"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"
สำนักวิจัย ซุปเปอร์โพลซึ่งได้เปิดเผยคะแนนนิยมรัฐบาลผ่านแนวโน้มจุดยืนการเมืองของประชาชนตั้งแต่พฤศจิกายน 2562 ถึงช่วงปลดล็อกผ่านปรนโควิด-19 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2562 เป็นบทพิสูจน์ว่าช่วงเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโควิด-19 คือช่วงเวลาที่คะแนนนิยมรัฐบาลเริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน และปรากฏการณ์นักการเมืองแย่งชามข้าวคือความเสื่อมถอยของรัฐบาล
โดยก่อนที่รัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น คะแนนนิยมต่อรัฐบาลลดลงเหลือเพียง 9% ในขณะที่ผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นเป็น 47.7% ต่อมาคะแนนนิยมรัฐบาลกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยคะแนนการสนับสนุนต่อรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากการใช้มาตรการแจกและลดค่าใช้จ่าย จนกระทั่งช่วงเวลาที่ตัวเลขการติดเชื้อลดลง ก็ยิ่งทำให้คะแนนนิยมต่อรัฐบาลยิ่งเพิ่มสูงสุดถึง 46.9% ในขณะที่ฝ่ายไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงเหลือเพียง 22% เท่านั้น ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนี้แม้จะมีความพยายามจัดการชุมนุมของคนบางกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลก็ไม่ได้รับการสนองตอบจากประชาชนมากนัก
ช่วงเวลาดังกล่าวข้างต้นคือช่วงเวลาที่ประชาชน “เสียสละ” แม้ว่าตัวเองจะต้องประสบปัญญาความยากลำบากในช่วงการเกิดโรคระบาด ทั้งสูญเสียเสรีภาพในการใช้ชีวิต รายได้ลด ตกงาน ฯลฯ ประชาชนบางกลุ่มในช่วงเวลานั้นแม้จะอาจจะไม่พอใจรัฐบาลแต่เดิม ก็ยังหันกลับมาสนับสนุนให้กำลังใจรัฐบาลเพื่อให้สามารถนำพาประเทศฝ่าวิกฤติครั้งนั้นไปให้ได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจำนวนหนึ่งก็ยอมเสียสละจุดยืนทางการเมืองด้วยการให้โอกาสรัฐบาลอีกครั้งก็เพราะมองเห็นประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ
แต่พอภายหลังจากภาวะวิกฤติของชาติลดน้อยลงเรื่อยๆ ผนวกกับความวุ่นวายที่เริ่มขึ้นภายในรัฐบาลที่มาพร้อมกับการอภิปรายในรัฐสภาการกู้เงินของรัฐบาล ก็กลับทำให้รัฐบาลได้รับการสนับสนุนน้อยลงเหลือ 39.1% ในขณะที่คะแนนผู้ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นเป็น 39.0% ซึ่งทั้งผู้สนับสนุนและไม่สนับสนุนมีความใกล้เคียงกัน
จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ที่มีการแย่งชิงตำแหน่งภายในพรรคพลังประชาชารัฐเพื่อนำไปสู่การช่วงชิงตำแหน่งทางการเมืองและผลประโยชน์ในการกู้เงินอย่างมหาศาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ คะแนนนิยมต่อรัฐบาลลดลงเหลือเพียง 20.4% เท่านั้น ในขณะที่คะแนนนิยมการสำรวจที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นสูงสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนคือสูงถึง 54.4%
ผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลสูงถึง 54.4% นั้นหมายถึงว่าความรู้สึกของประชาชนไม่สนับสนุนรัฐบาลเกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งย่อมเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลแล้วในขณะนี้ !!!
