูกกักตัวและไม่ได้รับยาอะไรทั้งสิ้นก็ไม่ได้มีโอกาสใช้ตำรับยาไทยในพระคัมภีร์ตักศิลาที่ว่าด้วยโรคระบาดเสียด้วยซ้ำไป จริงหรือไม่? รัฐธรรมนูญที่บัญญัติเอาไว้ให้มีการสนับสนุนภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือยัง?
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง[1] Wan S., Clinical features and treatment of COVID-19 patients in northeast Chongqing, J Med Virol, 2020 Mar 21, doi: 10.1002/jmv/25783.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/32198776
[2] National Health Commission of the People’s Republic of China http://www.nhc.gov.cn/xcs/zhengcwj/202002/8334a8326dd94d329df351d7da8aefc2.shtml
[3] Publicity Department of the People’s Republic of China. Press conference of the joint prevention and control mechanism of state council on Feb 17,2020 http://www.nhc.gov.cn/xcs/fkdt/202002/f12a62d10c2a48c6895cedf2faea6e1f.shtml
[4] Jun-ling Ren, et al., Traditional Chinese medicine for COVID-19 treatment., Pharmacological Research, Available online 25 March 2020, Pages 104768https://doi.org/10.1016/j.phrs.2020.104743
[5] J.Zhao, et al., Investigating the mechanism of Qing-Fei-Pai-Du-Tang for treatment of Novel Coronavirus Pneumonia by network pharmacology, Chinese Traditional and Herbal Drugs, http://kns.cnki.net/kcms/detail/12.1108.R.20200216.2044.002.html