xs
xsm
sm
md
lg

คำถามที่อัยการไม่กล้าตอบ ทำไมอุ้ม “พานทองแท้” หนีศาล

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



อัยการสูงสุด นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ไปราชการในพื้นที่ภาค 7 มอบหมายให้นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด อาวุโสลำดับ 1 รักษาราชการแทน

วันที่ 24 พฤษภาคม นายเนตร มีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีที่อัยการฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร ข้อหาร่วมกันฟอกเงินทุจริตเงินปล่อยกู้แบงก์กรุงไทยจำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนปีที่แล้ว ให้ยกฟ้อง

วันรุ่งขึ้น 25 พฤษภาคม 2563 อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ยื่นขอขยายเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 6 ศาลอนุญาตให้ขยายเวลาอุทธรณ์จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2563

นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ยังไม่ทราบว่า อัยการสูงสุดสั่งไม่อุทธรณ์แล้ว จึงอุทธรณ์ไปตามระเบียบ

คดีใหญ่ คดีสำคัญอย่างนี้ เป็นไปได้หรือไม่คุยกัน อัยการสำนักคดีพิเศษ 4 เจ้าของคดี ควรจะได้รับแจ้งทันทีไม่ใช่หรือ อีกทั้งยังมีเวลาอีก 1 เดือนเต็มๆ นายเนตร จะรีบไปถึงไหน ทำไมไม่รอให้นายวงศ์สกุล กลับมาลงนามสั่งไม่อุทธรณ์เอง

ส่วนนายวงศ์สกุล ก็รู้ว่า สังคมกำลังจับตาดูว่า อัยการจะอุทธรณ์คดีนี้หรือไม่ ทำไมไม่ลงนามเอง หรือสั่งนายเนตรว่า เรื่องนี้รอผมกลับมาก่อน เป็นการลอยตัวหนีความรับผิดชอบ เพราะไม่กล้าตัดสินใจ ตามหลักความยุติธรรมที่แท้จริง ทั้งๆ ที่เป็นผู้นำหมายเลข 1 กลับให้เบอร์ 2 ทำแทน หรือว่าเบอร์ 1 กับเบอร์ 2 ของสำนักงานอัยการสูงสุด รู้กันอยู่แล้ว

ก่อนหน้านี้ สำนักงานอัยการสูงสุด ส่งคำสั่งไม่อุทธรณ์ไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ดีเอสไอไม่เห็นด้วย ทำความเห็นแย้งกลับมาว่า ดีเอสไอมีความเห็นยึดตามความเห็นเดิมคือ นายพานทองแท้ ชินวัตร มีความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน อัยการจึงควรอุทธรณ์ต่อศาลสูง

คดีนี้ มีผู้พิพากษาสองคนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริต ที่กำหนดองค์คณะศาลชั้นต้นไว้ 2 คน ผู้พิพากษา 2 คน มีความเห็นต่างกัน คนที่เป็นเจ้าของสำนวน เห็นว่า นายพานทองแท้ มีความผิด ตัดสินให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ผู้พิพากษาองค์คณะอีกคนหนึ่ง เห็นว่า นายพานทองแท้ ไม่ผิด ให้ยกฟ้อง

ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากผู้พิพากษามีความเห็นต่างกัน และความเห็นที่ต่างกันนั้น มีเสียงเท่ากันให้ยึดถือความเห็นที่เป็นคุณต่อจำเลย คือ ความเห็นของผู้พิพากษาองค์คณะ ให้ยกฟ้องนายพานทองแท้

ปุถุชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านกฎหมายเหมือนอัยการ แค่รู้ผิดชอบ ชั่วดี ก็คงเห็นแล้วว่า คดีนี้มีช่องรูเบ้อเร่อที่อัยการจะใช้เป็นข้อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ได้ และอัยการมีหน้าที่ต่อสู้คดีจนถึงที่สุด เท่าที่กฎหมายเปิดช่องให้

การตัดสินใจของรองอัยการสูงสุด ที่อาสาทำหน้าที่แทนอัยการสูงสุด สั่งไม่อุทธรณ์นายพานทองแท้ จึงไม่สามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจได้ว่า เพราะอะไร การแถลงของโฆษกสำนักงานอัยการฯ ก็ไม่มีการชี้แจงเหตุผล เพราะชี้แจงไม่ได้

จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สังคมจะเข้าใจได้ว่า การตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้นั้น มีเบื้องหลังอย่างไร เพราะคนที่ได้ประโยชน์คือ นายพานทองแท้

ศาลอาญาคดีทุจริต ต่างจากศาลอาญาทั่วไป คือ มี 2 ศาล ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา การฎีกาต้องให้ศาลอนุญาต ซึ่งศาลจะรับฎีกาในกรณีที่ ต้องการวางบรรทัดฐาน หรือในคดีที่จำเลยถูกลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ฯลฯ

หากอัยการยื่นอุทธรณ์ และหากศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โอกาสที่ศาลฎีกาจะไม่รับฎีกามีสูงมาก ถือว่า คดีสิ้นสุดทันที ไม่มีเวลาให้นายพานทองแท้แก้ตัวอีกศาลหนึ่งแล้ว เหมือนคดีที่ดินอัลไพน์ที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ถูกลงโทษจำคุก คดีจบที่ศาลอุทธรณ์

อัยการคงจะมองเห็นความเสี่ยงจากข้อกฎหมายนี้ เพราะไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ ยกเว้นแต่ว่า อัยการเป็นห่วงลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของนายทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร

ในอดีตเมื่อปี 2554 สำนักงานอัยการสูงสุด เคยตัดตอนช่วยแม่และลุงของนายพานทองแท้ ไม่ต้องขึ้นศาลฎีกามาแล้ว ในคดีที่คุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ถูกฟ้องข้อหาเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ลดโทษจำคุกนายบรรณพจน์เหลือ 2 ปี และให้รอลงอาญา โดยให้เหตุผลว่า เคยทำประโยชน์ให้สังคม คือ บริจาคเงินให้มูลนิธิไทยคม 1 แสนบาท

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานศาลอุทธรณ์ในขณะนั้น ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า

“ข้าพเจ้าเห็นว่า ภาษเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการหลีกเลี่ยงในคดีนี้มีจำนวนสูงถึง 273,060,000 บาท ไม่สมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1 อาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (1) จึงขอทำความเห็นแย้งว่า พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 (นายบรรณพจน์) มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ลงโทษจำคุก 2 ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 (คุณหญิงพจมาน) และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”

อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการสูงสุด สมัยที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เป็นอัยการสูงสุด ไม่ยื่นฎีกา ทำให้คดีสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์

ชาติที่แล้ว อัยการสูงสุดคงทำบุญร่วมชาติกันมากับตระกูลชินวัตร ดามาพงศ์ จึงได้เกื้อหนุน เอื้ออาทรกันในชาตินี้ จากแม่ถึงลูก จากลุงถึงหลาน “โอ๊ค”


กำลังโหลดความคิดเห็น