สถานการณ์ Global COVID-19 Index (GCI) ซึ่งจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาและกระทรวงวิทยาศาสตร์ ประเทศมาเลเซียได้จัดอันดับให้ ประเทศไทยมีการฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 จาก 184 ทั่วโลก ก็ดี หรือแม้แต่การจัดอันดับของกลุ่ม Deep Knowledge Group ซึ่งนำโดยมูลนิธิสวิสเซอร์แลนด์และอังกฤษที่จัดอันดับให้ประเทศไทยตกอันดับไปอยู่ที่ 47 ของโลกหรือเทียร์ 3 ด้วยเกณฑ์การวัดปลอดภัยในโควิด-19 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเกณฑ์ในการวัดและให้น้ำหนักในส่วนไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการระบาดโควิด-19มากเกินไปจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็ยังจัดอันดับให้ ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการความเสี่ยงของรัฐบาลไทย ก็อยู่ในอันดับ 25 จาก 200 ประเทศ ประกอบคำชื่นชมจากต่างชาติ และการยอมรับให้คนไทยเป็นกลุ่มคนแรๆของโลกที่สามารถเดินทางไปในบางประเทศได้ภายใต้เงื่อนไขกำหนด ก็ยิ่งทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จค่อนข้างดีในสายตาต่างชาติ
และไม่ว่าในอนาคตเป็นอย่างไรจนถึงวันนี้ ประเทศไทยก็ปลอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ “ภายในประเทศ” มากกว่า 21 วันต่อเนื่องแล้ว แม้ว่าในอนาคตจะยังเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน แต่ก็ทำให้ประเทศไทยยังมีหวังว่าจะปราศจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้นานที่สุด หรือไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศเลย เพราะเป็นเรื่องที่ทุกประเทศปรารถนามากที่สุด เพราะหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นก็ย่อมกลับมากระทบการทำมาหากินของประชาชนและเศรษฐกิจต่อเนื่องยาวนานต่อไปอีกไม่จบสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งซุปเปอร์โพลยังได้รายงานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหลังจากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมากว่า 1 ปี พบว่าประชาชนระบุว่า “แย่ลง” 43.2% ในขณะที่มีการระบุว่า “แย่เหมือนเดิม” 31.5% ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังยากลำบากอยู่และยอมเสียสละตัวเองเพื่อชาติในยามวิกฤติโควิด-19 จำเป็นอย่างยิ่งที่นักการเมืองจะต้องเห็นใจ เกรงใจ และเคารพความเสียสละของประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วย
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น สำนักวิจัยซุปเปอร์โพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง บิ๊กเนม โควิด-19 ระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเข้าสู่การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงการระบาดของโควิด-19 คนสำคัญชื่อโดนใจ 5 อันดับแรกได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 35.7%, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 29.5%, อันดับสาม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 21.4%, อันดับสี่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 18.0% และอันดับห้า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 15.5%
ตามมาด้วยสำนักวิจัยซุปเปอร์โพลร่วมกับสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการเปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่องเหลียวหลังแลหน้าขจัดโควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25 เมษายน -1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ได้ระบุอีกว่ารัฐมนตรีมีผลงานลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนช่วงโควิด-19 (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า อันดับหนึ่ง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน แจกแอลกอฮอล์ และอื่นๆ ได้ 53.8 %, อันดับที่สองคือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจกเงิน ลดภาษี และอื่นๆ ได้ 51.2 %, อันดับที่สาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลดค่าไฟฟ้า ช่วยค่าน้ำประปา และอื่นๆ ได้ 43.3%, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือเกษตรกร แจกเงิน แก้ภัยแล้ง ได้ 12.9%, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แจกหน้ากากอนามัย และอื่นๆ ได้ 11.8%
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มาจาก นายอุตตม สาวนายน และการแย่งชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชาชารัฐมาจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ โดยมุ่งเป้าไปที่การแย่งชิงตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น กลายเป็นผลทำให้คะแนนสนับสนุนรัฐบาลตกฮวบลง แม้ว่าจะมีการคลายล็อกเฟสสี่และประเทศไทยปลอดเชื้ออย่างต่อเนื่องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยในสายต่างประเทศแล้ว คะแนนนิยมก็ยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มากนั้น
สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นการแย่งตำแหน่งครั้งนี้ “ฝืนคะแนนนิยมของประชาชน” และ “ฝืนความรู้สึกของประชาชน” นั่นเอง !!!
ที่ว่า “ฝืนคะแนนนิยมของประชาชน” ก็เพราะเป็นการแย่งชิงในตำแหน่งที่ประชาชนให้คะแนนนิยมสูงกว่าจากคนที่อาจจะมีคะแนนนิยมต่ำกว่า หรือแม้แต่ประชาชนอาจสงสัยนักการเมืองบางคนที่จะมาชิงตำแหน่งนั้นอาจจะมีประวัติทุจริตโกงบ้านกินเมืองมากกว่าด้วยหรือไม่?
ส่วนที่ว่า “ฝืนความรู้สึกของประชาชน” เพราะเป็นการแย่งชิงโดยอาศัยการนับจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในมือของแต่ละกลุ่มว่ารวบรวมและมีอยู่เท่าไหร่ ก๊วนใครมากกว่ากัน (มิพักต้องพูดถึงว่าต้องจ่ายเงินเดือนให้ ส.ส.แต่ละคนในก๊วนเท่าไหร่) มากกว่าจะดูว่าใครมีความสามารถที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่ากัน ซึ่งเป็นการเมืองน้ำเน่า ที่ประชาชนอาจเข้าใจได้ว่าการรวมกลุ่มก้อนนั้นเป็นไปตามผลประโยชน์อื่นใดของกลุ่มมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่?
และถ้ายึดถือประโยชน์ของการรวมกลุ่มเช่นนี้ ประชาชนก็มีสิทธิจะคิดได้ว่าเมื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองแล้ว จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ผ่านการสัมปทานตำแหน่งให้หัวหน้ากลุ่ม เพื่อเลี้ยงดูสมาชิกในกลุ่มอีกเท่าไหร่?
หันกลับมามองบ้างว่าในขณะที่ประชาชนเขาต้องยากลำบาง เขต้องเสียสละตัวเองเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา? ก็ขอให้ไปดูผลสำรวจเดียวกันนี้ของ “สำนักวิจัยซุปเปอร์โพลร่วมกับสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ” พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่าสิ่งที่คนไทยทำร่วมขจัดปัญหาโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ พบว่า
“77.8% ระบุว่าประชาชนทำตามมาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ได้ดี, รองลงมาคือ 75% ระบุว่าประชาชนหัวใจคุณธรรมช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลกันเอง, 69.4% ระบุคนไทยตื่นตัว ตระหนัก ป้องกันตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อตามจุดต่างๆ, และ 65.6% คนไทยเชื่อฟังและทำตามมาตรการต่างๆของรัฐบาล และท้ายที่สุดคือ 53.9% รัฐบาลจัดการได้ดี”
ลองพิจารณาดูว่าประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าชีวิตความเป็นอยู่แย่ลงหรือแย่เหมือนเดิม แต่ก็ล้วนเสียสละตัวเองในช่วงยากลำบากร่วมไม้ร่วมมือกันกับรัฐบาลเพื่อฝ่าวิกฤติครั้งนี้ คุณธรรมของประชาชนเหล่านี้สูงส่งและมีความน่าเคารพนับถือมากกว่านักการเมืองที่ยังคิดล้าหลัง มุ่งแต่จะหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินให้กับตัวเองและพวกพ้องเพียงใด
ในขณะที่ประชาชนตื่นรู้ และเสียสละประโยชน์ส่วนตนลำบากยากเข็ญเพื่อชาติมาหลายเดือนแล้ว กลุ่มนักการเมืองที่คิดแย่งชิงอำนาจยังมีความเป็นคนอยู่หรือเปล่า? หรือเป็นเพียงแค่ “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงิน” ที่แสดงความอุบาทว์หน้าด้าน ไร้ยางอาย ไร้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เป็นการเมืองล้าหลังน่าสะอิดสะเอียนให้ประชาชนได้เห็นโดยไม่คิดเกรงใจประชาชนบ้างเลยหรือ?
ในสถานการณ์ที่ประชาชนยังลำบากยากเข็ญ ชาติบ้านเมืองยังต้องฝ่าวิกฤติไปข้างหน้าอีกมาก นักการเมืองประเภทไหนที่ยังคิดจะทำมาหากินจากงบประมาณที่ประเทศชาติต้องกู้อย่างมหาศาลครั้งนี้ ประชาชนคนในชาติก็ไม่ควรที่จะไปสนับสนุนนักการเมืองจำพวกนั้นอีกต่อไป
และหากพรรคการเมืองไหน หรือรัฐบาลไหน ตัดสินใจเลือกที่สนับสนุนคนไม่ดีให้ปกครองบ้านเมือง และไม่ให้คนดีมีอำนาจ ประชาชนก็ไม่ควรที่จะไปสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น และรัฐบาลชุดนั้นอีกต่อไป
วิกฤติของประเทศชาติครั้งนี้ จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพราะการท่องเที่ยวจากต่างประเทศหรือกำลังซื้อจากต่างประเทศยังคงซบเซาตกต่ำหนักแบบยืดเยื้อยาวนาน การกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มกำลังซื้อจากงบประมาณของรัฐจึงย่อมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและความโปร่งใสของการใช้งบประมาณ หากมุ่งมั่นทำแต่ความชั่วแย่งตำแหน่งเพื่อนำไปสู่ชิงงบประมาณโดยหวังที่จะทำมาหากินเพื่อประโยชน์ของพวกพ้องแล้ว ประเทศย่อมไม่สามารถจะฟื้นฟูได้ มีแต่จะสูญสลายย่อยยับ เพราะประเทศก่อหนี้สินอันมหาศาลให้ไปถึงลูกหลาน แต่ประชาชนกลับเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าสารทิศ เป็นบาปมหันต์ต่อแผ่นดิน
คงเหลือแต่การฝากความหวังเอาไว้ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้มีคะแนนนิยมสูงสุดในเวลานี้ว่าจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร?
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์